เมื่อวันพฤหัสบดี (16 ม.ค.) รายงานจากสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจโลก ปี 2019 มีอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี โดยลดลงเหลือร้อยละ 2.3 สืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการค้าที่ยืดเยื้อ
รายงานสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WESP) ปี 2020 ระบุว่าหากสามารถควบคุมความเสี่ยงต่างๆ ได้ มีความเป็นไปได้ว่าการเติบโตทั่วโลกในปี 2020 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 แต่ความตึงเครียดทางการค้า ภาวะปั่นป่วนทางการเงิน และความตึงเครียดด้านภูมิศาสตร์การเมือง อาจเป็นตัวขัดขวางการฟื้นตัวได้
กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยอย่างมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมเป้าหมายขจัดความยากจนและสร้างตำแหน่งงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน
ขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏอยู่อย่างแพร่หลาย กอปรกับวิกฤตสภาพอากาศย่ำแย่ อาจเร้าให้เกิดความไม่พอใจในหลายพื้นที่ของโลก
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ เตือนว่า
“ความเสี่ยงเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงและยาวนานต่อโอกาสแห่งการพัฒนา”
เมื่อวิเคราะห์รายประเทศและภูมิภาค การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย อาจเป็นการเสริมเรี่ยวแรงแก่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม สืบเนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบาย ความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่อ่อนแอ และตัวกระตุ้นการคลังที่ถดถอย ทำให้มีการคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี (GDP) ของสหรัฐฯ จะชะลอตัวจากร้อยละ 2.2 ในปี 2019 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ในปี 2020
ส่วน “สหภาพยุโรป” ภาคการผลิตจะยังถูกความไม่แน่นอนทั่วโลกสกัดกั้นการเติบโต แต่บางส่วนจะถูกชดเชยด้วยการเติบโตของการบริโภคจากภาคเอกชน ซึ่งอาจช่วยให้จีดีพีเติบโตขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 1.4 ในปี 2019 เป็นร้อยละ 1.6 ในปี 2020
แม้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกระแสลมพัดทวน แต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกยังคงเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุด ทั้งยังเป็นผู้มีส่วนสนับสนุนการเติบโตทั่วโลกรายใหญ่ที่สุดด้วย
ส่วน “จีน” มีการคาดการณ์ว่าจีดีพีจะเติบโตชะลอตัวเล็กน้อยจากร้อยละ 6.1 ในปี 2019 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.0 ในปี 2020 และจะแตะร้อยละ 5.9 ในปี 2021 โดยมีนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนปรนยิ่งขึ้นคอยสนับสนุน
ขณะที่การเติบโตของประเทศเกิดใหม่ขนาดใหญ่ อาทิ บราซิล อินเดีย เม็กซิโก รัสเซีย และตุรกี คาดว่าจะได้รับแรงผลักดันเชิงบวกบางประการในปี 2020
ที่มา : สำนักข่าวซินหัว