ข่าวสดวันนี้ งบประมาณปี2563 ฉลอง เทอดวีระพงศ์ พรรคภูมิใจไทย เลขาธิการสภา

เลขาธิการสภาฯ เผยผลสอบ รับ ส.ส.เสียบบัตรกดโหวตร่างงบประมาณฯ แทนกันจริง

หลังจากที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่า มี ส.ส.เสียบบัตรและกดโหวตลงมติแทน นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)…

Home / NEWS / เลขาธิการสภาฯ เผยผลสอบ รับ ส.ส.เสียบบัตรกดโหวตร่างงบประมาณฯ แทนกันจริง

ประเด็นน่าสนใจ

  • แต่ไม่ทราบคนลงคะแนนเป็นใคร เพราะสภาไม่มีกล้องวงจรปิด
  • เล็งส่งเรื่องให้ศาล รธน. ตีความว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 63 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
  • แต่คาดไม่กระทบเพราะเป็นเพียงเสียงเดียว
  • ขณะที่การลงโทษคงต้องหารืออีกครั้ง เพราะการเสียบบัตรโหวตแทนกันของ ส.ส. ยังไม่มีบทลงโทษชัดเจน

หลังจากที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่า มี ส.ส.เสียบบัตรและกดโหวตลงมติแทน นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 และนายชวนหลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มอบหมายให้ นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวนั้น

วันนี้ (21 ม.ค. 63) นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร เปิดเผยผลการตรวจสอบว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความจริง โดยได้เชิญเจ้าหน้าที่จากสำนักชวเลขมาตรวจสอบรายงานผลการลงคะแนน ตั้งแต่มาตรา 31 ถึงมาตรา 55 พบว่ามีชื่อของนายฉลอง ลงมติจริง

และเมื่อตรวจสอบบันทึกการเก็บรักษาบัตรพบว่าบัตรของนายฉลอง ปรากฏว่าบัตรลงคะแนนของนายฉลองถูกเบิกไปใช้จริง และนำไปใช้ลงมติวันที่ 8 -11 มกราคม โดยในวันที่ 8-10 ม.ค.นั้นไม่ได้มีการส่งบัตรคืนเจ้าหน้าที่ แต่พบอีกครั้งว่าบัตรถูกเสียบคาไว้ที่เครื่องลงคะแนนในวันที่ 11 ม.ค.

จากนั้นได้เรียกฝ่ายเทคนิคมาช่วยตรวจสอบช่องเสียบบัตรลงคะแนน แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเสียบบัตรไว้ในตำแหน่งใด เพราะกล้องของฝ่ายเทคนิคไม่ได้มีการจับภาพ ส.ส.ไว้ทุกคน และไม่มีกล้องวงจรปิดภายในห้องประชุมด้วย

จากนี้ต้องส่งศาล รธน. ตีความ ว่าร่าง พ.ร.บ.ขัดต่อรัฐธรรมหรือไม่

คณะกรรมการตรวจสอบจึงมีความเห็นว่า ข้อกล่าวหานั้นเป็นจริง ทำให้ผลการลงมติตั้งแต่มาตรา 31-55 และข้อสังเกตไม่ชอบด้วยกฏหมาย ดังนั้น กระบวนการที่จะทำให้ถูกต้องคือ ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 139 ที่ให้สมาชิกของรัฐสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือ 75 คน เสนอต่อประธานสภาฯ

ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในระหว่างที่ประธานสภาฯ ชะลอร่างกฎหมายไว้ 3 วัน เพื่อให้สมาชิกเสนอความเห็นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทั้งนี้ ข้อสังเกตของคณะกรรมการตรวจสอบยังเห็นว่า กรณีนี้ไม่ทำให้ร่างกฏหมายต้องตกไป เพราะเป็นเพียงแค่เสียงเดียว แต่คณะกรรมการก็เคารพการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทุกอย่างถูกต้องตามกระบวนการ

การลงคะแนนแทนกันของ ส.ส. ยังไม่มีบทลงโทษชัดเจน แต่อาจผิดระเบียบข้อเรื่องจริยธรรม

เรื่องนี้จะต้องหารือกับสมาชิกต่อที่ประชุมสภาในวันพรุ่งนี้ ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ส่วนจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่นั้น ต้องดูมติจากที่ประชุมในวันพรุ่งนี้อีกครั้ง ส่วนจะต้องเชิญนายฉลองมาตรวจสอบหรือไม่นั้น นายสรศักดิ์ ระบุว่าจะจัดการอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมคุยกัน ในตอนนี้เราเพียงตรวจสอบเบื้องต้น

ขณะที่นายชวน ได้กล่าวเตือน ส.ส. ด้วย ว่า สภาฯ เป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่มีหน้าที่ออกกฎหมาย ส.ส.จึงต้องเป็นตัวอย่างในการเคารพกฎระเบียบข้อบังคับ และเคารพกฎหมาย กติกาของบ้านเมือง ต้องไม่ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย

โดยหลังจากนี้ เมื่อผลการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วเสร็จ หากพบผู้กระทำผิด จะมีมาตรการลงโทษต่อไป ซึ่งปัจจุบันการกระทำดังกล่าวยังไม่มีบทลงโทษที่กำหนดไว้ชัดเจน แต่อาจจะเข้าข่ายความผิดในเรื่องของระเบียบข้อบังคับในเรื่องจริยธรรม โดยขณะนี้ระเบียบข้อบังคับเรื่องจริยธรรมยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ แต่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาภายในสัปดาห์นี้