กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ผลสอบ ONET

ผลการทดสอบระดับชาติ (ONET) กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา   นับจากประเทศไทยเราจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กว่าสิบปีที่ผ่านมา เด็กที่จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6, มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็เกี่ยวพันโดยตรงกับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ โดยใช้แบบทดสอบมาตรฐานชุดเดียวกัน…

Home / NEWS / กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ผลสอบ ONET

ผลการทดสอบระดับชาติ (ONET)

กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา

10-1

 

นับจากประเทศไทยเราจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กว่าสิบปีที่ผ่านมา เด็กที่จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6, มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็เกี่ยวพันโดยตรงกับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ โดยใช้แบบทดสอบมาตรฐานชุดเดียวกัน

คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนส่งผลโดยตรงต่อตัวผู้เรียนในการเรียนต่อ ส่งผลโดยตรงต่อสถานศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษาทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาในภาพรวมถือว่าคะแนนของเด็กไทยอยู่ในระดับไม่น่าพอใจทุกวิชา ไม่เว้นแม้แต่ภาษาไทย อันเป็นภาษาแม่ของเรา

ผลการทดสอบเหล่านี้ส่งผลกระทบหลายด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนต่างชาติลังเลในการขยายการลงทุนเนื่องจากความน่าเชื่อถือในคุณภาพแรงงาน  ด้านสังคม ทำให้นานาชาติจับตามองปัญหาความรุนแรงทางสังคมต่างๆ อันผูกโยงกับคุณภาพของพลเมือง ฯลฯ

และแน่นอนว่าในวงการศึกษาจำเป็นต้องใช้เงื่อนไขตรงนี้นำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาครั้งแล้วครั้งเล่า ท่ามกลางภาวะกดดันเรื่องงบประมาณของรัฐที่ทุ่มให้การศึกษามากที่สุดของวงเงินงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี

เกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาขั้นพื้นฐานกระนั้นหรือ บุคลากรที่ทำหน้าที่จัดการศึกษาขาดความรู้ความสามารถกระนั้นหรือ งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ ไม่เพียงพอหรืออย่างไร คงจะไม่ใช่ เพราะที่ผ่านมา 40 ปีกว่า เราผ่านการเปลี่ยนแปลงตัวหลักสูตรการศึกษาทุก 10 ปี

จาก พ.ศ. 2521 มาปรับปรุง พ.ศ.2533 มาปรับใหญ่ พ.ศ. 2544 มาปรับอีก พ.ศ. 2551 และกำลังปรับปรุงล่าสุด พ.ศ.2557 เราผ่านการเปลี่ยนแปลงตัวโครงสร้างการบริหารใหญ่ๆ มา 3 ครั้ง จากองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาสู่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) มาสู่ยุคสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

ส่วนระบบการทำงาน เราได้มีการพัฒนาปรับปรุงให้ทันยุคทันสมัย เปลี่ยนความรู้ตรงนั้นใส่ความคิดตรงนี้ เรื่อยมานับไม่ถ้วน แต่ผลสุดท้ายคำตอบอยู่ที่ปลายน้ำคือคุณภาพหรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

ก่อนที่จะเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาไปพร้อมกับสนช. คสช. คราวนี้ เห็นทีจะต้องทบทวนหลักคิดที่นำมาใช้เป็นประการแรก ผู้เขียนประทับใจหลักคิดของนักวิชาการท่านหนึ่งว่า การแก้ปัญหาใดๆ ให้ได้ผลยั่งยืน จะต้องแก้ให้ครบ 3 องค์ประกอบ ได้แก่

1) Hardware หมายถึง วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือในการทำงาน

2) Software หมายถึง ระบบ ระเบียบ วิธีปฏิบัติ หรือขั้นตอนการทำงาน

3)  Peopleware  หมายถึง การพัฒนาบุคลากร

ต้องควบคู่กันไปทั้ง 3 ส่วน หากมุ่งเป้าไปที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ละเลยส่วนอื่นๆ ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ครบถ้วน เช่น ถ้ามุ่งไปที่การจัดสรรวัสดุอุปกรณ์  เครื่องมือปฏิบัติงาน เพียงประการเดียวเหมือนที่ผ่านมา เช่น ปี 2540 ได้ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา และห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ แต่ขาดการพัฒนาอีก 2 ส่วน ท้ายที่สุดก็กลายเป็นสุสานร้าง

ดังนั้น การปฏิรูปประเทศไทยคราวนี้ น่าจะเป็นโอกาสสุดท้ายแล้ว ตั้งหลักให้ดีๆ ยึดทฤษฎีการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไว้  อย่าให้กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ครั้งแล้วครั้งเล่า

ดร.รัชศักดิ์ แก้วมาลา

ขอขอบคุณนสพ.บางกอกทูเดย์

MThai News