ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

นักวิจัยจีนคาดว่า เชื้อ ‘โคโรนาสายพันธุ์ใหม่’ มาจาก‘ค้างคาว’

นักวิจัยจีนได้ระบุโปรตีนตัวสำคัญที่เป็นปัจจัยในการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) ในมนุษย์ นับว่าเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชน พวกเขาเสนอข้อสันนิษฐานว่า แหล่งเพาะพันธุ์ไวรัสตามธรรมชาติน่าจะเป็นค้างคาว แม้จะมีการเผยแพร่ลำดับเบสจีโนมเต็มรูปแบบออกมาแล้ว แต่กลไกการกำเนิดและส่งผ่านเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) ที่ระบุไว้โดยองค์การอนามัยโลกยังคงไม่ชัดเจน และจนถึงขณะนี้ มีการเผยแพร่จีโนมของ 2019-nCoV ทั้ง 6…

Home / NEWS / นักวิจัยจีนคาดว่า เชื้อ ‘โคโรนาสายพันธุ์ใหม่’ มาจาก‘ค้างคาว’

นักวิจัยจีนได้ระบุโปรตีนตัวสำคัญที่เป็นปัจจัยในการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) ในมนุษย์ นับว่าเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชน

พวกเขาเสนอข้อสันนิษฐานว่า แหล่งเพาะพันธุ์ไวรัสตามธรรมชาติน่าจะเป็นค้างคาว

แม้จะมีการเผยแพร่ลำดับเบสจีโนมเต็มรูปแบบออกมาแล้ว แต่กลไกการกำเนิดและส่งผ่านเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) ที่ระบุไว้โดยองค์การอนามัยโลกยังคงไม่ชัดเจน และจนถึงขณะนี้ มีการเผยแพร่จีโนมของ 2019-nCoV ทั้ง 6 ชุดแล้ว

ในการศึกษาโดยวารสารวิชาการไซเอนส์ ไชน่า ไลฟ์ ไซเอนส์ (Science China Life Sciences) ที่ตีพิมพ์ทางออนไลน์ เมื่อวันอังคาร (21 ม.ค.) นักวิจัยจากสถาบันปาสเตอร์ (Institut Pasteur) แห่งเซี่ยงไฮ้ ภายใต้สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) และสถาบันวิจัยจีนอื่นๆ ได้นำลำดับเบสจีโนมของ 2019-nCoV มาเปรียบเทียบกับจีโนมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่นที่มีการติดเชื้อในมนุษย์ ซึ่งรู้จักในชื่อ ซาร์ส (SARS-CoV) และเมอร์ส (MERS-CoV) แล้วพบว่าเชื้อไวรัส 2019-nCoV คล้ายคลึงกับ “ซาร์ส” ประมาณร้อยละ 70 และคล้ายคลึงกับ “เมอร์ส” ประมาณร้อยละ 40

ผลวิเคราะห์เผยว่า 2019-nCoV อยู่ในกลุ่มเบตาโคโรนาไวรัส (Betacoronavirus) ซึ่งเป็นชนิดอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว ไม่มีเยื่อหุ้มเซลล์ (enveloped, single-stranded RNA viruses) ซึ่งจะแพร่อยู่ในสัตว์ป่า สัตว์ฝูง และมนุษย์ ทำให้เกิดการระบาดและติดเชื้อเป็นครั้งคราวโดยไม่มีอาการที่ชัดเจน

ในแผมภูมิต้นไม้วิวัฒนาการ เชื้อไวรัส 2019-nCoV มีลักษณะพันธุกรรมค่อนข้างใกล้เคียงกับกลุ่มโรคซาร์ส และเชื้อไวรัสโคโรนาที่มีลักษณะคล้ายซาร์ส รวมถึงไวรัสโคโรนา HKU9-1 ที่พบในค้างคาวซึ่งอยู่นอกกลุ่ม

มีโอกาสเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสโคโรนาเหล่านี้จะมีสายพันธุ์ร่วมกันกับไวรัสโคโรนา HKU9-1 ในค้างคาว

ค้างคาวเป็นโฮสต์ต้นกำเนิดของ 2019-nCoV “นี่คือเหตุผลเชิงตรรกะที่ไม่ซับซ้อน แม้ยังดูเหมือนว่าจะมีโฮสต์ตัวกลางอื่นๆ อีกในลำดับการส่งผ่านจากค้างคาวสู่มนุษย์” นักวิจัยกล่าว

พวกเขาสังเกตว่าลักษณะพันธุกรรมของ 2019-nCoV กับเชื้อไวรัสซาร์สในมนุษย์นั้นยังมีระยะห่างทางพันธุกรรมค่อนข้างมาก และห่างมากขึ้นเมื่อเทียบกับเชื้อไวรัสเมอร์ส

การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมทำให้เกิดคำถามต่ออีกข้อหนึ่งว่า เชื้อไวรัส 2019-nCoV มีกลไกในการส่งผ่านข้ามสายพันธุ์และส่งผ่านสู่มนุษย์แบบเดียวกับซาร์สหรือเมอร์สหรือไม่ หรือว่ามีกลไกเป็นของตัวเอง?

สำหรับโรคซาร์ส สไปค์โปรตีน (S- protein) เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ไวรัสแฝงไปกับตัวรับในเซลล์ของโฮสต์ เมื่อนักวิจัยประเมินความสามารถการทำปฏิกิริยากับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ ของสไปค์โปรตีนในเชื้อ 2019-nCoV พบว่าแม้การเกาะเกี่ยวระหว่าง 2019-nCoV กับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์จะไม่แข็งแรงเท่าเชื้อไวรัสซาร์ส แต่ก็ยังถือว่าแข็งแกร่ง

พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่าสไปค์โปรตีนของ 2019-nCoV เอื้อต่อการทำปฏิกิริยาที่รุนแรงกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงติดเชื้อในหมู่สาธารณชนอย่างมีนัยสำคัญ

วันพฤหัสบดี (23 ม.ค.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจีนประกาศ ว่ามีผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) อยู่ที่ 571 ราย กระจายตัวอยู่ในภูมิภาคระดับมณฑล 25 แห่ง เมื่อนับถึงสิ้นวันพุธที่ผ่านมา (22 ม.ค.) มีผู้เสียชีวิต 17 ราย ในมณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน

ส่วนสถานการณ์นอกจีนแผ่นดินใหญ่ มีการยืนยันผู้ติดเชื้อในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง มาเก๊า เกาะไต้หวันของจีน รวมถึงในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้แห่งละ 1 ราย และอีก 3 รายในไทย

มีการเฝ้าระวังการติดเชื้อของผู้ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อข้างต้น จำนวน 5,897 ราย ซึ่งมี 4,928 ราย อยู่ระหว่างการตรวจสอบทางการแพทย์ ขณะที่ 969 ราย ผ่านการตรวจสอบและได้รับการปล่อยตัวแล้ว

แผนการป้องกันและควบคุมโรคของคณะกรรมการฯ ชี้ว่าตามข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ระยะการฟักตัวของเชื้อไวรัสฯ ตั้งแต่เริ่มติดเชื้อไปจนถึงขั้นแสดงอาการจะใช้เวลาประมาณ 14 วัน