สรุปปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้ง 2562 ในรอบครึ่งวันที่ผ่านมา พบฉีกบัตร 5 แห่ง ถ่ายบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนเสียงแล้ว 2 ราย
หลังจากได้มีการเปิดหีบเลือกตั้ง 2562 ไปตั้งแต่ช่วงเวลา 08.00 น. จนถึงขณะนี้ก็ผ่านไปแล้วกว่า 6 ชั่วโมง ทำให้มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จนมีผู้ร้องเรียนแล้วจำนวนมาก ทาง MThai จึงขอรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นในรอบเช้า หลังจากเปิดหีบ ดังนี้
1. ฉีกบัตรเลือกตั้ง
เหตุการณ์ฉีกบัตรเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นแล้วจำนวน 4 ราย โดยรายแรกเกิดที่ขึ้นที่ จ.ลำพูน โดยผู้ก่อเหตุอ้างว่ามองตัวเลขไม่ชัดจึงเกิดความหงุดหงิดก่อนจะก่อเหตุดังกล่าว ส่วนรายที่สองเกิดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อคุณตาวัย 79 ปี ฉีกบัตรเลือกตั้ง หลังเข้าใจผิดว่า ให้ฉีกบัตรออกจากกัน ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบสติไม่สมประกอบ เนื่องจากเคยประสบอุบัติเหตุมาก่อน
รายที่สามเกิดขึ้นที่ จ.อยุธยา หลังมีคุณตาวัย 72 ปีรายหนึ่งที่ป่วยซึมเศร้า ฉีกบัตรเลือกตั้งเข้าใจผิดคิดว่าเอากลับบ้านได้ ทางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง พยายามจะเข้าไปอธิบายและชี้แจงแนะนำแต่ไม่ทัน ทั้งนี้ที่ผ่านมาเคยใช้สิทธิ์เลือกตั้งมาทุก ครั้งไม่มีพฤติกรรมการทำลายบัตรแต่อย่างใด
รายที่ 4 เกิดขึ้นที่ จ.สมุทรสงคราม เป็นชายวัย 52 ปี ที่เมาสุรามาตั้งแต่ช่วงเย็นของวันนี้ ตอนเช้าจึงเดินทางมาใช้สิทธิ์แต่ในจังหวะที่กำลังคลี่บัตรออกบัตรเกิดขาด โดยไม่มีเจตนาจะฉีกบัตรเพียงแค่มือสั่นเท่านั้น ส่วนรายที่ 5 ชายอายุ 58 ปี มีอาการเมาไปเลือกตั้งเช่นกัน โดยเขาอ้างว่า เข้าไปในคูหาแล้วกากะบาดผิดช่อง จึงได้ขยำบัตรลงคะแนนทิ้ง บังเอิญเจ้าหน้าที่เห็นจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจับกุมดำเนินคดีดังกล่าว
2.ถ่ายบัตรเลือกตั้ง มาโพสต์ในโซเชียล 2 ราย
แม้ว่าทาง กตต. จะออกประกาศพร้อมเตือนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อย่าถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนเสียงแล้วมาเผยแพร่ต่อ แต่กระนั้นก็ยังมีคนฝ่าฝืนอยู่ เพราะล่าสุดมีการตรวจพบว่ามี 2 รายที่กระทำการดังกล่าว โดยทั้ง 2 รายเป็นได้ถ่ายรูปขณะที่อยู่ในคูหาและเผยให้เห็นภาพของบัตรลงคะแนนมีการให้พรรคๆ การเมืองด้วย สำหรับการกระทำดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมายเลือกตั้ง ว่าด้วยบัตรเลือกตั้ง มีโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. จนท.ประจำหน่วย ไม่ให้ใช้ปากกาที่ผู้มีสิทธิเตรียมไป
โดยการถูกห้ามไม่ให้ใช้ปากกาที่เตรียมไป ใช้กากบาทในบัตรเลือกตั้งครั้งนี้ ถูกเปิดเผยจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ @Supergi20117768 ที่ระบุว่า ที่เขตเราไปเลือกมะกี้ เอาปากกาไปเอง จนท.บอกห้ามใช้ปากกาตัวเอง ให้เอาปากกาวางไว้ข้างนอก
ทั้งนี้ในเรื่องที่เกิดขึ้นทาง กกต. ได้ออกมาระบุก่อนหน้านี้แล้วว่าประชาชนสามารถเตรียมปากกาไปจากที่บ้านได้ แต่ปากกานั้นต้องเป็นสีน้ำเงินหรือน้ำเงินเท่านั้น และสามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งในกรณีนี้คาดว่า น่าจะมีความเข้าใจผิดกันระหว่างเจ้าหน้าที่ส่วนกลางและเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกัน
ที่เขตเราไปเลือกมะกี้ เอาปากกาไปเอง จนท.บอกห้ามใช้ปากกาตัวเอง ให้เอาปากกาวางไว้ข้างนอก
— ชอบซื้อคสอ.แต่แต่งหน้าไม่เป็น (@Supergi20117768) March 24, 2019
4. จนท.ประจำหน่วย กากบาทแทนผู้สูงอายุ หลังพาพยุงเข้าไปในคูหน้า
เรื่องนี้ ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ @ClaaSun ได้มีการโพสต์ข้อความพร้อมตั้งข้อสงสัย หลังจากที่เขาพาคุณยายไปเลือกตั้ง แต่กลับพบว่าออกมาเร็วมาก พอเข้าไปสอบถามจึงได้ความว่า เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งที่ช่วยพยุงเข้าไปในคูหาเป็นคนกาให้เอง จึงเกิดข้อสงสัยว่าทำแบบนี้ได้หรือไม่ สำหรับเรื่องนี้หากผู้มีสิทธิไหว้วานให้เจ้าหน้าที่กากบาทให้ตามที่เขาต้องการก็ถือว่าไม่ผิด แต่ถ้าหากเจ้าหน้าที่ถือวิสาสะกาเองโดยไม่สอบถามก็ถือว่าผิดกฎหมายชัดเจน
พายายไปเลือกตั้งตะกี้ ละแอบแกล้งถามว่า เป็นไง กาถูกไหม กาเบอร์ไหน ละยายบอกว่ายังไม่ได้กาเลย จนท.ที่เดินจูงยายเข้าไปในคูหาเป็นคนกาเอง อ่าวงงเลย มีแบบนี้ด้วยหรอ 🙄😓 #เลือกตั้ง2562
— ฟล็อคเฟอร์ ٭ ™. (@ClaaSun) March 24, 2019
5. เจ้าหน้าที่ประจำหน่วย ไม่ให้ผู้พิการนอนเปล เข้าคูหาเลือกตั้ง
ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @BBear_KK ได้มีการโพสต์ข้อความร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งไม่อนุญาตให้ผู้พิการนอนเปล เข้าคูหาเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง แถมปฏิเสธไม่ให้ญาติของผู้ป่วยเลือกแทน แม้ว่าตามกฎหมายระบุชัดว่า ญาติสามารถลงคะแนนเสียงให้กันได้ ทั้งนี้ในระเบียบ กกต. ได้มีการระบุเรื่องการอำนวยความสะดวกของผู้พิการ ไว้ดังนี้ คือ
กกต. ประจำหน่วยเลือกตั้งจะต้องจัดให้มีการช่วยเหลือลงคะแนนให้คนแก่และคนพิการให้พวกเขาได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเอง และในกรณีที่ไม่สามารถ “กากบาท’ ลงในบัตรเลือกตั้งได้ ก็สามารถให้ญาติ บุคคลที่ไว้วางใจ หรือ กกต.ประจำหน่วยเลือกตั้งทำแทนให้ได้ ด้วยความยินยอมและตามเจตนาของผู้ใช้สิทธิ
ซึ่งในกรณีของผู้พิการ ทุพลภาพนั้น ตามระเบียบการเลือกตั้งในปีนี้ ได้มีระบุให้กรรมการประจำหน่วยสามารถให้การช่วยเหลือในการกาบัตรแทน หรือให้ญาติเป็นผู้ดำเนินการแทนได้ โดยไม่ถือว่าเป็นบัตรเสีย
ให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือให้ญาติหรือบุคคล ที่ไว้วางใจเป็นผู้ทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งแทนโดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ หากลักษณะทางกายภาพทำให้คนพิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุ ไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้