การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เกร็ดความรู้

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ คืออะไร? สำคัญไฉน

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ คืออะไร ? สำคัญไฉน ประชาชนอย่างเรา ๆ ควรต้องรู้หรือไม่ ? อ่านเกร็ดความรู้ได้ในบทความนี้ ความหมายของ การอภิปราย อภิปราย คือ การกล่าวถ้อยคำในเชิงแสดงความคิดเห็นและปรึกษาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา โดยมีข้อบังคับการประชุมสภาเป็นกรอบกติกาบังคับการอภิปราย…

Home / NEWS / การอภิปรายไม่ไว้วางใจ คืออะไร? สำคัญไฉน

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ คืออะไร ? สำคัญไฉน ประชาชนอย่างเรา ๆ ควรต้องรู้หรือไม่ ? อ่านเกร็ดความรู้ได้ในบทความนี้

ความหมายของ การอภิปราย

อภิปราย คือ การกล่าวถ้อยคำในเชิงแสดงความคิดเห็นและปรึกษาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา โดยมีข้อบังคับการประชุมสภาเป็นกรอบกติกาบังคับการอภิปราย และมีประธานในที่ประชุมสภาเป็นผู้ควบคุมดูแลให้การอภิปรายเป็นไปโดยเรียบร้อย

ตามปกติเมื่อเสร็จสิ้นการอภิปรายหรือที่เรียกว่าการปิดอภิปรายแล้ว จะมีการลงมติอย่างใดอย่างหนึ่งสุดแล้วแต่จะได้ระบุไว้ในญัตติที่เสนอต่อสภา เพื่อผลการอภิปรายเกิดขึ้น เช่น ลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี เป็นต้น

การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือ ญัตติไม่ไว้วางใจ (motion of no-confidence) หรือที่ทุกคนมักนิยมเรียกว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หมายถึง การอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยส่วนมากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นฝ่ายค้าน จะทำการขอเปิดอภิปราย ซึ่งจะกระทำเมื่อเห็นว่าการทำงานของรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีไม่เป็นที่พอใจ หรือมีข้อสงสัย ไม่ควรแก่การไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

ทั้งนี้การขอเปิดอภิปรายทั่วไปจะต้องเสนอเป็นญัตติ ซึ่งหมายถึง ข้อเสนอใดๆ ที่มีความมุ่งหมายเพื่อให้สภาลงมติหรือวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะให้ปฏิบัติอย่างไร ญัตติจึงเปรียบเสมือนกลไกอย่างหนึ่งในการดำเนินงานของรัฐสภา เนื่องจากญัตติทุกเรื่องย่อมมีจุดมุ่งหมายอยู่ในตัว อันทำให้รู้ถึงประโยชน์หรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย

หลักเกณฑ์ในการยื่นญัตติเพื่อขอเปิดอภิปราย

1. ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ

กระทำได้โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ญัตติดังกล่าวต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปด้วย และเมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่มีการถอนญัตติ หรือมติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

2. ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

กระทำได้โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 6 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวมทั้งยังสามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่ย้ายไปเป็นรัฐมนตรีตำแหน่งอื่นได้ด้วย

นอกจากหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ยังได้เพิ่มหลักเกณฑ์ใหม่เข้ามา คือ ให้สิทธิสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลได้แม้จะมีจำนวนสมาชิกไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กำหนดก็ตาม โดยสามารถเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายได้ต่อเมื่อ

  1. คณะรัฐมนตรีได้บริหารราชการแผ่นดินเกินกว่า 2 ปีแล้ว
  2. มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองที่ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล (ฝ่ายค้าน) เข้าชื่อเสนอญัตติมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองที่ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล (ฝ่ายค้าน) ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

บัญญัติการลงมติ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นต้นมา ได้มีการบัญญัติวิธีการตรวจสอบเมื่อการอภิปรายทั่วไปสิ้นสุดลงให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ

  • การลงมติมิให้กระทำในวันเดียวกับวันที่การอภิปรายสิ้นสุดลงและมติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
  • ในกรณีที่มติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายนั้น เป็นอันหมดสิทธิที่จะเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีอีกตลอดสมัยประชุมนั้น
  • ในกรณีที่มติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ดีอย่างไร?

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ถือเป็นมาตรการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินวิธีหนึ่ง และเป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลนอกเหนือจากวิธีการอื่น เป็นมาตรการที่สำคัญและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นวิธีที่เห็นผลชัดเจนที่สุด มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลมากที่สุด และยังเป็นการคานอำนาจของฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติที่ชัดเจนและได้ผลดีที่สุด

และอาจส่งผลให้รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งได้ ซึ่งนับเป็นหลักการสำคัญอีกประการหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ให้มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใช้อำนาจเกินขอบเขต จนอาจทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

เนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นไปตามหลักการที่ว่า “ฝ่ายบริหารจะอยู่ได้ก็โดยความไว้วางใจของฝ่ายนิติบัญญัติ” ดังนั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐสภาเห็นว่ารัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีไม่ควรแก่การไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ซึ่งอาจเกิดจากการตัดสินใจผิดพลาด การใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ เป็นต้น

สำคัญกับประชาชนอย่างไร?

เรื่องการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัวประชาชน เกี่ยวข้องกับประชาชนตั้งแต่เกิดออกมาลืมตาดูโลก ประชาชนทุกคนต้องเสียเงินภาษีให้กับรัฐจากหยาดเหงื่อแรงงาน ดังนั้นแล้วในการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยนี้ประชาชนจึงมีสิทธิเสรีภาพในด้านต่าง ๆ

เช่น สิทธิในการได้รับการคุ้มครองจากรัฐ รัฐควรมีการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณให้มีความเจริญพัฒนาได้อย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ เช่น ด้านสาธารณูปโภค, รถโดยสาร, ด้านการสาธารณสุข, ค่าจ้างแรงงาน, สิทธิในการได้รับความยุติธรรมตามกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

หากเกิดการทำงานของรัฐบาลที่ไม่โปร่งใสหรือมีข้อน่าสงสัย ซึ่งอาจจะส่งกระทบให้ประชาชนเดือดร้อนได้นั้น เมื่อเกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลขึ้น ประชาชนจึงควรติดตามข่าวสารอัปเดตสถานการณ์ดังกล่าว

อ้างอิงข้อมูลจาก : สถาบันพระปกเกล้า