“โฆษณาแฝง” กลยุทธ์เข้าถึงผู้บริโภคอย่างเนียน?!
อะไรคือโฆษณา โฆษณาแฝงคืออะไร หลายคนอาจจะเกิดคำถามเช่นนี้ในใจ แต่ก็ผ่านมันไปเพราะคิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบอันใดต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ แต่ขอบอก…
“โฆษณาแฝง” แม้จะไม่ส่งผลกระทบด้านลบ แต่กลับ ทรงอิทธิพลเหลือหลาย
เนื่องเพราะ “โฆษณาแฝง” เป็นอีกหนึ่งกลยุทธในการทำธุรกิจ อีกหนึ่งกลยุทธในการเพิ่มช่องทางการตลาดเพื่อให้ผู้บริโภค “จดจำ” ชื่อแบรนด์ “จดจำ” ชื่อสินค้านั้นๆได้อย่างมิลืมเลือน
เมื่อผู้บริโภค จดจำ ขึ้นใจ สินค้านั้นๆก็จะกลายเป็นสินค้าอันดับต้นๆที่ผู้บริโภคเรียกขาน ใช้สอย ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเปิดดูโทรทัศน์ช่องใด รายการไหน ก็มักจะเห็น “โฆษณาแฝง” ปรากฏ
ยิ่งรายการใดมีประชาชนคนดูมาก “โฆษณาแฝง” ก็จะดาหน้าเข้ามาให้เห็นเป็นตับอยู่หน้าจอทีวี โดยเฉพาะรายการข่าวและเกมส์โชว์ ถือว่าเป็นรายการยอดนิยมที่มีจำนวนประชาชนคนดูสูงมาก สินค้าหลากหลายก็จะแฝงเข้ามาเป็นไม้ประดับประกอบฉาก ถูกจัดวาง เข้าล็อค เข้ามุม ทำเนียน เป็นฉากในรายการนั้นๆ
ประชาชนคนดู อาจจะไม่รู้ว่านั่นคือ “โฆษณาแฝง” ที่ถูกพลิกแพลง ปรุงแต่ง ให้กลืนไปเป็นเนื้อเดียวกับรายการนั้นๆ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ได้อธิบายคำว่า “โฆษณาแฝง” หมายถึง การปรากฏของผลิตภัณฑ์ หรือตราสินค้าและบริการ เข้าไปในส่วนที่เป็นเนื้อหารายการ ไม่ว่าจะเป็นรายการข่าว ละคร สารคดี เพลง เกมโชว์ เรียลลิตี้ ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นความตั้งใจของผู้ผลิตรายการและเจ้าของของสินค้า โดยอยู่ในรูปแบบได้ทั้งการตกลงเพื่อส่งเสริมการขาย หรือการจ่ายเงิน ผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ เพื่อผลทางธุรกิจ
ทั้งนี้ “โฆษณาแฝง” จึงเป็นวิธีการหนึ่งในการส่งข้อมูลสู่ผู้บริโภคผ่านสื่อต่างๆ อย่างแนบเนียน เป้าหมายต่ำสุดคือให้ผู้บริโภค “มองเห็นสินค้า”
“โฆษณาแฝง” เกิดจากค่าใช้จ่ายในการโฆษณา (ทางตรง) สูง มีผูกขาดเวลาโฆษณาไปหมดแล้ว ดังนั้น ผู้ผลิตรายการจึงใช้ “โฆษณาแฝง” เป็นการเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับเจ้าของสินค้า และเพิ่มรายได้ให้กับตนเองหรือสถานี ซึ่งเม็ดเงินจากโฆษณาแฝงส่วนใหญ่ไม่ถูกตรวจสอบ
“โฆษณาแฝง” แตกต่างจากโฆษณาที่การโฆษณา (ทางตรง) ขายสินค้า หรือบริการกันอย่างโจ่งแจ้ง ผู้บริโภคมักจะรู้ตัว และหลีกเลี่ยงที่จะรับชม รับฟังได้
และบางครั้ง เราอาจไม่ได้รับรู้ถึงเจตนาดังกล่าวของการเห็นหรือได้ยินเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่แฝงไว้ในเนื้อหารายการได้ จึงหมายความว่า ความไม่รู้ทำให้เราไม่ทันระวังตัว
ล่าสุด กสทช. ยังพบว่า มีผู้บริโภคร้องเรียนว่ามีการโฆษณาดังกล่าวที่นานเกินไป ดังนั้นจึงต้องจัดระเบียบ “โฆษณาแฝง” ในรายการต่างๆ ที่เน้นให้เห็นตัวผลิตภัณฑ์ รวมทั้งโฆษณาแนะนำรายการข่าวสาร องค์กรภาพลักษณ์ที่มีการแจ้งรายนามผู้สนับสนุนในรายการ ให้นับเป็นช่วงเวลาโฆษณา
เม.ษ.- พ.ค. นี้แนวความคิดดังกล่าวจะออกมาเป็นรูป เป็นร่าง เพื่อเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น กว่าจะ สเด็ดน้ำ และสามารถประกาศใช้ก็น่าจะอยู่ประมาณปลายปี 2558
สิ่งที่จะต้องจับตากันต่อไปคือ สินค้าต่างๆจะผุดไอเดีย “เลี่ยงบาลี” กันอย่างไร
จันดารา รายงาน
MThai News