“ถวิล เปลี่ยนศรี” ให้ถ้อยคำ ป.ป.ช.ฐานะพยาน “มาร์ค-พระสุเทพ” ยัน ไม่มีการสั่งสลายการชุมนุม แค่กระชับพื้นที่
วันที่ 28 เม.ย.58 นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้าให้ถ้อยคำต่อ องค์คณะไต่สวน ป.ป.ช. ในฐานะพยานของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีถูกกล่าวหาสั่งการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553
พร้ัอมเปิดเผย ก่อนเข้าให้ถ้อยคำว่า ป.ป.ช. จะชี้แจงถึงการควบคุมสถานการณ์ในขณะนั้น เพราะมีการกล่าวหาว่ามีการใช้กำลังจนทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต โดยจะให้เหตุผลว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง พร้อมกับมีกลุ่มที่ใช้อาวุธ หรือกลุ่มชายชุดดำใช้อาวุธกระทำต่อสถานที่ และเจ้าหน้าที่ในหลายเหตุการณ์
ซึ่งเรื่องของการสลายการชุมนุมนั้น ไม่เคยมีการสั่งสลายการชุมนุมในช่วงเหตุการณ์ชุมนุม เม.ย.-พ.ย.53 และเหตุวุ่นวายในปี 52 เพราะไม่มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต
ส่วนในปี 53 ช่วงเดือน มี.ค. 53 จนถึงวันที่ 19 พ.ค. 53 ก็ไม่มีการใช้กำลังเข้าไปสลายการชุมนุม ซึ่งเหตุการณ์ที่ถูกผู้ชุมนุมเรียกว่าเป็นการสลายการชุมนุมมี 2 เหตุการณ์
คือเหตุการณ์ในวันที่ 10 เม.ย. 53 บริเวณแยกคอกวัว ซึ่งเป็นการขอคืนพื้นที่ ส่วนอีกเหตุการณ์ช่วงวันที่ 11-19 พ.ค. ไม่ได้เป็นการสลายชุมนุม แค่กระชับวงล้อม จากนั้นแกนนำประกาศยุติการชุมนุมเอง รวมถึงเหตุจลาจลในกรุงเทพรวม 37 จุด ก็ไม่มีการสลายการชุมนุม
ส่วนที่มีการระบุว่า พบการใช้กระสุนจริงในพื้นที่แยกราชประสงค์ หลังจากการชุมนุมยุติลง ในวันที่ 20 พ.ค.53 ตรวจสอบพื้นที่ชุมนุม พบอาวุธในพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ สวนลุมพินี รวมทั้งในวัดปทุมวนาราม เป็นอาวุธสงคราม M79 ลูกระเบิดเพลิง ระเบิดขว้า
และอาวุธที่พบจะเป็นของเจาหน้าที่หรือไม่ ไม่แน่ใจ เพราะก่อนหน้านั้น ได้รับการกำชับว่าให้เจ้าหน้าที่ใช้กระบองและโล่ ห้ามใช้อาวุธกับผู้ชุมนุมเป็นอันขาด กระทั่งวันที่ 10 เม.ย. มีความสูญเสียเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ทหาร อาทิ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และยังมีประชาชนสูญเสียรวม 26 คน
จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงรู้ว่ามีการใช้อาวุธจากผู้ชุมนุม และในวันดังกล่าวก็เป็นครั้งแรกที่มีการปรากฏตัวของชายชุดดำ จนมีการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธซึ่งก็ต้องใช้ให้เป็นไปตามกฎ 7 ขั้นตอน
ส่วนกรณีที่ศาลอาญา เคยมีคำวินิจฉัยสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมเกิดจากการใช้อาวุธนั้น เป็นเรื่องการพิสูจน์การตาย ซึ่งมีหลายกรณี และในกรณีดังกล่าวศาลอาญาก็ได้ยกฟ้องไปแล้ว โดยระบุว่าเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ในการวินิจฉัยต่อไป
ขอบคุณข้อมูล มติชน
MThai News