สังคมที่แข็งแกร่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากมีผู้คนกลุ่มใดที่ไม่ได้รับความเท่าเทียมและไม่อาจใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข การปฎิรูปด้านสังคมจึงได้รวมอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฎิรูป ลูกจ้างจะต้องได้รับจ้างอย่างเป็นธรรม มีหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิการในการทำงานที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อเป็นหลักประกันในชีวิต
และเพื่อให้เสียงของผู้ใช้แรงงานได้รับการรับฟังมากขึ้น จึงให้มีการตรากฏหมายเพื่อที่จะรองรับอิสรภาพของผู้ใช้แรงงานในการรวมตัวกัน และการร่วมกันเจรจาต่อรอง
ทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มสิทธิและอำนาจทางสังคมให้แก่ผู้ใช้แรงงาน และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน สร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น
นี่เป็นเนื้อหาบางส่วนที่ปรากฏอยู่ในเพจ รัฐธรรมนูญของฉัน ได้บอกเล่าถึง สาระสำคัญ รวมทั้ง เจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ซึ่งเชื่อว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องราวดังกล่าวอย่างถ้องแท้ ดังนั้นจึงถือว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนคนไทยต้องศึกษารายละเอียดต่างๆที่ปรากฎ
สำหรับ ประเด็นสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับผู้ใช้แรงงาน ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปฏิรูป ได้ระบุเนื้อหา โดย มีบทบัญญัติที่รับรองสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุน คุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้ดีขึ้นอยู่หลายประการ ตัวอย่างเช่น
๑. บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้แรงงาน (ม.๕๔ ,๕๖ ,๕๗)
– มีบทบัญญัติรับรองให้ผู้ใช้แรงงานสามารถรวมตัว เป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่นๆ ทำให้ผู้ใช้แรงงานสามารถรวมตัวกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือทำข้อเรียกร้องได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
– มีบทบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานในการเลือกประกอบอาชีพ ทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รับการรับรองสิทธิมิให้ต้องถูกบังคับให้ทำงานที่ตนไม่ประสงค์จะทำได้
– มีบทบัญญัติรับรองว่าผู้ใช้แรงงานจะไม่ถูกเกณฑ์แรงงาน คือถูกบังคับโดยรัฐให้ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง เว้นแต่การเกณฑ์แรงงานเพื่อป้องกันภัยพิบัติสาธารณะเท่านั้น
– กำหนดบทบัญญัติรับรองให้ผู้ใช้แรงงานต้องได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม และต้องมีหลักประกันเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน ตลอดจนมีการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมด้วย
๒. การปฏิรูปการแรงงาน (ม.๒๘๙)
– มีบทบัญญัติบังคับให้รัฐต้องออกกฎหมายและกำหนดกลไกเพื่อรองรับเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานในการสมาคม การรวมตัวกัน และการร่วมเจรจาต่อรองให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
– มีบทบัญญัติสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อเป็นกองทุนการเงินของผู้ใช้แรงงานในการส่งเสริมการออมและพัฒนาตนเอง อันจะนำ ไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
รายละเอียดบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูปนี้ ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๔ ,๕๖ ,๕๗ ,๒๘๙
สรุปได้ว่า สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงาน คือการสนับสนุนให้แรงงานรู้จักการออม ด้วยการจัดตั้ง “ธนาคารแรงงาน” เพื่อเป็นกองทุนการเงินของผู้ใช้นั่นเอง
ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูปนี้ จึงเป็นความหวังสำหรับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคน
ข้อมูลจาก: รัฐธรรมนูญของฉัน
MThai News