เทียบสถิติเลือกตั้ง
แม้ขณะนี้ยังไม่ได้ผลสรุปผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งในครั้งนี้นับว่า เป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากประเทศไทยห่างการเลือกตั้งมาแล้วราว 5 ปี หลายคนออกมาพูดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา มีจำนวนบัตรเสียมากจนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
วันนี้ MThai รวบรวมสถิติผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวนบัตรเสีย และจำนวนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน ตั้งแต่ครั้งล่าสุดคือ วันที่ 24 มีนาคม 2562 (ยังไม่ใช่ตัวเลขอย่างเป็นทางการ) , เลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 , เลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 , เลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548 มาเทียบกันแบบชัด ๆ ว่า ปีไหนคนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด และการเกิดบัตรเสีย หรือโหวตโนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้มีมากกว่าการเลือกตั้งปีก่อนๆ อย่างที่ทุกคนคิดหรือไม่
เลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562
การเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นการเลือกตั้งขณะที่ยังมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำรงตำแหน่งอยู่ และถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวของพรรคพลังประชารัฐ
การเลือกตั้งในครั้งนี้มีจำนวนเขต 350 เขตเลือกตั้ง และมี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน โดยทางคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศผู้ชนะการเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้งทั้ง 350 เขตแล้ว แต่ในส่วนของ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่ออีก 150 คนยังไม่ได้ข้อสรุป
สติเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562
จำนวนราษฏร 66,188,503 คน
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในปีนี้มีจำนวนประมาณ 51,239,639 คน
จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 38,268,375 คน (74.69 %)
บัตรที่ใช้ไป 38,268,366 (100 %)
- บัตรดี 35,532,645 บัตร (92.85%)
- จำนวนบัตรเสีย 2,130,327 บัตร (5.57%)
- จำนวนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 605,392 บัตร (1.58%)
*** บัตรเขย่ง 9 ใบ
กกต. ได้แถลงผลคะแนนการเลือกตั้ง 100% ซึ่งมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่ตรงกับยอดบัตรที่ใช้ จำนวน 9 ใบ โดยให้เหตุผลว่า อาจเกิดจากบัตรเขย่ง ซึ่งทางกกต. ได้ชี้แจงว่า กรณีบัตรเขย่ง มาจากการนับคะแนนตัวเลขผู้มาใช้สิทธิกับตัวเลขบัตรที่ถูกใช้ไปไม่ตรงกัน ยกตัวอย่างเช่น นาย เอ ไปรายงานตัวเพื่อใช้สิทธิ แต่รอคิวนานเลย “สละสิทธิ” จึงเป็นที่มาที่ทำให้ ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิกับตัวเลขบัตรที่ถูกใช้ไปไม่ตรงกัน
คะแนนเลือกตั้ง 100% ไม่เป็นทางการ
สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่มีการยืนยันตัวเลขใดๆ อย่างเป็นทางการเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 เรื่องการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ ข้อ 168 ระบุว่า ให้สำนักงานจัดให้มีแอปพลิเคชันรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการเพื่อใช้งานบนโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต
ข้อ 169 เมื่อสำนักงานได้รับรายงานผลการเลือกตั้งตามข้อ 159 แล้ว ให้จัดให้มีการแสดงผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการต่อสาธารณะ โดยให้แสดงผลไม่เกินร้อยละ 95 ของจำนวนหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด
เลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ถูกจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 พรรคที่ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมากที่สุดคือ พรรคเพื่อไทย ท้ายที่สุดพรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่ง 265 ที่ ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก โดยได้ที่นั่งผู้แทนราษฎร 159
สติเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554
จำนวนราษฏร 63,878,267 คน
จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 46,939,549 คน
จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
- แบบบัญชีรายชื่อ 35,220,208 คน (75.03%)
- จำนวนบัตรเสีย 1,726,768 บัตร (4.90%)
- จำนวนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 958,213 บัตร (2.76%)
- แบบแบ่งเขต 35,220,377 คน (75.03%)
- จำนวนบัตรเสีย 2,040,261 บัตร (5.79%)
- จำนวนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 1,419,148 บัตร (4.03%)
เลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และครั้งแรกภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549
ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 480 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจำนวน 80 คน
ภายหลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2550 ส่งผลให้นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2551 อันเนื่องมาจากพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งมากที่สุด จำนวน 233 ที่นั่ง
และเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับ พรรคชาติไทย 34 ที่นั่ง พรรคเพื่อแผ่นดิน 24 ที่นั่ง พรรคมัชฌิมาธิปไตย 11 ที่นั่ง พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 9 ที่นั่ง และพรรคประชาราช 5 ที่นั่ง รวมคะแนนเสียงพรรคร่วมรัฐบาลทั้งสิ้น 316 ที่นั่ง ต่อ พรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียว คือ พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 164 ที่นั่ง
*ทั้งนี้ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้ง และเป็นรัฐบาลชั่วคราว หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549
สติเลือกตั้ง 23 ธันวามคม 2550
จำนวนราษฏร 62,828,706 คน
จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 44,002,593 คน
จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
- แบบบัญชีรายชื่อ 32,792,246 คน (74.52%)
- จำนวนบัตรเสีย 1,823,436 บัตร (5.56%)
- จำนวนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 935,306 บัตร (2.85%)
- แบบแบ่งเขต 32,775,868 คน (74.49%)
- จำนวนบัตรเสีย 837,775 บัตร (5.56%)
- จำนวนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 1,499,707 บัตร (4.58%)
เลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 มีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 สาเหตุมาจาก นายทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบวาระ 4 ปี และต้องพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
โดยมีพรรคไทยรักไทยของนายทักษิณ ชินวัตร ได้รวมสมาชิกจากพรรคต่าง ๆ ได้แก่ พรรคความหวังใหม่, พรรคชาติพัฒนา, พรรคกิจสังคม, พรรคเสรีธรรม และพรรคเอกภาพ เข้ากับพรรคไทยรักไทย พรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร คือ 377 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 500 ที่นั่ง
สติเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548
จำนวนราษฏร 63,079,765 คน
จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 44,572,101 คน
จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
- แบบบัญชีรายชื่อ 32,341,330 คน (72.56%)
- จำนวนบัตรเสีย 935,586 บัตร (2.89%)
- จำนวนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 357,515 บัตร (1.11%)
- แบบแบ่งเขต 32,337,611 คน (72.55%)
- จำนวนบัตรเสีย 1,938,590 บัตร (5.99%)
- จำนวนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 741,276 บัตร (2.29%)