ย้อนรอยเหตุป่วนบึ้มกรุง จากปลายยุคทักษิณ ถึงรัฐบาลประยุทธ์

ย้อนรอยเหตุป่วนบึ้มกรุง จากปลายยุคทักษิณ ถึงรัฐบาลประยุทธ์ ระเบิดกลางกรุงเมืองช่วงคืนที่ผ่านมา นั่นไม่ใช่เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นครั้งแรก แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมามันเคยเกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน วันนี้ ทาง MThai News จะพาหวนย้อนกลับไปดูว่าเหตุการณ์ระเบิดกลางเมืองเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง ระเบิดบึ้มป่วนเมืองเกิดขึ้นครั้งแรกช่วงปลาย “รัฐบาลทักษิณ” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร…

Home / NEWS / ย้อนรอยเหตุป่วนบึ้มกรุง จากปลายยุคทักษิณ ถึงรัฐบาลประยุทธ์

ย้อนรอยเหตุป่วนบึ้มกรุง จากปลายยุคทักษิณ ถึงรัฐบาลประยุทธ์

ระเบิดกลางกรุงเมืองช่วงคืนที่ผ่านมา นั่นไม่ใช่เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นครั้งแรก แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมามันเคยเกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน วันนี้ ทาง MThai News จะพาหวนย้อนกลับไปดูว่าเหตุการณ์ระเบิดกลางเมืองเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง

ระเบิดแยกราชประสงค์

ระเบิดบึ้มป่วนเมืองเกิดขึ้นครั้งแรกช่วงปลาย “รัฐบาลทักษิณ” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รอยต่อรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งถือเป็นช่วงอึมครึมการเมือง โดยระเบิดป่วนเมืองเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 เป็นเหตุระเบิดบริเวณทางเท้าข้างตู้ยามหัวมุมรั้วบ้านสี่เสาเทเวศร์ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

ก่อนที่ในคืนวันเดียวกันคนร้ายปา “ประทัดยักษ์” เข้าไปในรั้ว “วชิราวุธวิทยาลัย” ซึ่งเป็นบ้านพัก “นายชัยอนันต์ สมุทวณิช” ผู้บังคับการวชิราวุธฯ จำนวน 3 จุด ซึ่งเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นคาดได้ว่าเกี่ยวเนื่องกับการเมือง

ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม 2549 มีคนร้ายนำระเบิดแสวงเครื่องทีเอ็นที น้ำหนักเกือบ 1 ปอนด์ จุดชนวนด้วยการตั้งเวลาให้ระเบิดในเวลา 12.00 น. ลอบวางไว้ที่ข้าง “อาคารควง อภัยวงศ์” ใน “พรรคประชาธิปัตย์” แต่โชคดีที่มีการตรวจพบและเก็บกู้ได้ก่อน

วันที่ 4 พฤษภาคม 2549 ช่วงเวลาเช้าตรู่เกิดเหตุคนร้ายขว้าง “ระเบิดขวด” ใส่เต็นท์ของกลุ่มผู้ชุมนุมที่นอนพักอยู่หน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ ที่ตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง”( กกต.)

วันที่ 23 พฤษภาคม 2549 คนร้ายได้วางระเบิดที่ ถ.ราชดำเนินนอก 2 แห่ง คือบริเวณ “ซุ้มเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติ” แรงระเบิดทำให้ฐานซุ้มที่เป็นไม้แตกหัก และอีกจุด คือ เกิดระเบิดที่บริเวณศาลาพักผู้โดยสารหน้าศูนย์สวัสดิภาพเด็ก เยาวชนและสตรี(ศดส.) แรงระเบิดทำให้ฝาครอบเสาไฟฟ้ามีรอยไหม้และมีกลิ่นเหม็นไหม้

วันที่ 24 มิถุนายน 2549 เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่ทำการของพรรคไทยรักไทย ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ หลังมีคนร้ายปาระเบิดเข้าใส่ แต่โชคดีที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และจากการสอบสวนเชื่อว่าเป็นการป่วนสร้างสถานการณ์เท่านั้น

เหตุระเบิดครั้งต่อมาคงไม่มีใครลืมเลือนได้ เพราะเป็นเหตุระเบิดใหญ่ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน 9 จุด ในช่วงคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2549-2550 โดยเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพน และนนทบุรี มีประชาชนผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บล้มตายหลายราย

จากนั้นไม่นานเหตุระเบิดก็เกิดขึ้นอีกครั้ง คราวนี้คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้เครื่องยิงระเบิดยิงถล่มบริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด ที่ตั้งสำนักงาน หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ถ.วิภาวดีรังสิต ในวันที่ 30 มกราคม 2550

ก่อนที่วันที่ 9 เมษายน ในปีเดียวกัน (2550) ก็เกิดเหตุบึ้มเมเจอร์รัชโยธิน แต่โชคดีที่เหตุการณ์ครั้งนี้มีเพียง “ตู้โทรศัพท์” ได้รับความเสียหาย

และในคืนวันที่ 30 กันยายน 2550 ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นอีก คราวนี้เป็นการกระตุกหนวดเสือคนร้ายลอบวางระเบิด รั้วแดงกำแพงเหลือง หัวมุมกำแพงกองบัญชาการกองทัพบก(บก.ทบ.) ติดกับโรงเรียนแผนที่ทหาร ถนนราชดำเนินนอก

ที่บอกว่าเป็นการลูบคมกระตุกหนวดเสือก็เพราะ พื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดยุทธศาสตร์คลาคล่ำไปด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ก็ไม่ทำให้เป็น “เขตปลอดระเบิด” ได้ และเหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นเหตุระเบิดส่งท้ายปี 2550

ทิ้งช่วงห่างไปเป็นปีเหตุระเบิดป่วนกรุงก็เกิดขึ้นอีกครั้งคราวนี้จัดหนักจัดถี่ขึ้นกว่าคราวก่อน เพราะเป็นเหตุการณ์ที่บ้านเมืองไม่ปกติ มีการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลหลายจุด

โดยเปิดศักราชปี 2553 ก็เกิดเหตุระเบิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2553 หลังมีคนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้ามาที่ตึกกองบัญชาการกองทัพบก บริเวณห้องทำงานของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2553 เกิดเหตุป่วนเมือง 2 จุด เริ่มที่มีการขว้างระเบิดเอ็ม 76 เข้าไปยังธนาคารกรุงเทพ สาขาพระราม 2 แต่ระเบิดไม่ทำงาน และมีการขว้างระเบิดเอ็ม 26 เข้าไปที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนสีลม ซึ่งสามารถจับคนร้ายได้ 2 คน เป็น “กลุ่มเสื้อแดง” และในคืนเดียวกัน คนร้ายขว้างระเบิดไม่ทราบชนิด เข้าไปยังธนาคารกรุงเทพ สาขาพระประแดง ทำให้กระจกธนาคารได้รับความเสียหาย

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 เกิดเหตุขว้างระเบิดเอ็ม 67 เข้าไปที่ธนาคารกรุงเทพฯ สาขาศรีนครินทร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่เก็บกู้ไว้ได้
วันที่ 15 มีนาคม 2553 มีการยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าไปที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์(ร.1 รอ.) จำนวน 6 ลูก แต่ทำงานเพียง 4 ลูก ทำให้กำลังพลบาดเจ็บ 2 นาย

วันที่ 16 มีนาคม มีการยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่บ้านเลขที่ 22/18 ซอยลาดพร้าว 23 ไม่ปรากฎว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

วันที่ 19 มีนาคมเกิดเหตุยิงระเบิดเอ็ม 16 ใส่บ้านประชาชนภายในซอยทองหล่อ 3 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม. ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

วันที่ 20 มีนาคม 2553 คนร้ายใช้ระเบิดเอ็ม 67 ขว้างใส่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) จ.นนทบุรี และเวลาไล่เลี่ยกัน คนร้ายยิงจรวดอาร์พีจี ใส่กระทรวงกลาโหม ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ออกหมายจับคนร้าย 2 คน คือ ส.ต.ต.บัณฑิต สิทธิทุม และนายศุภรัฐ หรือโก้ หุลเวช อายุ 43 ปี

วันที่ 22 มีนาคม 2553 คนร้ายปาระเบิดเอ็ม 67 ใส่แขวงการทางธนบุรี ท้องที่ สน.บางพลัด
วันที่ 23 มีนาคม 2553 ยิงเอ็ม 79 ใส่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี และคนร้ายขว้างระเบิดเอ็ม 67 ใส่กรมบังคับคดีบางขุนนนท์ ท้องที่ สน.บางขุนนนท์

วันที่ 24 มีนาคม 2553 เกิดเหตุปาระเบิดบริเวณตู้ควบคุมไฟฟ้าริมรั้วของศาลากลาง จ.นนทบุรี ไม่ปรากฎความเสียหาย และเกิดเหตุขว้างระเบิดเอ็ม 67 บริเวณเสาไฟฟ้าริมรั้วของกรมบังคับคดีเขตตลิ่งชัน

วันที่ 26 มีนาคม 2553 เกิดเหตุปาระเบิดเอ็ม 67 ใส่สำนักงานอัยการสูงสุด

วันที่ 27 มีนาคม 2553 เกิดระเบิดหลายจุด ได้แก่ ยิงเอ็ม 79 ใส่ร้านบ้านลุงใหญ่ , ยิงระเบิด เค 75 ใส่อาคาร 120 ปี กรมศุลกากร , พบระเบิดเอ็ม 67 จำนวน 2 ลูก บนถนนนวมินทร์ , ขว้างระเบิดเอ็ม 67 ใส่สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 , ยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เป็นต้น

วันที่ 28 มีนาคม 2553 เกิดเหตุยิงเอ็ม 79 ใส่กรมทหารราบที่ 11 , ปาระเบิดเอ็ม 67 ใส่บ้านนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี
วันที่ 30 มีนาคม 2553 มีเหตุปาระเบิดเอ็ม 67 ใส่อาคารมูลนิธิรัฐบุรุษ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี

วันที่ 3 เมษายน 2553 เกิดระเบิดที่ชุมสายโทรศัพท์ทีโอที สาขาผดุงกรุงเกษม และกองขยะริมทางเท้า หน้าบ้านเลขที่ 260-262 ถนนหลานหลวง
วันที่ 4 เมษายน 2553 ระเบิดคาร์บอมบ์ สถานอาบอบนวดโพไซดอน เป็นระเบิดแสวงเครื่องชนิดทีเอ็นที มีรถยนต์เสียหาย 1 คัน ตำรวจออกหมายจับ นายอัครเดช สุขลักษณ์ ชาว จ.เชียงราย

วันที่ 6 เมษายน 2553 คนร้ายยิงเอ็ม 79 ใส่บ้านเลขที่ 48 หมู่บ้านมงคลนิเวศน์ ซอยวิภาวดีรังสิต 44 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม.ตำรวจมุ่งปมธุรกิจ

วันที่ 7 เมษายน 2553 คนร้ายปาระเบิดเอ็ม 26 ถล่มป้อมที่ทำการตำรวจชุมชน (ศูนย์อยู่เย็น) ถนนนวมินทร์ และนำถังน้ำยาดับเพลิงบรรจุปุ๋ยยูเรียผสมน้ำมันดีเซลและวงจรนาฬิกา วางใกล้ห้างแฟชั่น ไอส์แลนด์

วันที่ 8 เมษายน 2553 ยิงเอ็ม 79 และเอ็ม 16 ถล่มที่ทำการพรรคการเมืองใหม่ ถนนพระสุเมรุ และตึกทีพีไอ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์

วันที่ 10 เมษายน 2553 ยิงเอ็ม 79 ใส่กองปราบปราม และวันเดียวกันนั้น กลุ่ม นปช. และทหารปะทะกันรุนแรง ที่สี่แยกคอกวัว มีผู้เสียชีวิตกว่า 25 ราย บาดเจ็บกว่า 800 คน

วันที่ 12 เมษายน 2553 เกิดเหตุใช้อาวุธปืนยิงใส่ตึกไซเบอร์ ถนนรัชดาภิเษก และยิงเอ็ม 79 ใส่บ้านเลขที่ 11 ถนนประดิพัทธ์ เขตพญาไท กทม. วันที่ 19 เมษายน 2553 คนร้ายวางระเบิดแสวงเครื่องหน้าบริษัทเคแอล แกรนิต เลขที่ 31/48-49 ซอยเอกชัย 10/1 แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กทม. ตำรวจคาดปมขัดแย้งธุรกิจ

วันที่ 23 เมษายน 2553 มีการยิงเอ็ม 79 จำนวน 5 ลูก ใส่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ศาลาแดง และย่านใกล้เคียง มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บกว่า 100 คน

วันที่ 26 เมษายน 2553 พบระเบิด เค 75 จำนวน 2 ลูก ที่หน้าโชว์รูมคาร์แม็กซ์ ถนนพระราม 9 ซอย 22 และค่ำวันเดียวกันคนร้ายได้ปาเอ็ม 67 ใส่บ้านนายบรรหาร ย่านบางพลัด

วันที่ 27 เมษายน 2553 เกิดระเบิดหน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาตลิ่งชัน

หลังเหตุการณ์ทางการเมืองสงบ มีการจัดระบบระเบียบใหม่ และมีการเลือกตั้ง เหตุการณ์บ้านเมืองก็ปกติสุขไร้เหตุการณ์ร้ายมาร่วม 2 ปี แต่เหตุระเบิดก็เกิดขึ้นจนได้ โดยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 เกิดเหตุระเบิดขึ้น 3 จุด ในซอยสุขุมวิท 71  ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นมีชาวต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีการคาดการณ์ว่า น่าจะเป็นการเชื่อมโยงกับการก่อนการร้ายข้ามชาติ

ถัดมาอีกปี ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2556 ก็เกิดเหตุระเบิดปากซอยรามคำแหง 43/1 ในช่วงที่ผ่านมาเหมือนเหตุระเบิดจะจบสงบลง เพราะถือว่าอยู่ในยุครัฐบาลทหาร นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่กาลกลับไม่ใช่ เพราะระเบิดยังเกิดขึ้นอีก

โดยวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 มีการวางระเบิดชนิดแสวงเครื่อง 2 ลูก หลังหม้อแปลงไฟฟ้าบริเวณทางเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม และจนมาถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ก็เกิดเหตุบึ้มแยกราชประสงค์ ที่สร้างข่าวลือสะพัด และความสะพรึงให้กับประชาชนคนไทยอยู่ในขณะนี้

ติดตามข่าวสารอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ news.mthai.com

MThai News