ข้อมูลเพิ่มเติม ‘พรรคภูมิใจไทย’
พรรคภูมิใจไทย ก่อตั้งเมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 มี นายพิพัฒน์ พรมวราภรณ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก นายมงคล ศรีอ่อน เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก และนางวันเพ็ญ ขวัญวงศ์ เป็นโฆษกพรรคคนแรก ปัจจุบันมีนาย อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรคนาย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นเลขาธิการพรรค และ พันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ เป็นโฆษกพรรค ที่ทำการพรรค อยู่อาคารเลขที่ 2159/11 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
นโยบายพรรค
กัญชาเสรี: แก้พรบ.ยาเสพติด พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สร้างความร่ำรวยให้คนไทย
กัญชาเป็นพืชสมนไพร เป็นการแพทย์ทางเลือก โดยพรรคภูมิใจไทย นำเสนอรูปแบบการปลูกกัญชา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยให้ผู้ที่จะปลูกกัญชา ต้องมีการลงทะเบียน และอนุญาตให้ปลูกได้ โดยต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมต่อต้น เชื่อว่ากัญชา จะสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร เนื่องจากในต่างประเทศมีการซื้อขายกันสูงถึงกิโลกรัมละ 70,000 โดยที่มีการคาดการณ์ มูลค่าการตลาดของพืชกัญชา ในอนาคต สูงถึง 4.6 ล้านล้านบาท
บุรีรัมย์โมเดล
นำความคิดสร้างสรรค์ หาจุดเด่นในการพัฒนาเมือง อย่างเช่น จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อทำให้เป็นเมืองกีฬาและการท่องเที่ยวที่โด่งดัง เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับประชาชน และเป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องพี่น้องประชาชน ซึ่งพรรคมีบุคลากร ที่เคยทำงานจนทุกคนเห็นแล้วว่าเกิดความประสบความสำเร็จมาแล้ว และจะนำแนวคิดการพัฒนาเมืองแบบนี้ไปเผยแพร่ในจังหวัด อื่นๆ ทั่วประเทศ
ทวงคืนกำไรให้ชาวนา
เสนอกฎหมายตั้งกองทุนข้าว ระบบกำไรแบ่งปัน เพิ่มรายได้ให้ชาวนา ยุติความไม่เป็นธรรม ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยนำตัวอย่างจาก อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล มาเป็นต้นแบบ ตั้ง “กองทุนข้าว”ขึ้นมา ทำหน้าที่บริหาร กำหนดโควตาการส่งออก จัดทำประกันภัยความเสี่ยง และบริหารแบ่งปันกำไร โดยกรรมการ 3 ฝ่าย คือ ชาวนา โรงสี พ่อค้า และฝ่ายราชการ ตกลงราคารับซื้อเบื้องต้น ก่อนฤดูกาลเพาะปลูก จากนั้นจะมีการคำนวณต้นทุน และ กำไร ของการผลิตทั้งระบบ แล้วนำผลกำไรมาแบ่งปันอย่างเป็นธรรมซึ่งการผลิตข้าวในระบบมี ชาวนา โรงสี ผู้ค้าข้าว ทั้งในและต่างประเทศ
ดังนั้นชาวนาจะได้รายได้เพิ่มขึ้นจากระบบ “กำไรแบ่งปัน”เพิ่มขึ้นมา ทวงคืนกำไรให้ชาวนา หมดยุค “ชาวนาจน พ่อค้าข้าวรวย” ด้วยกำไรแบ่งปัน โดยที่พรรคภูมิใจไทย จะนำระบบนี้ไปใช้กับพืชชนิดอื่นๆ ด้วย ยาง มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มทะลาย
ทวงคืนกำไรให้ชาวสวนปาล์ม
เปลี่ยนสวนปาล์มเป็นบ่อน้ำมัน สร้างโรงไฟฟ้าน้ำมันปาล์ม ปาล์มทะลาย ก.ก.ละ 5 บาท โดยการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการนำพืชที่สามารถผลิตเป็นพลังงานน้ำมันนำมาใช้ในประเทศ เพื่อเพิ่มตลาดและเพิ่มมูลค่าให้กับพืชเศรษฐกิจเหล่านั้น ลดปัญหาการเงินตราไหลออกไปยังต่างประเทศ ลดปัญหามลภาวะ อาทิ ปาล์มน้ำมัน สามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดปัญหาการเงินตราไหลออกไปยังต่างประเทศ ลดปัญหามลภาวะ สร้างงาน สร้างอาชีพ ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
พัฒนาเขตเศรษฐกิจ จังหวัดชายแดนใต้
เปลี่ยนเสียงระเบิด เป็นเสียงเครื่องจักร เปลี่ยนงบลับ เป็นงบลงทุน สร้างงาน สร้างรายได้ โดยนำพรบ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไปใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้หลักคิดว่า เมื่อแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้วจะช่วยบรรเทาปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ลงไป
ให้เงินเดือน อสม. 2,500 – 10,000 บาท
ยกระดับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นหมอประจำหมู่บ้านดูแลสุขภาพคนในชุมชนให้ไม่เจ็บป่วยจนต้องไปโรงพยาบาล มีเงินเดือนประจำเทียบเคียงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2,500 – 10,000 บาท
ทำงานที่ออฟฟิศ สัปดาห์ละ 4 วัน
ส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชน จัดให้ข้าราชการหรือพนักงานบริษัทเอกชนในตำแหน่งที่เหมาะสม ทำงานที่บ้านสัปดาห์ละ 1 วัน โดยมีมาตรการจูงใจทางด้านภาษี สำหรับภาคเอกชน ในการลดปริมาณการจราจรบนท้องถนนของกทม.และปริมณฑล อย่างน้อย ๆ สัปดาห์ละ 1 วัน สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป
แก้หนี้ กยศ. ปลดภาระผู้ค้ำประกัน
แก้ปัญหาเงินกู้ยืม กยศ. ดอกเบี้ยแพง ค่าปรับแพง เวลาปลอดหนี้สั้น ด้วยการพักหนี้ 5 ปี เพื่อให้เวลาไปหางานทำ และให้เวลาคืนเงินต้น 10 ปี โดยไม่มีการคิดดอกเบี้ย และยกเลิกเบี้ยปรับ
Grab Bike ถูกกฎหมาย
ลดปริมาณรถยนต์ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยการให้รถรับจ้างผ่านแอพพลิเคชั่นถูกกฎหมายทุกคัน มีการออกกฎหมายรับรองอย่างถูกต้อง