หลังการเลือกตั้ง ตอนนี้ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย ต่างออกมาบอกว่าจะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลทั้งคู่ โดยพรรคพลังประชารัฐ มีคะแนนโหวตมากกว่า ขณะที่พรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส. มากกว่า คำถามคือ จริงๆ แล้วใครที่ถือว่ามีความชอบธรรมในการตั้งรัฐบาล?
26 มี.ค. MThai มีโอกาสได้สนทนากับ ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อให้ได้คำตอบในเรื่องนี้ พร้อมวิเคราะห์โฉมหน้าการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้
MThai: จำนวน ส.ส. มากกว่า กับ คะแนนโหวตมากกว่า ใครมีความชอบธรรมในการตั้งรัฐบาล?
ผศ.วันวิชิต: ตามหลักสากล จำนวนเก้าอี้ ส.ส. มีความชอบธรรมมากกว่า มันควรจะเป็นอย่างนั้น เป็นธรรมชาติของระบบการเมืองที่เป็นสากล เพราะว่าในหลายประเทศที่มีประชาธิปไตยเข้มแข็งแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกา การเลือกตั้งสมัย จอร์ช ดับเบิลยู บุช เฉือนชนะจำนวนเขตมากกว่า อัล กอร์ แค่รัฐเดียว แต่คะแนนป๊อปปูลาร์โหวต คะแนนมหาชน เลือกอัล กอร์มากกว่า คนก็ยอมรับกติกาว่า เอาจำนวนเก้าอี้ จำนวนของเขตที่ชนะ เหมือนกัน ฮิลลารี คลินตัน คราวที่แล้วที่แพ้โดนัลด์ ทรัมป์ เสียงป๊อปปูลาร์โหวตก็มากกว่าทรัมป์ แต่ทรัมป์ชนะจำนวนเขตจำนวนรัฐมากกว่า
นั่นคือระบบสากลนิยมที่เขายอมรับว่า จำนวนรัฐ จำนวนจังหวัดที่ชนะมา จำนวนเก้าอี้ ส.ส. ถือว่าเป็นตัวแทนประชาชน เพราะบางที บางจังหวัดกาให้ ส.ส. คนนั้น เข้ามา 2 แสนคะแนน ก็ 1 เก้าอี้ อีกจังหวัดหนึ่งกา 2 หมื่นคะแนน ก็เก้าอี้เดียว ก็คือ 1ต่อ 1 เท่ากัน คุณจะมาทักท้วงว่าตัวเลขมากกว่า มันฟังดูขัดธรรมชาติ เพราะแสดงว่าเท่ากับว่า 1 เสียง 1 สิทธิมันไม่เท่ากัน คนจังหวัดนี้จะมีความรู้สึกว่า มีเสียงน้อยกว่าจังหวัดที่มีประชากรมากกว่าอย่างนั้นหรือ มันไม่ใช่ นั่นก็ผิดหลักประชาธิปไตยอยู่แล้ว
MThai: แล้วการที่ทั้งสองขั้วต่างก็บอกว่าจะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลทั้งคู่?
ผศ.วันวิชิต: ผมคิดว่า ณ ขณะนี้ ประเด็นคือ พรรคที่จะถูกทาบทาม ต่างฝ่ายต่างสงวนท่าที เพราะว่าความไม่ชัดเจนของ กกต. รอ กกต. ชี้แจง หรือ ประกาศเรื่องการที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ ในกรณีที่พรรคการเมืองบางพรรค หรือว่าผู้สมัครบางเขต ถูกร้องเรียน ว่าประพฤติผิดกฏหมายเลือกตั้งในการหาเสียงรอบนี้ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันก็จะมีผลต่อสมการตัวเลขของพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง อาจจะนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งซ่อมใหม่ ก็จะมีผลต่อตัวเลขภายหลัง
หรือ กกต. อาจจะไม่พูดอะไรก็ได้ อาจจะมารอรับรอง วันที่ 9 พ.ค. รับรองไปก่อน อย่างนั้นก็ได้ เพราะระยะเวลาในการตรวจสอบอาจจะไม่ทัน เพราะฉะนั้นช่วงนี้ ผมว่าพรรคการเมืองทุกพรรคที่ถูกทาบทามก็จะต้องสงวนท่าที ดูข้อต่อรอง ว่าโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหากเลือกไปฝั่งเพื่อไทยก่อน แน่นอน เสียงดูมากกว่า แต่จะไปติดหล่มกับดักของด่าน ส.ว. เพราะ ส.ส. ที่เลือกมา รวมกันแล้ว ดูแนวทางพันธมิตร ไม่มีทางเกิน 376 แน่ เพราะประชาธิปัตย์ไปกับเพื่อไทยอย่างชัดเจน ฉะนั้นเสียงคร่าวๆ ของพลังประชารัฐ รวมกับประชาธิปัตย์ ก็ไม่ต่ำกว่า 150-160 ไปแล้ว ฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ฝั่งเพื่อไทย ต่อให้รวมภูมิใจไทยมาก็ตาม ก็ไม่สามารถฝ่ากระแสขยักที่สองได้ นี่คือความยาก
แต่อีกฝั่งหนึ่งของพลังประชารัฐ คุณรวมภูมิใจไทย เชิญประชาธิปัตย์ พรรคเล็กพรรคน้อยอะไรต่างๆ โอกาสตั้งนายกรัฐมนตรี อย่าเพิ่งพูดถึงจัดตั้งรัฐบาล จะง่ายกว่า เพราะมี 250 ส.ว. คอยชูมือสนับสนุนอยู่แล้ว ตรงนั้นถล่มทลาย เกิน 376 แน่นอน ไม่มีปัญหา ฉะนั้นก็ทำให้มองว่า หากไปพลังประชารัฐ โอเค เห็นตัวนายก แต่การจะเป็นรัฐบาลผสม หรือการทำงานในสภานิติบัญญัติ จะเกิดความยากลำบาก เพราะปริ่มๆ ของเสียงข้างมากหรือข้างน้อยนิดหน่อย ก็จะเกิดทำงานยากลำบากในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรืออภิปรายงบประมาณแผ่นดินต่างๆ จะเกิดปัญหามากหากเทียบการทำงานของฝั่งเพื่อไทยซึ่งมีตัวเลขมากกว่า
MThai: ความชัดเจนอาจจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะมีการประกาศรับรอง?
ผศ.วันวิชิต: อาจจะรับปากไปทั่ว หรือสงวนท่าที ทำได้ทั้งนั้น อยู่ที่กระแสสังคมด้วยว่าจะเอายังไง มีส่วนอย่างมาก เพราะกระแสสังคม ตอนนี้โฟกัสไปที่การทำหน้าที่ กกต. แล้ว ไม่ได้กังวลว่าใครจะจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่ได้ อันนั้นเป็นเรื่องมาทีหลัง เพราะดูเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการจัดการเลือกตั้ง ตอนนี้เป็นกระแสที่มาแรงมาก”
MThai: คุณอนุทิน ชาญวีรกูล และพรรคภูมิใจไทยจึงเป็นตัวแปรที่สำคัญ?
ผศ.วันวิชิต: การที่มีโยนชื่อถามทางว่าเป็นภูมิใจไทยลงมา ก็แสดงว่าทั้งสองข้างมีปัญหาในการยอมรับว่า ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีของอีกฝั่ง ไม่มีใครยอมรับใครได้ ฉะนั้นการเอาคุณอนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยมา นั่นก็แสดงว่า คิดว่าคุณอนุทินอยู่ในบทบาทที่เป็นกลางที่สุด เพราะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสองข้าง เพราะครั้งหนึ่งสมัยอยู่พรรคไทยรักไทย คุณอนุทินก็เป็นรัฐมนตรีช่วยฯ สาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการคือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
ในขณะที่ฝั่งพลังประชารัฐ เนวิน ชิดชอบ คุณอนุทิน ก็มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กับกองทัพด้วย ฉะนั้นต่างฝ่ายต่างมั่นใจในความรู้สึกของตัวเองว่า การดึงคุณอนุทินมาเป็นแนวร่วม หรือเอาคุณอนุทินชูมาเป็นนายกรัฐมตรี จึงมีโอกาสว่าต่างฝ่ายต่างประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นคุณอนุทินจึงวางตัวได้ค่อนข้างระมัดระวังพอสมควร
MThai: มองเงื่อนไขของคุณอนุทินอย่างไร?
ผศ.วันวิชิต: กรณีที่คุณอนุทินบอกว่า นายกรัฐมนตรีต้องไม่มาจากพรรคการรวมเสียงข้างน้อย เป็นหน้าที่ของพลังประชารัฐหรือเพื่อไทยจะต้องทำให้เสียงมันเกินกึ่งหนึ่ง เกิน 250 เสียก่อน คุณอนุทินร่วมแน่ๆ ส่วนนโยบายของพรรคภูมิใจไทย พรรคการเมืองที่มาเป็นรัฐบาลจะต้องผลักดันนโยบายตัวเองให้เป็นรูปธรรม ไม่งั้นจะเสี่ยงกับการถูกฟ้องร้องว่าการโฆษณาช่วงหาเสียงทำไม่ได้จริง เท่ากับเป็นการหลอกลวงประชาชน ดังนั้นทุกพรรคที่เข้าไปร่วมรัฐบาลจะต้องได้กระทรวงที่ตัวเองขับเคลื่อนได้จริงด้วย ซึ่งอันนี้มันไม่ยาก
MThai: มองว่าคุณอนุทินจะตัดสินใจอย่างไร?
ผศ.วันวิชิต: ปัจจัยอยู่ที่ว่า ถ้าไปแล้ว การเมืองจะมีเสถียรภาพมั้ย เพราะอย่าลืมว่านักการเมืองไม่ได้กลับสภาฯ มา 5 ปี รอบนี้มันก็เหมือนการเรื้อเวที ไม่มีใครอยากเลือกตั้งใหม่ ฉะนั้น สมการการอยู่ในวินัยของการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ให้เกียรติกัน การไม่เล่นการเมืองกันเกินไป ผมคิดว่าคุณอนุทินจะแคร์ตรงนี้ ถ้าเป็นนายกฯ หรือเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม ความขัดแย้งร่วมกัน มันก็ทำให้ประชาชนผิดหวัง แล้วคุณอนุทินท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นฝ่ายการเมืองอีกฝั่งใดฝั่งหนึ่ง สถาปนาให้เป็นปีศาจตนใหม่ อันนี้ผมว่าเขาคงต้องชั่งใจพอสมควร”
MThai: แล้วซีนการเมืองจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อ?
ผศ.วันวิชิต: ผมคิดว่าหากนักการเมืองอยากจะอยู่ยาวๆ แต่จะต้องมั่นใจสถานะตัวเอง ภายหลังที่รับรองการเลือกตั้งเสียก่อน ดูแนวทางแล้ว ไปพลังประชารัฐมีโอกาสอยู่ได้ยาวมากกว่า แม้ในขณะนี้เสียงน้อยกว่า เพราะเมื่อ กกต. รับรองสถานะ ส.ส. แล้ว กรณีเคสหนึ่งที่จะกลายเป็น ส.ส. สามารถมีอิสระในการโหวตนายกรัฐมนตรี หรือย้ายพรรคได้ทันที เสียงอาจจะไปสนับสนุนพลังประชารัฐมากขึ้นก็ได้ หลังการรับรอง ฉะนั้นทั้งเพื่อไทย หรืออนาคตใหม่ หรือใครก็แล้วแต่ เสรีรวมไทย เศรษฐกิจใหม่ จะต้องดูแลหลังบ้านตัวเองให้ดีว่าจะเกิดฟาร์มงูเห่าขึ้นมามั้ย เป็นไปได้ทั้งนั้น”