กำลังเป็นที่อกสั่นขวัญหายไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ กับการแพร่ระบาดของไวรัส ‘อีวี 71’ หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า โรคมือ เท้า ปาก และที่น่าสะพรึงกลัวของไวรัส ‘อีวี 71’ คือ เป็นโรคที่ระบาดในเด็ก และพบเด็กติดเชื้อในทุกปี โดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มเข้าหน้าฝนเป็นช่วงที่มีอัตราการระบาดของโรคนี้สูง
ซึ่งขณะนี้มีการยืนยันจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณุสข ได้เปิดเผยถึงข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-8 ก.ย.2558 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคไวรัส ‘อีวี 71’ แล้วจำนวน 26,407 ราย เสียชีวิต 3 ราย ในจังหวัดสระบุรี ตาก และชลบุรี
ส่วนจังหวัดที่ยังไม่พบผู้ป่วยเลยมี 1 จังหวัดคือ จังหวัดนราธิวาส นอกจากนี้ยังมีอีก 17 จังหวัด ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษได้แก่ สมุทรปราการ อ่างทอง สิงห์บุรี จันทบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม อำนาจเจริญ พะเยา นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง สุราษฏร์ธานี และยะลา
จุดที่น่าสงสัยคือ ทุกคนจะทราบได้อย่างไรว่าโรคไวรัส ‘อีวี 71’ จะมีอาการเป็นอย่างไร ประการแรกเรามีข้อสังเกตุของอาการที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนี้
1. มีไข้ ร่วมกับแผลในปาก และตุ่มที่มือหรือเท้า
2. มีเฉพาะไข้ และแผลในปาก แต่ไม่มีตุ่มที่มือหรือเท้า
3. มีอาการไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส และมีอาการเหม่อลอย ให้รีบพาพบแพทย์ทันที
เนื่องจากเชื้ออาจกระจายจนก้านสมองอักเสบ ส่งผลต่อการควบคุมการเต้นของหัวใจ ทำให้อัตราการเต้นผิดปกติ และเด็กมีโอกาสหัวใจวาย น้ำท่วมปอด และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
ภายใน 2-3 วัน
โดยปกติโรคนี้ไม่น่ากลัวมากนัก และสามารถหายเองได้โดยไม่มีปัญหา แต่อาจมีโอกาสเล็กน้อยที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือพบปัญหาแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะถ้าเกิดจากเชื้อ ‘อีวี 71’ จะมีโอกาสเกิดโรครุนแรงได้มากขึ้น
ซึ่งปัญหาแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุดคือ ก้านสมองอักเสบ ทำให้เกิดภาวะหายใจ และระบบไหลเวียนของโลหิตล้มเหลว ถึงแก่ชีวิตได้อย่างรวดเร็ว และบางครั้งเชื้อ ‘อีวี 71’ อาจทำให้เกิดสมองอักเสบรุนแรงได้ โดยไม่ต้องมีผื่นแบบ มือ-เท้า-ปากได้
เด็กที่จะมีปัญหาแทรกซ้อนรุนแรงหรือสมองอักเสบ จะมีสัญญาณอันตรายได้แก่ ซึม อ่อนแรง ชักกระตุก มือสั่น เดินเซ หอบ อาเจียน ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้จะต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน การระบาดของโรคมือ-เท้า-ปาก ในประเทศไทยในขณะนี้แม้ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดอาการไม่รุนแรง แต่อย่างไรก็ดีต้องระวังอาการรุนแรงไว้ด้วย แม้จะมีโอกาสเกิดน้อยก็ตาม
คำถามต่อมาคือเราจะสามารถทางป้องกันและลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อนี้ได้อย่างไร
ถึงแม้ว่าขณะนี้ โรคไวรัส ‘อีวี 71’ จะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่การป้องกันที่สำคัญนั้นคือ ต้องแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคมิให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่นทุกคน รวมทั้งผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กควรหมั่นล้างมือ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
หมั่นทำความสะอาดของเล่น และสิ่งแวดล้อมทุกวัน การทำความสะอาดโดยใช้สบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาชะล้างทำความสะอาดทั่วไป แล้วทำให้แห้ง ควรระมัดระวังในความสะอาดของน้ำ อาหาร และสิ่งของทุกๆ อย่างที่เด็กอาจเอาเข้าปาก
ไม่ให้เด็กใช้ของเล่นที่อาจปนเปื้อนน้ำลาย หรืออุปกรณ์การรับประทานร่วมกันควรสอนให้เด็กๆ ใช้ช้อนกลาง และล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และที่สำคัญไปกว่านั้น หากพบเด็กที่มีอาการใกล้เคียง ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด