ธนาคารกสิกรไทย นำเทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า (Face Recognition) ช่วยพิสูจน์ตัวตนลูกค้า กับสาขาของธนาคาร นำร่องใช้เปิดบัญชีเงินฝาก เพิ่มความแม่นยำให้พนักงานใช้พิสูจน์ตัวตนของลูกค้า พร้อมเตรียมเชื่อมข้อมูลข้ามธนาคาร ขยายการให้บริการบนช่องทางดิจิทัล เริ่มจากการเปิดบัญชีเงินฝาก ช่วยให้ลูกค้าทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้องเดินทางมาสาขา และสร้างมาตรฐานใหม่ด้านความปลอดภัยยุคดิจิทัล ตั้งเป้าให้บริการเต็มรูปแบบไตรมาส 3 ปีนี้ พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการต่อยอดกับภาครัฐ ให้ลูกค้ายืนยันตัวตนเพื่อขอรับบริการจากภาครัฐฯ ในอนาคต
นายศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารให้ความสำคัญเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า จึงนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับการป้องกันความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดธนาคารได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า (Face Recognition) มาช่วยการพิสูจน์ตัวตนลูกค้าที่สาขา โดยนำร่องใช้สำหรับบริการเปิดบัญขีเงินฝากที่สาขาของธนาคารแล้ว เพื่อเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยและความแม่นยำในการพิสูจน์ตัวตนลูกค้าของพนักงานสาขา ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการสวมตัวตนเพื่อเปิดบัญชีของอาชญากร
สำหรับเอกสารและขั้นตอนการเปิดบัญชียังคงใช้พื้นฐานเดิมอยู่ ส่วนที่พัฒนาเพิ่มเติมเข้ามา คือ พนักงานสาขาจะทำการถ่ายภาพใบหน้าลูกค้าที่ขอเปิดบัญชี จากนั้นนำระบบเทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า (Face Recognition) ใช้เปรียบเทียบภาพถ่ายกับรูปภาพบนบัตรประชาชนของลูกค้า หลังจากนั้นพนักงานจะนำข้อมูลผลการเปรียบเทียบมาประกอบการเปิดบัญชีให้แก่ลูกค้า
ทั้งนี้ การให้บริการดังกล่าวอยู่ในโครงการ Regulatory Sandbox กับธนาคารแห่งประเทศไทย มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 จากผลการทดสอบพบว่า ระบบมีการตรวจสอบที่แม่นยำเป็นที่น่าพอใจ โดยเป้าหมายการพัฒนา คือ ธนาคารมีกระบวนการใช้งานระบบได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ มีประสิทธิภาพ จนสามารถกำหนดให้ขั้นตอนการถ่ายภาพและพิสูจน์ตัวตนด้วยเทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้าเป็นมาตรฐานในการทำธุรกรรม
นอกจากนี้ ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ เตรียมต่อยอดเชื่อมโยงข้อมูลข้ามธนาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมที่ได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยสามารถดำเนินการผ่านช่องทางดิจิทัลแทนการเดินทางมาสาขาได้ ทุกที่ทุกเวลา ครอบคลุมธุรกรรมสำคัญ อาทิ การขอสินเชื่อ และการเปิดบัญชีใหม่ข้ามธนาคาร โดยมี National Digital ID เป็นหน่วยงานกลางที่คอยดูแลให้การส่งข้อมูลระหว่างกันเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ และในอนาคตยังมีแผนจะผลักดันให้เกิดการต่อยอดกับภาครัฐ ช่วยให้ลูกค้าที่ติดต่อรับบริการจากทางราชการสามารถยืนยันตัวตนด้วยเทคโนโลยีนี้ได้อีกด้วย