ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคอนาคตใหม่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ความสำเร็จของ ‘อนาคตใหม่’ และความล้มเหลวของ ‘ประชาธิปัตย์’

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคหน้าใหม่อย่าง ‘พรรคอนาคตใหม่’ นั้น ประสบความสำเร็จชนิดเกินคาด ขณะที่พรรคใหญ่อย่าง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ก็ล้มเหลวจนยากจะยอมรับ ซึ่งอาจพูดได้ว่า นี่คือจุดเริ่มต้นโฉมหน้าทางการเมืองในยุคใหม่ของไทย สำหรับปัจจัย ‘ส่วนหนึ่ง’ ในความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ และความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์ นักวิชาการด้านการเมืองอย่าง…

Home / NEWS / ความสำเร็จของ ‘อนาคตใหม่’ และความล้มเหลวของ ‘ประชาธิปัตย์’

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคหน้าใหม่อย่าง ‘พรรคอนาคตใหม่’ นั้น ประสบความสำเร็จชนิดเกินคาด ขณะที่พรรคใหญ่อย่าง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ก็ล้มเหลวจนยากจะยอมรับ ซึ่งอาจพูดได้ว่า นี่คือจุดเริ่มต้นโฉมหน้าทางการเมืองในยุคใหม่ของไทย

สำหรับปัจจัย ‘ส่วนหนึ่ง’ ในความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ และความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์ นักวิชาการด้านการเมืองอย่าง ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้มุมมองต่อทีมข่าว MThai ไว้ดังนี้

– ความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่

“ผมคิดว่า หนึ่ง, การเติบโตของคนรุ่นใหม่ที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมองว่าการเมืองเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว รู้สึกว่าการเมืองมันมีชีวิตสำหรับพวกเขา ที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์และใกล้ตัวมากขึ้น ประกอบกับนโยบายและสไตล์การหาเสียงของพรรคอนาคตใหม่ แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น ตั้งแต่ป้ายหาเสียง ผู้สมัครใส่เสื้อยืดไปหาเสียง ไปปราศัย มันลดกำแพงลดช่องว่างว่า คนที่อาสามาทำงานแทนพี่น้องประชาชน เป็นคนธรรมดาคนเดินดิน ไม่ใช่คนวิเศษวิโส ทำให้ประชาชนกล้าเข้าหา เลือกที่จะไว้ใจ

“ประเด็นต่อมาคือ การมีทีมงานทำด้านโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือสื่อใหม่ที่เข้มแข็งและประสบความสำเร็จมาก ในการที่จะหาข้อมูลมาหักล้าง หรือการสร้างประเด็นในพื้นที่ทางสังคมได้ตลอดเวลา

ภาพจาก Facebook ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

“ประเด็นที่สาม อนาคตใหม่ เจาะเวทีปราศัยหรือเดินไปหาเสียงตามสถานศึกษามากกว่าพรรคการเมืองอื่น อันนี้ประสบความสำเร็จมาก มันสามารถสร้างความตราตรึงคนเจเนอเรชั่นนี้ เพราะพื้นที่การไปลงสถานศึกษา แตกต่างกับการหาเสียงกลุ่มวัยอื่น กลุ่มสถานศึกษา เด็กๆ น้องๆ มาขอเซลฟี่ ภาพกิจกรรมมันดูคึกคักดูใกล้ชิด ดูอบอุ่นกว่า ในขณะที่ไปหาเสียงวัยอื่น นั่งรถกระบะโบกไม้โบกมือบ๊ายบายคนตามป้ายรถเมล์ คนไม่สนใจ ภาพตอบสนองตอบกลับมันดูรู้สึกไม่รุนแรงเท่ากับไปหาสถานศึกษา นักศึกษา หรือวัยทีนเอจ

“ประเด็นต่อมา ในการปราศัยใหญ่วันสุดท้าย วันที่ 22 มี.ค. ที่คุณธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ขึ้นปราศัย รูปแบบเวทีมันไม่เหมือนพรรคการเมืองอื่น การจัดเวทีที่ใกล้ชิด มีลักษณะริงไซด์ คนรอบสเตเดียมมีทุกเพศทุกวัย ซึ่งจะต่างจากพรรคการเมืองอื่น ที่บนเวที ผู้สมัคร หรือแกนนำ หัวหน้าพรรคการเมืองจะอยู่บนเวทีเป็นโฟกัส และข้างหลังเต็มไปด้วยขุนพล แกนนำพรรคที่จะลงสมัคร แต่อนาคตใหม่ไม่มีภาพตรงนั้น มันนำไปสู่ความใกล้ชิด ทำให้คนที่ดูทีวี ติดตามทางสมาร์ทโฟนหรือทางบ้าน รู้สึกเร้าใจว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมวันนั้น ประกอบกับว่าการจับกล้องหรือสไตล์ของเวที มันเหมือนรายการ TED Talks ของสหรัฐอเมริกา

“ที่สำคัญอนาคตใหม่เอาตัวผู้สมัครหรือกรรมการบริหารพรรค หรือผู้ที่มีบทบาทตัวแทนภาคสังคมด้านต่างๆ อาชีพต่างๆ เข้ามาเปิดตัวแนะนำตัวเอง ในระยะเวลา 5-10 นาที ซึ่งจะต่างจากพรรคการเมืองอื่น ที่จะเอาแค่ ส.ส. หรือแกนนำ หรือบุคคลที่พอปราศัยตรึงผู้คนได้ อนาคตใหม่ สามชั่วโมงกว่า คนดูเป็นล้านวิว ในช่วงระหว่างที่เขานำเสนอตรงนั้น เขาเอาเทคโนโลยี เอาสไตล์การจัดการปราศัยจากต่างประเทศมาใช้ในการเมืองไทย ในขณะที่พรรคการเมืองอื่น ไม่สามารถปรับตัวแบบนี้มาใช้ได้เลย”

ภาพจาก Facebook พรรคประชาธิปัตย์

– ความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์

“ผมมองว่าหลักๆ สามปัจจัย ความไม่เป็นเอกภาพของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีตั้งแต่ปัญหารอยปริร้าว ตั้งแต่การแข่งขันสมัครหัวหน้าพรรค ประกอบกับตัวผู้สมัครในพื้นที่ค่อนข้างจะเก่าด้วย แล้วก็วางบทบาทของกลุ่ม ‘นิวเดม’ คนรุ่นใหม่มากเกินไป

“คนรุ่นใหม่ไม่ได้มีความผิดอะไร โปรไฟล์การศึกษาหน้าตาดี แต่มันจับต้องไม่ได้หากเปรียบเทียบกับพรรคอนาคตใหม่ พรรคอนาคตใหม่จะดูมีความหลากหลายกว่า ผู้คนหลายสถานะ หลายอาชีพ หลายการศึกษา แต่นิวเดมเป็นคนที่มีภูมิหลัง ต้นทุนทางสังคม ต้นทุนครอบครัวมาดีมาก ฉะนั้นคนจะรู้สึกไม่ใกล้ชิด

“ประกอบกับว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีแนวคิดเป็นเหมือนพรรคอนุรักษ์นิยม แต่เด็กรุ่นใหม่สร้างขึ้นมาเหมือนว่าจะมายอมรับแนวคิดอนุรักษ์นิยม ในขณะที่อนาคตใหม่ ไปทางของเสรีนิยม ซึ่งตรงจริตกับแนวคิดขบถของวัยรุ่นที่มองอะไรแตกต่างกับคนต่างวัย นี่คือจุดแข็งของอนาคตใหม่

“ประเด็นสุดท้ายคือ คุณอภิสิทธิ์ไปล็อกเงื่อนไขตัวเองที่จะไม่ร่วมกับพลังประชารัฐ จากการเมืองที่แข่งกันสองข้าง กลายเป็นแข่งสามข้าง มันบีบให้คนต้องตัดสินใจเลือก เพราะพันธมิตรที่เลือกประชาธิปัตย์มาตลอดคือผู้สูงวัย เป็นเสียงหลักเลย ผู้สูงอายุเลยหันเหตัดสินใจไปเลือกพลังประชารัฐ เพราะพลังประชารัฐ หลายครั้ง หรือแม้แต่พล.อ.ประยุทธ์ เวลาลงพื้นที่สัญจร จะไปทำกิจกรรมกับผู้สูงอายุมากกว่ากลุ่มอื่น ฉะนั้นก็เห็นภาพชัดเจนอยู่แล้วว่า ประชาธิปัตย์สูญเสียแนวร่วมตรงนี้ไป เพราะตัวเองไปล็อกเงื่อนไขในการเลือกเล่นเกมการเมืองแบบนี้เอง”

ผศ.วันวิชิต ทิ้งท้ายเกี่ยวกับการจับขั้วทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ไว้ว่า “ผมคิดว่าแนวทางในท้ายที่สุด ประชาธิปัตย์จะต้องถูกกดดันจากสังคมให้ตัดสินใจบางสิ่งบางอย่าง แน่นอนว่าแนวทางไม่น่าจะไปเพื่อไทย น่าจะไปพลังประชารัฐมากกว่า ซึ่งไม่ผูกมัดกับสิ่งที่คุณอภิสิทธ์เคยพูดไว้แล้ว”