กรุงตื่น! กระแสไฟดูด แนะทางเลี่ยงหากเสี่ยงประสบเหตุ

กลายเป็นเรื่องราวที่ผู้คนยังคงให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ กรณีชายถูกไฟดูดดับที่ปากซอยพหลโยธิน 47 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา จุดเกิดเหตุเป็นบริเวณใกล้เคียงกับจุดติดตั้งกล้อง CCTV ของ กทม. หลังจากเกิดเรื่อง นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์…

Home / NEWS / กรุงตื่น! กระแสไฟดูด แนะทางเลี่ยงหากเสี่ยงประสบเหตุ

กลายเป็นเรื่องราวที่ผู้คนยังคงให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ กรณีชายถูกไฟดูดดับที่ปากซอยพหลโยธิน 47 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา จุดเกิดเหตุเป็นบริเวณใกล้เคียงกับจุดติดตั้งกล้อง CCTV ของ กทม.

หลังจากเกิดเรื่อง นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ได้ออกมาพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า หลังตรวจสอบเบื้องต้นไม่มีไฟฟ้ารั่ว แต่หากผลชันสูตรจากสถาบันนิติวิทยาพบเสียชีวิตเพราะถูกไฟฟ้าช็อต กทม.ก็ยินดีช่วยเหลือ พร้อมระบุว่า จากการตรวจสอบค่าความต้านทานพบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของการไฟฟ้า

12511881_10153540946887909_1213228795_n
ไฟดูด

ทาง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเอง จึงสั่งการให้สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. เร่งดำเนินการตรวจสอบเสาของกล้องทีวีวงจรปิดดังกล่าวว่า มีการรั่วจริงหรือไม่ พร้อมกำชับให้มีการตรวจสอบเสาติดตั้งกล้อง CCTV ทุกพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ที่มีอยู่มากกว่า 10,000 เสา และติดตั้งกล้องกว่า 50,000 ตัว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

แม้ในตอนแรกทางกทม.จะออกมาปฏิเสธว่า ไม่พบไฟรั่วบริเวณที่ชายคนดังกล่าวเสียชีวิต แต่หลังจากทำการตรวจสอบโดยละเอียด นายทวีศักดิ์ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จุดเกิดเหตุมีการรั่วจริง แต่ยังไม่ทราบว่ามาจากอุปกรณ์ชิ้นใด

แต่แล้วก็เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง หลังมีข่าวลือออกมาว่าทาง กทม. ส่งเจ้าหน้าที่ลุยตรวจเสากล้อง CCTV โดยใช้วิธีทดสอบด้วยการไม่สวมใส่รองเท้า ใช้เท้าแตะพื้นดิน แล้วเอามือจับที่เสาไฟ ทำให้ผู้คนออกมาวิจารณ์ว่า หากมีการใช้วิธีการดังกล่าวจริงดูจะเป็นเรื่องที่เสี่ยงและไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

cats
กล้อง CCTV

ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ม.ค. นายทวีศักดิ์ ออกมายืนยันชัดเจนว่า การตรวจสอบของกทม.ได้ใช้วิธีการใช้อุปกรณ์ตรวจสอบรูปแบบมาตรฐาน คือการวัดกระแสไฟฟ้าด้วยเครื่องโอห์มมิเตอร์ในการวัดเท่านั้น และทางกทม.ไม่ได้มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่วัดกระแสไฟฟ้า ด้วยการถอดรองเท้า และกอดเสาไฟเพื่อวัดความปลอดภัยใด ๆ ทั้งสิ้น

พร้อมย้ำ การทำงานของกทม.ยึดหลักความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และประชาชนเป็นหลักอยู่แล้ว ซึ่งกรณีที่มีภาพปรากฎในโซเชียลมีเดีย ว่ามีเจ้าหน้าที่กอดเสาไฟกล้องซีซีทีวีนั้น เป็นเพียงการถ่ายภาพของเจ้าหน้าที่เอง

จากกรณีข่าวที่เกิดขึ้น ผู้คนจำนวนไม่น้อยคงมีความตื่นกลัว เรื่องของการถูกไฟฟ้าดูดไฟฟ้าช็อต ดังนั้น MThai News ได้นำวิธีป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าดูด รวมถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากพบว่ามีคนใกล้ตัวกำลังประสบเหตุไม่คาดคิด

วิธีการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าดูด

– หมั่นตรวจเช็คอุปกรณ์และสายไฟ และควรซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด
– บริเวณที่วางสายไฟ ไม่ควรให้สิ่งของที่หนักไปทับ และวางให้พ้นทางเดิน
– เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ควรจะเปียกน้ำ
– ห้ามซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเองโดยที่ไม่มีความรู้
– ไม่ควรใช้ไฟฟ้าหลายอย่างกับปลั๊กไฟตัวเดียว
– ต่อสายดินเพื่อจะให้ไฟลงดิน
– และควรติดตั้งเครื่องตัดไฟฟ้าลัดวงจรภายในบ้าน เพื่อความปลอดภัยและเป็นการป้องกันที่ดี

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

1. ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากบริเวณที่ถูกไฟดูด ไฟช๊อตให้เร็วที่สุด และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องป้องกันอันตรายไฟฟ้าดูดจากผู้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้วย ซึ่งบ่อยครั้งพบว่าผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือกลับไม่ได้ระวังตรงจุดนี้จนถูกกระแสไฟฟ้าดูดเสียชีวิตไปด้วย

เมื่อพบแหล่งไฟฟ้ารั่ว ควรพยายามหาทางตัดวงจรไฟฟ้าเสียก่อน ซึ่งส่วนใหญ่มักลืมตัดไฟฟ้าที่ลัดวงจร หรือผู้ที่ถูกไฟฟ้าแรงสูงดูด และมีสายไฟพาดผ่านตัว ต้องหาวัสดุที่เป็นฉนวนไม่นำกระแสไฟฟ้า เช่น ไม้เขี่ย หรือผ้า เพื่อนำสายไฟนั้นให้พ้นจากตัวผู้ป่วยก่อนที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ควรใช้มือเปล่า หรือส่วนของร่างกายที่ไม่มีฉนวนหุ้มถูกต้องกับตัวผู้ป่วยหรือสายไฟ

นอกจากนี้ต้องพยายามตรวจดูให้ละเอียดว่าบาดแผลซึ่งเกิดร่วมกับผู้ป่วยที่ถูกไฟฟ้าดูด เช่น อาจพลัดตกจากที่สูง มีบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือกระดูกส่วนต่าง ๆ หักหรือไม่ อย่าง กระดูกคอ กระดูกแขนขา หรือกระดูกสันหลัง เพราะหากไม่ระมัดระวังในจุดนี้และทำไม่ถูกต้องในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากที่เกิดเหตุ อาจทำให้เกิดความพิการอัมพาตตามมาได้

2. ตรวจดูว่าหัวใจยังเต้นอยู่หรือไม่ เพราะกระแสไฟฟ้าแรงสูงที่ไหลผ่านหัวใจ อาจทำให้คลื่นหัวใจหยุดเต้นได้ โดยใช้นิ้วมือคลำดูจากการเต้นของชีพจรบริเวณคอ ถ้าหัวใจหยุดเต้น ต้องทำการนวดหัวใจไปพร้อม ๆ กับการผายปอด

3. หลังจากช่วยเหลือผู้ป่วยออกมาได้แล้วให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

ข้อห้ามที่ไม่ควรทำเมื่อช่วยเหลือ

ห้ามเข้าไปช่วยผู้ถูกไฟฟ้าช๊อต จนกว่าจะแน่ใจได้ว่าผู้บาดเจ็บมิได้สัมผัสกับสายไฟฟ้าหรือตัวนำไฟฟ้าใด ๆ ถ้าจำเป็น ต้องหาวัสดุที่เป็นฉนวนไม่นำกระแสไฟฟ้า เช่น ไม้เขี่ย หรือผ้ามาเขี่ยสายไฟออกจากผู้บาดเจ็บก่อน ถ้าผิวหนังผู้ที่จะช่วยนั้นเปียกชื้น

ห้ามเข้าไปช่วยเพราะอาจเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าและถูกไฟฟ้าดูดได้ ถ้าไม่แน่ใจว่าจะปลอดภัยหรือไม่ในการเข้าไปช่วยเหลือ เนื่องจากไม่มีความรู้ในการตัดกระแสวงจรไฟฟ้าหรือวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ให้รีบตามคนมาช่วย

MThai News