ใครกันจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี?
แม้ปัจจุบันจะมีการประกาศผลคะแนนการเลือกตั้งส.ส. 100% อย่างไม่เป็นทางการแล้ว แต่ข้อสงสัยที่เกิดขึ้นมากมายก็ยังตามมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากฝากฝั่งของพรรคการเมืองที่ร่วมกันสนับสนุน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี หรือจากทางฝั่งของพรรคพลังประชารัฐ ที่อยากให้รอผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการออกมา รวมทั้งกระแสของจำนวนที่นั่งส.ส. ที่เปลี่ยนไปมา ไม่นิ่ง จนหลายฝ่ายลุ้นกันตัวเกร็งว่า สุดท้ายแล้ว ใครจะได้เป็นนายกฯ คนต่อไปของประเทศไทย
ไม่ได้เป็น ส.ส. จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไหม?
ประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 88 กำหนดว่า เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ส. ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่า จะเสนอให้ ส.ส. เพื่อพิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง
และให้ กกต. ประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ พรรคการเมืองที่ลงสนามเลือกตั้งจะเสนอรายชื่อแค่หนึ่งหรือสองคนก็ได้ หรือจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลเพื่อเป็นนายกฯ ของพรรคเลยก็ได้ โดยก่อนการเลือกตั้งทางพรรคเพื่อไทยได้ยื่นแคนดิเดตนายกฯ 3 คน คือ
- คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
- นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
- นายชัยเกษม นิติสิริ
ซึ่งแม้ว่าพรรคเพื่อไทย ได้เสียงข้างมากในส่วนของ ส.ส.เขตไป 137 เขตเลือกตั้งไปอย่างท่วมท้น แต่นั่นก็ส่งผลกระทบตีกลับมา เนื่องจากจำนวน ส.ส. เขตที่ได้มากเกินกว่า จำนวน ส.ส.พึงมี เป็นเหตุให้ จำนวนที่นั่ง ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยเป็นศูนย์ คุณหญิงสุดารัตน์เอง เธอเป็นทั้งผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่ออันดับ 2 ของพรรค และเป็น 1 ในแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย
และทั้ง 2 แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเป็นผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ มีเพียงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เท่านั้นที่ไม่สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ คุณหญิงสุดารัตน์ ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ และมีสิทธิ์เป็นนายกฯได้ เนื่องจากพรรคได้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ไปแล้วตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง
ซึ่งทางพรรคพลังประชารัฐเอง ก็ได้ยื่นแคนดิเดตนายกฯ คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียว และพลเอกประยุทธ์ ก็ไม่ได้สมัครเป็น ส.ส. แต่อย่างใด ซึ่งก็มีสิทธิ์ที่จะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หากพรรคพลังประชารัฐได้จัดตั้งรัฐบาล
ใครจะได้เป็นรัฐบาล?
หลังจากผ่านการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.2562 ไปเกือบ 5 วันแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าใครจะได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลตัวจริง ทางฝั่งพรรคเพื่อไทยที่ได้ ส.ส. 137 เขตเลือกตั้ง ยืนยันว่า ฝั่งตนคือฝั่งที่ได้เสียงข้างมาก โดยเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2562 พรรคเพื่อไทยได้มีการตั้งโต๊ะแถลงประกาศเจตนารมณ์จัดตั้งรัฐบาลร่วมกันกับอีก 6 พรรคการเมือง คุณหญิงสุดารัตน์ ยืนยันว่า จะทำตามสัญญาประชาคม และเจตนารมณ์ของประชาชนที่ได้เลือกพวกตนมา แม้ตัวเลขยังไม่นิ่ง แต่ก็มั่นใจว่าต้องได้ไม่ต่ำกว่า 255 เสียงแน่นอน
ทางฝั่งพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งนับว่าเป็นอีกพรรคหนึ่งหมายมั่นปั้นมือว่า จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ได้ออกมาแถลงตอบโต้ในวันเดียวกัน โดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า การรวมเสียงของพรรคพลังประชารัฐ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการหารือกับพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อดำเนินการไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล
จุดยืนของพรรคพลังประชารัฐคือ จะรอให้ผลคะแนนเลือกตั้ง ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการออกมาก่อน จึงจะเป็นข้อยุติในการดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล
พรรคมีจุดยืนชัดเจนที่จะยังไม่พูดถึงการจัดตั้งรัฐบาล เพราะในเรื่องของคะแนนยังไม่เป็นที่ยุติ กกต. ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐ ต้องดำเนินการหารือกับพรรคอื่นต่อไป
ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า
ประชาชนเลือกพรรคพลังประชารัฐ 7.9 ล้านคน ถือว่ามีสิทธิมีเสียง การแถลงของพรรคหนึ่งพรรคใดที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ต้องเคารพเสียงของประชาชน 7.9 ล้านเสียงด้วย ประชาธิปไตยที่แท้จริงคือเคารพเสียงทุกคน เคารพเสียงทุกเสียง แล้วมองเสียงอื่นไม่ใช่ประชาธิปไตยได้อย่างไร อย่านำคำว่าประชาธิปไตยมาสร้างความแตกแยกให้ประชาชนหรือความขัดแย้งในสังคมอีกเลย
วันนี้ ไม่มีฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายเผด็จการ และยืนยันว่าบุคคลที่เหมาะสมในสถานการณ์ขณะนี้คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนประชาธิปไตยเพื่อประชาชน พยายามให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ไม่สร้างวาทกรรมแบ่งแยกให้เกิดความรู้สึกเป็นคนละฝั่งคนละฝ่าย ตอกย้ำความแตกแยกของประเทศ
ทำอย่างไรถึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี
กว่าจะเป็นนายกฯ ในครั้งนี้ได้ จะต้องมีเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 376 เสียง โดยมาจาก
- ส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 250 คน เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา
- ส.ส. และ ส.ว.ทั้งหมด ลงมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คนจาก 750 คน
( ส.ส. จำนวน 500 คน และ ส.ว. อีก 250 คน)
จะเห็นได้ว่า ส.ว.เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในเส้นทางสู่เก้าอี้นายกฯ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เขียนบทเฉพาะกาลไว้ในมาตรา 272 ให้ ส.ว. ทั้ง 250 คน มีสิทธิ์ในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ด้วย
นั่นหมายความว่า ผู้มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ คือ ส.ส. จากการเลือกตั้ง 500 คน และ ส.ว. จากการแต่งตั้งอีก 250 คน รวมแล้ว 750 คน ผู้ที่จะเป็นนายกฯ ได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะต้องได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของสภาร่วมของ ส.ส. และ ส.ว. หรือต้องได้เสียงสนับสนุนอย่างน้อย 376 เสียงจาก จำนวนเต็ม 750 เสียงของสองสภาฯ
ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
สำหรับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีสาระสำคัญของกฎหมายลูกถึงประเด็น ส.ว. ในวาระเริ่มแรก โดยกำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก ส.ว. จำนวน 250 คน ตามที่มาตรา 90 กำหนด ดังนี้
- ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกส.ว. ด้วยวิธีการเลือกกันเองของผู้สมัครทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ให้ได้จำนวน 200 คน ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่เลือกตั้ง ส.ส.ไม่น้อยกว่า 15 วัน และส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้ คสช.เป็นผู้เลือกให้เหลือ 50 คน
- ให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว.คัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศ จํานวนไม่เกิน 400 คน และเสนอให้คสช.เลือกให้เหลือ 194 คนเช่นกัน ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่ช้ากว่า 15 วันก่อนวันเลือกตั้ง ส.ส.
- ให้ผู้ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง รวม 6 คน
ซึ่งจากที่มาของ ส.ว. ในครั้งนี้ จึงนำมาด้วยข้อกังขาจากพรรคการเมืองอีกฝากฝั่งเป็นอย่างมาก เพราะ คสช. เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก ส.ว. ทั้งหมด และ แม้ว่า จำนวน ส.ส. ของฝั่งที่สนับสนุน คุณหญิงสุดารัตน์ จะรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งนึ่งของสภาล่าง ท้ายที่สุดก็ยังต้องใช้คะแนนเสียงจากสภาสูง คือ ส.ว.อีก 250 คน เข้ามาร่วมโหวตเลือกนายกฯ อยู่ดี ถึงจะได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศ
จำนวน ส.ส. หรือคะแนนเสียง มากถึงจะมีสิทธิ์ตั้งรัฐบาล!!
แม้ว่า ในฝั่งของพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส. แบบแบ่งเขตฯ ถึง 137 ที่นั่ง มากสุดเป็นอันดับ 1 แต่มีคะแนนรวม 7.9 ล้านเสียง (ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการจาก กกต.) จะมั่นใจว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และการที่ตนมีจำนวน ส.ส.มากที่สุด เป็นอันดับ 1 ถือเป็นสิทธิที่จะจัดตั้งรัฐบาล
ด้าน พรรคพลังประชารัฐ เองก็ยืนยันว่า อยู่ระหว่างดำเนินการหารือกับพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อดำเนินการไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล พร้อมระบุว่า การที่ทางพรรคได้คะแนนรวมมากที่สุด 8.4 ล้านเสียง (ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการจาก กกต.) ถือว่ามีสิทธิมีเสียง ทั้งนี้พรรคพลังประชารัฐ ได้ส.ส. 97 เขตเลือกตั้ง
เรื่อง Popular Vote หรือคะแนนรวมมากสุด จนอาจจะทำให้หลายๆ คนนึกถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2559 ซึ่งขณะนั้น ฮิลลารี คลินตัน แคนดิเดตพรรคเดโมแครต ได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตจากคนอเมริกันมากกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จากรีพับลิกัน แต่ท้ายที่สุด ฮิลลารี คลินตัน ก็แพ้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นประธานาธิบดี เพราะการเลือกประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่ได้นับที่คะแนนป๊อปปูลาร์โหวต แต่นับคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง หรือ Electoral Vote
พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ออกมาแสดงความเห็นเรื่องของการใช้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตในการจัดตั้งรัฐบาลไว้ว่า ใครที่ยืนยันว่า
จะใช้ป๊อปปูลาร์โหวตให้เป็นความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล ขอให้ทบทวนคำพูดกันใหม่ ประเทศไทยใช้ระบบรัฐสภา ใช้การเลือก ส.ส. เป็นการแสดงความต้องการทางการเมือง แม้ระบอบประธานาธิบดีอย่างสหรัฐฯ ก็ใช้คณะผู้เลือกประธานาธิบดีที่ใช้เสียงข้างมากในแต่ละรัฐมาเลือกแล้วไปโหวตให้ผู้สมัครฯ เป็นประธานาธิบดีเหมือนกัน
ดังนั้น แม้นางฮิลลารี คลินตัน ได้ ป๊อปปูลาร์โหวตมากกว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่ได้เป็นประธานาธิบดี ซึ่งปัญหาสำคัญที่สุดในตอนนี้คือ การรณรงค์ใช้ป๊อปปูลาร์โหวต เป็นสิ่งที่อาจจะผิดมารยาททางการเมืองหรือไม่ การแถลงหรือการสนับสนุนแนวทางเช่นนี้ จะเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องระวังให้มาก
ป๊อปปูลาร์โหวตจัดตั้งรัฐบาลได้ไหม
ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นในเชิงวิชาการ 3 ข้อ เกี่ยวกับการอ้างคะแนน Popular Vote ของพรรคพลังประชารัฐเพื่อการจัดตั้งรัฐบาลว่าไม่สอดคล้องกับหลักวิชาดังนี้
1. “ระบอบประชาธิปไตยระบบผู้แทน” หรือ “Representative democracy” ซึ่งรัฐธรรมนูญไทยได้มีการรับรองไว้ เป็นระบอบที่ถือเอา “ผู้แทนประชาชน” (Representative) เป็นสำคัญ หาใช่ “ระบอบประชาธิปไตยทางตรง” หรือ “Direct democracy” ที่ถือเอาการแสดงออกของตัวประชาชนโดยตรงเป็นสำคัญ
การกล่าวอ้างถึงความชอบธรรมว่า มีคะแนนเสียงของประชาชนที่เลือกพรรคพลังประชารัฐมาโดยตรงมากกว่าพรรคอื่นจึงเป็นการอ้างถึงระบอบการปกครองที่ผิดฝาผิดตัว อีกทั้งยังสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นมากมายหากพรรคอื่นๆ จะมีการกล่าวอ้างเช่นเดียวกัน เช่น พรรค ก. ได้คะแนน Popular vote ในกรุงเทพฯ หรือภาคเหนือ ฯลฯ มากที่สุดย่อมมีความชอบธรรมในการดูแลกรุงเทพฯ หรือภาคเหนือ ฯลฯ มากกว่าพรรคอื่น
ทั้งหมดจะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยก ที่สะท้อนถึงความไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองที่ถูกต้อง ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตยในระบบผู้แทนจึงต้องยึดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก
2. การกล่าวอ้างถึงเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเชื่อมโยงกับระบบเลือกตั้ง (Voting system) ที่ไม่ต้องการให้มีการเทคะแนนเสียงทิ้งน้ำนั้นถือเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ในทางกลับกัน การที่พรรคพลังประชารัฐใช้เหตุผลของการนำเอาทุกคะแนนเสียงที่เลือกพรรคตนเพื่อสร้างความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล โดยหาได้ให้ความสำคัญกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น กลับชี้ให้เห็นถึง “ข้อบกพร่องของระบบการจัดสรรปันส่วนผสมเอง” ที่ก่อให้เกิดสภาวะเช่นนี้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การที่ผลคะแนน Popular vote ไม่สอดคล้องกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเป็นเรื่องของระบบเลือกตั้งที่มีการออกแบบและบังคับใช้ที่ไม่ได้ตามเป้าประสงค์ของผู้ออกแบบระบบเลือกตั้ง
3. การให้พรรคที่ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งมากที่สุดอันดับ 1 ทำการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว แม้จะมิได้มีการบัญญัติไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ถือเป็น “ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ” หรือ “Constitutional convention” ซึ่งอาจเรียกเป็นภาษาพูดว่า “มรรยาททางการเมืองสากล”
ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรแบบประเทศสหรัฐอเมริกาก็ดี ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย หรือประเทศที่ไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรแบบประเทศอังกฤษก็ดี ก็ปฏิบัติกันมาเช่นนี้ ดังนั้น การที่จะฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมทางการเมืองข้างต้นจึงเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ไม่เหมาะสมยิ่ง
เช็กเสียง 2 ขั้ว พรรคเพื่อไทย VS พรรคพลังประชารัฐ
เรามาเช็กกันว่า 2 ขั้วพรรคการเมืองใหญ่ ที่ต่างฝ่ายต่างเดินหน้าจะจัดตั้งรัฐบาลว่าตอนนี้เขามี ส.ส.ในมือกันแล้วจำนวนเท่าไหร่
ฝั่งพรรคเพื่อไทย รวมคะแนนเสียง 254 ที่นั่ง
# | พรรค | ส.ส.แบบแบ่งเขต | ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ | รวม |
---|---|---|---|---|
1 | เพื่อไทย | 137 | 0 | 137 |
2 | อนาคตใหม่ | 30 | 58 | 88 |
3 | เสรีรวมไทย | 0 | 11 | 11 |
4 | ประชาชาติ | 6 | 0 | 6 |
5 | เพื่อชาติ | 0 | 5 | 5 |
6 | พลังปวงชนไทย | 0 | 1 | 1 |
7 | เศรษฐกิจใหม่ | 0 | 6 | 6 |
ฝั่งพรรคพลังประชารัฐ รวมคะแนนเสียง 124 ที่นั่ง
# | พรรค | ส.ส.แบบแบ่งเขต | ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ | รวม |
---|---|---|---|---|
1 | พลังประชารัฐ | 97 | 21 | 118 |
2 | พลังประชาชาติไทย | 1 | 5 | 6 |
พรรคการเมืองขั้วที่ยังไม่แสดงจุดยืนอย่างเป็นทางการ จะเลือกข้างฝ่ายใด (ตัวแปรสำคัญ)
# | พรรค | ส.ส.แบบแบ่งเขต | ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ | รวม |
---|---|---|---|---|
1 | ประชาธิปัตย์ | 33 | 21 | 54 |
2 | ภูมิใจไทย | 39 | 13 | 52 |
3 | ชาติไทยพัฒนา | 7 | 4 | 11 |
4 | ชาติพัฒนา | 1 | 3 | 4 |
5 | รักษ์ผืนป่า | 0 | 1 | 1 |
6 | พลังท้องถิ่นไท | 0 | 2 | 2 |
7 | พลังชาติไทย | 0 | 1 | 1 |
*** สำหรับตัวเลขส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นเพียงการคำนวณจากคะแนนดิบ ยังไม่ใช่คะแนนอย่างเป็นทางการ
จำนวนตัวเลข ส.ส. ที่แสดงนี้ คงมีเพียง ส.ส.แบ่งเขตเท่านั้นที่เป็นเลขเดียวที่นิ่งสุด ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ในส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นเพียงการประเมินตามสูตรอ้างอิงวิธีคิดตามข้อมูลของ กกต. แต่ยังคงต้องรอการประกาศรายชื่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะประกาศอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562
หากคุณหญิงสุดารัตน์ขึ้นเป็นนายกฯ จะเผชิญอะไรบ้าง?
แม้ฝั่งพรรคเพื่อไทยจะมี ส.ส. ที่รวมกับพรรคการเมืองอื่นที่สนับสนุนตนแล้วประมาณ 254 เสียง แต่ก็ยังขาดเสียงสนับสนุนอีก 122 เสียง ถึงจะได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งของสภาร่วม เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้ถูกเสนอให้เป็นนายกฯ ต้องได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของสภาร่วม ส.ส. และ ส.ว. หรือต้องได้เสียงสนับสนุนอย่างน้อย 376 เสียงจาก จำนวนเต็ม 750 ทำให้เสียงของ ส.ว. 250 เสียงจึงเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ
แก้รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ง่าย!!
ส.ว.ชุดนี้ มีอำนาจหน้าที่มากพอสมควร จากการที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เคยออกมาย้ำจุดยืนว่า ตนต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ดูไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการแก้ไขได้นั้น ต้องให้ ส.ว.ยินยอมก่อน หรือการจะแก้ไข รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องได้รับเสียงเห็นชอบ จากสมาชิกวุฒิสภา ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 การกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
ซึ่งการลงมติรับรองร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องกระทำใน 3 วาระ
- ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะผ่านวาระนี้ ต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสภาร่วม ส.ส. และ ส.ว. รวมกันอย่างน้อย 376 เสียง และในวาระ 1 นี้ รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดไว้ด้วยว่า ต้องมี ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของที่มีอยู่ในวุฒิสภา เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว หรือต้องมี ส.ว. เห็นด้วยในวาระที่ 1 นี้อย่างน้อย 84 เสียง
- ในวาระที่ 2 เป็นการพิจารณารายมาตรา
ได้กำหนดหลักเกณฑ์การออกเสียงในวาระนี้ไว้ว่า ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ นั่นก็คือต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ ส.ว. รวมกันอย่างน้อย 376 เสียง
- ในวาระที่ 3 (วาระสุดท้าย)
ซึ่งเป็นการออกเสียงโหวตว่า จะให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขออกใช้เป็นกฎหมายหรือไม่ ในวาระนี้ ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการเห็นชอบใน 2 วาระแรกมาแล้ว ก็ยังต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ส. และ ส.ว. รวมกันอย่างน้อย 376 เสียง
หากต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ ทุกอย่างต้องผ่านขั้นตอนที่กล่าวมาทั้งหมด และกรณีที่ผ่านการเห็นชอบทั้ง 3 วาระแล้วร่างรัฐธรรมนูญ จะถูกประกาศให้ใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขต่อไป
นอกจากนี้แล้วยังมีหน้าที่อะไรอีกบ้าง ที่อาจจะทำให้ขั้วของเพื่อไทย ต้องคิดหนัก
นอกจาก ส.ว. จะมีหน้าที่โหวตเลือกนายกฯ ได้แล้ว ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งถือเป็น ส.ว.ชุดแรกนี้ ยังคงมีอำนาจหน้าที่ในสภาอีก
- กลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)
พิจารณา/ยับยั้งร่างกฎหมายพิจารณาพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ - ตรวจสอบและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี ขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้คณะรัฐมนตรีชี้แจงข้อเท็จจริงโดยไม่มีการลงมติ - เลือกนายกฯ
หน้าที่สำคัญ ส.ว.ชุดแรก : สำหรับอำนาจ หน้าที่ของ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ส.ว.เฉพาะกาล หรือ สมาชิกวุฒิสภาชุดแรก มีหน้าที่ที่สำคัญ ซึ่งสืบเนื่องมาจากคำถามพ่วงประชามติคือ การมีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี - ติดตามแผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ: สมาชิกวุฒิสภา จะเป็นส่วนหนึ่งในกลไกควบคุม รัฐบาลให้บริหารประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องแถลงนโยบาย เสนองบประมาณประจำปีให้สอดคล้องกับตัวยุทธศาสตร์ คสช. และรัฐบาลต้องแจ้งผลดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ คสช. ทุกสามเดือนต่อรัฐสภา
- ให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
โดยมีอำนาจให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการในองค์กรอิสระ และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน - ตรวจสอบนักการเมืองเพิ่มเติม
คือให้ สมาชิกวุฒิสภา 1 ใน 10 สามารถเข้าชื่อร้องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยการสิ้นสุดการเป็นสมาชิกภาพ ว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม รวมทั้ง สมาชิกวุฒิสภา 1 ใน 10 สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบการเสนอ แปรญัตติ หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินงบประมาณของนักการเมืองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม เพื่อพิจารณาให้พ้นจากตำแหน่งและเพิกถอนสิทธิลงเลือกตั้ง อีกทั้งถ้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้กระทำหรือมีส่วนรู้เห็นแต่มิได้ยับยั้ง ก็สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้ ครม. พ้นจาก ตำแหน่งไปทั้งคณะได้ - หากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องให้สมาชิกวุฒิสภา ยินยอมก่อน
การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องได้รับเสียงเห็นชอบ จากสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 การกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ดังที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้
หากพลเอกประยุทธ์ขึ้นเป็นนายกฯ ต้องเจออะไรบ้าง?
แม้ว่า ในฝากฝั่งของพรรคพลังประชารัฐ จะมีจำนวนส.ส. ยังไม่ชัดเจนว่า จะได้เท่าไหร่ จะได้พรรคใดมาร่วมสนับสนุนบ้าง แต่ถ้าประเมินกันอย่างง่ายๆ ว่า ณ ตอนนี้ ขั้วของพรรคเพื่อไทยนั้น มี ส.ส. ไม่ต่ำกว่า 255 ที่นั่ง จึงมีจำนวน ส.ส. ที่เหลือ อีก 245 ที่นั่ง (เป็นฐานเสียงที่ชัดเจนแล้วว่า สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ 124 เสียง)
หากนับรวมจำนวน ส.ว. ทั้ง 250 เสียงในการโหวตเลือกพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯ ( รวม 495 เสียง) ก็ยังมีความเป็นไปได้ในการที่ พลเอกประยุทธ์ จะก้าวขึ้นไปดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ หากแต่การดำเนินการบริหารบ้านเมือง จะไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิดแน่นอน ด้วยสภาวะของการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย
ปัญหาตามมาได้เนื่องจากการพิจาณาพระราชบัญญัติ หรือการบริหารราชการแผ่นดินอีกหลายอย่าง ที่สภาสูงไม่ได้อยู่ในขั้นตอนที่จะร่วมลงคะแนนเห็นชอบได้ เช่น การแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร การพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ส. มากถึง 250 คนขึ้นไป จะทำได้ยากขึ้น
หรือเพียงแค่อีกฝ่ายหนึ่งยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพียงเท่านี้ สถานการณ์ของการเป็น รัฐบาลเสียงข้างน้อย ก็อาจจะกลายเป็นหอกข้างแคร่ ที่ถูกหยิบขึ้นมาสั่นคลอนตำแหน่ง นายกฯ ได้ไม่ยาก
ท้ายที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร
แม้ทาง กกต.จะออกมาประกาศผลคะแนนรวมของแต่ละพรรคการเมืองมาแล้ว แต่ก็เป็นเพียงคะแนนดิบ 100% อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเราสามารถนำคะแนนดิบนั้นไปคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้คร่าวๆ แต่ท้ายที่สุดเรายังคงต้องรอผลสรุปและการประกาศชื่อ ส.ส.อย่างเป็นทางการจาก กกต.อีกครั้งในวันที่ 9 พ.ค. 2562
ไม่มีอะไรการันตีได้ว่า ส.ส.เขตที่ถูกประกาศชื่อว่าชนะเขตนั้นๆ หรือส.ส.บัญชีรายชื่อที่เราคาดการกันไว้ จะได้เป็นตัวแทนของพรรค เพราะหากตรวจสอบพบว่า มีทุจริตการเลือกตั้ง กกต. จะสามารถแจกใบแดง และอาจถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่
ดังนั้น ตราบใดที่จำนวนส.ส. ยังคงไม่ชัดเจน และทั้งสองฝ่าย ยังมีคะแนนเสียงในสภาห่างกันไม่มากนัก สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็จะยังคลุมเครือต่อไป จนกว่า จะมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการออกมานั่นเอง
ระหว่างนี้ หน้าที่ของประชาชนคงจะทำได้เพียงตรวจสอบ และหวังว่า ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะนำมาสู่การพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศ มากกว่า ผลประโยชน์-การต่อรองเก้าอี้ รมต. กระทรวงต่างๆ หรือการนำผลของการเลือกตั้งในมุมหนึ่งมุมใด มาใช้ในการสร้างเงื่อนไข หรือ สร้างความแตกแยกในสังคมเหมือนที่ผ่าน ๆ มา
………………………….
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม:
- เรื่องต้องรู้ของสมาชิกวุฒิสภา(สว.)ชุดแรก – สภาผู้แทนราษฎร โดยนางสาวอัญมณี สัจจาสัย วิทยากรชำนาญการพิเศษ (หน้าที่ ส.ว.)