เผยภาพสยอง คุณตาถูกฝูงผึ้งรุมต่อยทั่วใบหน้า เต็มไปด้วยเหล็กใน แต่กลับรอดชีวิตมาได้หลังเพื่อนบ้านช่วยทัน
วันนี้ (29 มี.ค. 2562) โลกออนไลน์ได้มีการส่งต่อภาพสุดสยองของชายสูงวัยคนหนึ่ง ที่ถูกฝูงผึ้งรุมต่อยที่ใบหน้า จนปูดบวมแถมฝังเหล็กในอยู่ทั่วใบหน้า โชคดีที่คุณตาคนดังกล่าวได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที จนไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต
โดยเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านผู้ใช้เฟซบุ๊ก วรเทพ ครุธฉ่ำ คนจิตอาสา ที่ระบุข้อความว่า ออกเหตุมาก็เจอแทบจะทุกอย่าง แต่เหตุนี้ทำให้เราใจหายและสงสารตาอย่างที่สุด ผึ้งรุมต่อยแกจนแทบไม่เห็นหน้าตามีแต่ตัวผึ้งเต็มหน้าเลย ขอให้หายไวๆ นะครับตา
ส่วนสาเหตุนั้นคาดว่าเป็นเพราะมีคนเผาตอซังข้าวในนา จนทำให้ควันลอยลอยไปที่รังผึ้ง ทำให้ฝูงผึ้งบินออกจากรังช่วงที่คุณตาเดินออกมาพอดี และรุมต่อยจนมีสภาพอย่างที่เห็น
ขณะที่คุณตาคนดังกล่าวมีชื่อว่า นายบพิตร ชนะพาล อายุ 85 ปี ชาวบ้าน จ.ชัยภูมิ ขณะนี้ได้รับการช่วยเหลือปลอดภัยแล้ว แต่ยังคงอยู่ในดูแลของแพทย์เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนได้
สำหรับการปฐมพยาบาลรักษาอาการผึ้งต่อยเบื้องต้น เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด สามารถทำได้ดังต่อไปนี้
- หากเหล็กในอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัด ผู้ป่วยควรพยายามบีบผิวโดยรอบเพื่อดันเหล็กในออกมาให้เร็วที่สุด
- ล้างทำความสะอาดผิวบริเวณที่ถูกผึ้งต่อยด้วยสบู่และน้ำสะอาด
- ใช้น้ำแข็งหรือผ้าเย็นวางประคบในบริเวณนั้น
- หากถูกผึ้งต่อยบริเวณแขนหรือขา ให้ยกแขนหรือขาขึ้น หรือวางแขนขาไว้บนระดับที่สูงกว่าปกติ
- หากสวมใส่เครื่องประดับอยู่ ให้ถอดเครื่องประดับออก เพราะอาจเกิดอาการบวมจนยากต่อการถอดเครื่องประดับในภายหลัง
- ไม่เกาบริเวณที่ถูกผึ้งต่อย เพราะจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง และเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- บรรเทาอาการปวดด้วยการรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน แอสไพริน (ห้ามใช้แอสไพรินในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปีเด็ดขาด)
- รักษาอาการที่เกิดบนผิวหนัง เพื่อลดอาการบวมแดงและอาการคัน ด้วยการทายาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) คาลาไมน์ (Calamine) ผสมเบกกิ้งโซดากับน้ำเปล่า หรือรับประทานยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) เช่น ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) หรือ คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine)
ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที โดยแพทย์อาจใช้วิธีการรักษาอาการ ดังนี้
- ให้ยาหรือฉีดยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) และคอร์ติโซน (Cortisone) เพื่อลดอาการแพ้ที่เกิดขึ้น และอาการอักเสบภายในทางเดินหายใจ ลดภาวะหลอดลมตีบ หรือมีเสมหะในทางเดินหายใจจากฮีสตามีน
- ฉีดเอพิเนฟรีน โดยเฉพาะในรายที่มีปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) เพื่อรักษาและลดการเกิดอาการแพ้ที่เป็นอันตราย
- พ่นยาขยายหลอดลม (Beta agonist) เช่น อัลบูเทอรอล เพื่อบรรเทาอาการหลอดลมตีบจากปัญหาการหายใจ
- ให้ออกซิเจน แพทย์อาจต้องให้ออกซิเจนเพื่อช่วยในการหายใจแก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาการหายใจอย่างรุนแรงจากอาการแพ้
- ทำซีพีอาร์ หรือปฏิบัติการช่วยชีวิต (Cardiopulmonary Resuscitation: CPR) ในผู้ป่วยที่หยุดหายใจ
- แพทย์อาจฉีดสารภูมิคุ้มกันบำบัดให้ ซึ่งผู้ป่วยต้องมาฉีดเรื่อย ๆ ทุก 2-3 ปี เพื่อรักษาและลดปฏิกิริยาตอบสนองต่อพิษจากเหล็กในผึ้ง
ข้อมูลข่าวบางส่วนจาก pobpad.com