เปิดภาพเตือนภัย เด็กเกิดโรคท้องป่อง อุจจาระเล็ด เหตุจากกลั้นอุจจาระนานๆ ระหว่างเล่นเกมส์มือถือ
วันนี้ (29 มี.ค. 2562) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ได้มีการโพสต์ภาพและข้อความเตือนใจเป็นอุทาหรณ์ให้เด็กที่มีพฤติกรรมติดเกมส์มือถือพึงระวัง หากปวดท้องหนักอย่าอั้นอุจจาระนานๆ เพราะเสี่ยงเกิดโรค ท้องผูกเรื้อรัง จนท้องป่อง อุจจาระเล็ดได้ โดยผู้โพสต์ได้มีข้อความระบุว่า
ท้องผูกเรื้อรัง จนท้องป่อง อุจจาระเล็ด จากภาวะติดเกมส์
เด็กชายอายุ 7 ขวบ มาโรงพยาบาลด้วยประวัติว่า มีอุจจาระเล็ดออกมาร่วม 6 เดือนแล้ว วันละ 4-5 ครั้ง มีอาการท้องป่อง เบื่ออาหาร บางครั้งถ่ายออกมาโดยไม่รู้ตัว ซักประวัติครอบครัวพบว่า พ่อแม่แยกทางกัน เด็กน้อยอยู่กับคุณย่า และพบว่า เด็กติิดเกมส์ที่เล่นบนมือถือด้วย
คุณหมอชุติมา พัฒนาพิศาลศักดิ์ กุมารแพทย์คนเดียวของโรงพยาบาลจะนะ เจ้าของไข้ ได้ตรวจผู้ป่วย คลำท้องได้เป็นลำๆ ผลการตรวจเลือดนั้นปกติ เอ็กซเรย์ท้องเห็นเหมือนมีก้อนแข็งๆ ทั่วท้องไปหมดตามแนวลำใส้ (ดังภาพแรก) เด็กน้อยได้รับการวินิจฉัยโรคว่า มีภาวะ Bowel incontinence หรือภาวะที่กั้นอุจจาระไว้ไม่ได้ และแพทย์ได้รับตัวไว้นอนในโรงพยาบาล
ภาวะ bowel incontinence มีได้สาเหตุเช่น
1. จากภาวะทางกาย เช่นโรคทางระบบประสาท สมอง หรือการบาดเจ็บของบริเวณรูก้น
2. จากสภาวะทางจิต เช่นความเครียด ปัญหาสุขภาพจิต
3. จากภาวะท้องผูกเรื้อรัง (chronic constipation) ซึ่งพบได้มากที่สุดถึงราว 85% ของคนที่มีภาวะอุจจาระเล็ดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง
สำหรับเด็กน้อยรายนี้ สรุปว่ามีภาวะท้องผูกเรื้อรังจากปัญหาครอบครัว และทำให้ติดเกมส์ เด็กกลั้นอุจจาระจนเป็นนิสัย จนเกิดภาวะท้องผูกเรื้อรัง จากภาพเอ็กซเรย์พบว่ามีอุจาระแข็งอยู่ในลำใส้ใหญ่จำนวนมากตลอดแนวลำใส้ใหญ่
คุณหมอชุติมาจึง admit ให้เด็กนอนโรงพยาบาล เพื่อสวนทวารจัดการกับอุจาระที่คั่งค้างอยู่ 2 วัน ฝึกเด็กให้สร้างนิสัยการขับถ่ายใหม่ (bowel habit) โดยให้นั่งโถหลังทานอาหารมื้อเช้าและเย็นแล้ว 15 นาที เป็นเวลา 5-10 นาที รวมทั้งสอนและจูงใจให้เด็กทานผักผลไม้ และยังได้ขอให้คุณพ่อ กอดเด็ก พูดคุยกับเด็กบ่อยๆ เพื่อสร้างความรักความอบอุ่นให้กลับคืนมาสู่ครอบครัวนี้
ผลการนอนโรงพยาบาลสามวัน เด็กถ่ายออกจากจนหมดท้อง (ดังในภาพที่ 3) ท้องยุบลงจนเป็นปกติ เด็กมีความสุขขึ้นมาก เข้าใจพิษภัยของเกมส์ และกุมารแพทย์ให้กลับบ้านได้
ภาวะท้องผูกเรื้อรังกับเด็กติดเกมส์ เป็นอีกปรากฏการณ์ที่พบได้ในสังคม 4.0 ครับ
ปล.ขอบคุณภาพและเรื่องราวการรักษาอันน่าสนใจยิ่งจาก พญ.ชุติมา พัฒนาพิศาลศักดิ์ กุมารแพทย์หนึ่งเดียวของโรงพยาบาลจะนะครับ ผมเพียงทำหน้าที่เป็นโทรโข่งเท่านั้นเอง