ชาวบ้านร้องเครื่องบินขึ้นลงทำบ้านแตกร้าว ทั้งบ้านชั้นเดียว และบ้านสองชั้น ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักมายาวนานไม่ต่ำกว่า 5 – 6 ปี จากการขึ้นลงของเครื่องบินที่สนามบินตรัง
วันที่ 29 มีนาคม 62 ตัวแทนชาวบ้านชุมชนบ้านหัวสนามบิน หมู่ที่ 12 ต.โคกหล่อ อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งมีบ้านเรือนตั้งอยู่ติด และใกล้กับสนามบินตรัง นำผู้สื่อข่าวเข้าไปสำรวจบ้านเรือนของตนเอง บ้านญาติ ๆ และบ้านเพื่อนบ้าน ทั้งบ้านชั้นเดียว และบ้านสองชั้น ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักมายาวนานไม่ต่ำกว่า 5 – 6 ปี จากการขึ้นลงของเครื่องบินที่สนามบินตรัง ซึ่งอยู่ติดกัน
ทั้งนี้ทำบ้านแตกร้าวลึก และบางจุดที่เป็นรอยต่อของบ้านจะแยกออกจากกัน ตั้งแต่บนดาดฟ้า ลงหลังคา และร้าวลึกแตกลงมาจนถึงฝาผนังบ้าน และลึกลงดิน ขณะที่ฝ้าเพดาน ประตู หน้าต่าง หลุดแตกแยกพังเสียหาย บางหลังผนังบ้านแตกแยกออกจากกันจนสามารถที่พังทับลงมาได้ทุกเมื่อ เมื่อฝนตกฟ้าเพดานรั่วน้ำก็นองเต็มบ้าน ต้องจัดหากะละมังไปวางเอาไว้รองรับน้ำฝน แต่ส่วนใหญ่ตกหนักก็รองไม่ทัน
อีกทั้งคราบเขม่าน้ำมันจากเครื่องบินก็เกาะเสื้อผ้าที่ตาก ทำชาวบ้านทั้งหมดเดือดร้อนหนัก วอนไปยังกรมท่าอากาศยานช่วยทำการเวนคืนที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวไปทั้งหมดด้วย เพราะเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมลภาวะทางเสียงจากการขึ้นลงของเครื่องบิน โดยทั้งหมดยืนยันว่าปัญหาบ้านแตกร้าว ชำรุด มาเกิดหนักประมาณ 5 -6 ปี ที่ผ่านมา ขณะที่ท่าอากาศยานตรังเพิ่มจำนวนเที่ยวบินเป็นวันละประมาณ 10 เที่ยว
ทั้งนี้ นางสาวศิริพร ณ นคร อายุ 35 ปี กล่าวว่า เดือดร้อนอย่างหนัก โดยชาวบ้านทั้งหมดยินดีให้มีการปรับปรุงพัฒนาสนามบินตรัง เพราะเล็กจริงๆ โดยชาวบ้านเห็นด้วยไม่ได้คัดค้านการก่อสร้าง แต่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาดูชาวบ้านทั้งหมดในบริเวณนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงด้วย เพราะที่ผ่านมาพวกเราไม่เคยได้รับการดูแล แต่พวกเราได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งจากเสียงดังรบกวนจากเครื่องบิน แรงสั่นสะเทือนของบ้านเรือนเวลาเครื่องบินขึ้นลง คราบน้ำมันที่มากับฝุ่นละออง จนตากผ้าอ้อมเด็กยังไม่ได้ และยังมีคนแก่ เด็กเล็ก ที่นอนไม่หลับจากปัญหาขณะเครื่องบินขึ้นลง
โดยเจ้าของบ้านแต่ละหลังเสียเงินซ่อมแซมบ้านแตกร้าวไปแล้วจำนวนมาก จนบางหลังปล่อยทิ้งแล้ว เพราะหากซ่อมไปก็เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ เพราะปัญหายังคงมีอยู่ วอนให้ช่วยเหลือชาวบ้านด้วย ซึ่งในการที่กรมท่าอากาศยานเรียกประชุมชาวบ้าน เพื่อศึกผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางพวกตนก็ได้เสนอปัญหาไปแล้ว แต่ได้รับคำตอบว่าไม่มีเงิน อยู่นอกพื้นที่เวนคืน จึงทำให้เวนคืนไม่ได้ ส่วนการเรียกร้องให้เยียวยาก็ไม่ได้รับความสนใจ ทั้งนี้ ชาวบ้านต้องการให้ท่าอากาศยานตรัง ช่วยมาเวนคืนที่ดินไปด้วย
ขณะที่นางณี กกแก้ว อายุ 65 ปี (ป้าในห้องน้ำ) กล่าวว่า รั้วกำแพงสนามบินติดบ้านตนเองเลย เสียงและแรงสั่นสะเทือนทำให้ฝาหนังห้องครัวแยกออกจากตัวบ้าน และเตรียมจะพังทลายลงมา ตนเองไม่กล้าอยู่ในห้องครัวกลัวฝาพนังบ้านจะล้มทับเอา ส่วนพนังห้องน้ำก็แยกออกจากตัวบ้าน จนต้องไปหากระดาษหนังสือพิมพ์ชุบน้ำมาอัดปิดร่องรอยแยกไว้ เพราะกลัวจะมีคนเห็นเวลาเข้าห้องน้ำ วอนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเวนคืนที่ดินและบ้านเรือนไปด้วย เพราะหากยังอยู่เมื่อขยายสนามบินจะยิ่งเดือดร้อนหนัก
ด้านนางสมศรี เงินศรี อายุ 57 ปี ตัวแทนชาวบ้าน ก็กล่าวว่า ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้มีจำนวน 30 ครัวเรือน หรือประมาณ 100 คน เดือดร้อนอย่างหนักมาไม่ต่ำกว่า 5 – 6 ปี ที่ผ่านมาเคยร้องเรียนพร้อมรายชื่อชาวบ้านที่เดือดร้อนไปยังผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรังมาแล้วหลายครั้ง ก็ไม่ได้รับการแก้ไข ขณะเดียวกันเมื่อมีการเรียกประชุมเพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมชาวบ้านก็ไปฟังและเสนอปัญหาด้วย ก็มีการรับเรื่องไป แต่ไม่มีคำตอบว่าจะได้รับการแก้ไขปัญหาหรือไม่
ชาวบ้านทั้งหมดต้องการให้ท่าอากาศยานตรังมาทำการเวนคืนที่ดินไปด้วย พร้อมจะย้ายออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ ไม่ต้องการการเยียวยา เพราะหากเยียวยาแต่ชาวบ้านยังต้องอยู่บ้านหลังนี้ ซึ่งเป็นมรดกและเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องปัญหาก็ยังคงมีอยู่ และที่สำคัญเมื่อทางราชการมีแผนจะขยายสนามบิน ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ นอกจากเดือดร้อนจากเสียง แรงสั่นสะเทือนแล้ว ยังจะต้องเดือดร้อนจากปัญหาการก่อสร้างอื่นๆอีก เพราะบ้านเรือนอยู่ติดสนามบิน จึงวอนขอไปยังอธิบดีกรมท่าอากาศยานให้ช่วยเวนคืนไปด้วย