ก่อนหน้านี้ เคยมีกระแส กรณีที่วัยรุ่นนิยมนำยาเม็ดชนิดหนึ่ง ซึ่งมีไว้สำหรับใช้ระงับประสาท มาบดผสมกับเครื่องดื่ม โดยจะทำให้ไม่มีสีไม่มีกลิ่น เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะเกิดอาการเมา และไม่มีสติ
ทั้งนี้ เกิดกรณีข้อสงสัย เกี่ยวกับข่าวที่สาวประเภทสอง นามว่า กั้ง โซฮอต หรือ นายยลดา จำปาศรี ก่อเหตุสังหารสุนัขพันธุ์ชิวาวา ด้วยการจับโยนลงมาจากแมนชั่น ชั้น 5 จนตาย ซึ่งหนึ่งในบทสนธนาระหว่างที่เจ้าของสุนัข และจำเลย ถกเถียงกันขณะไกล่เกลี่ยที่ สน.วังทองหลาง มีการอ้างถึง สาเหตุที่ทำให้ผู้ก่อเหตุขาดสติ ว่าเป็นเพราะการ ‘กินแมว’ หรือไม่
ศัพท์ ‘ยาแมว’ หรือ ‘กินแมว’ เป็นพฤติกรรมที่วัยรุ่นนำยาชนิดหนึ่ง ซึ่งมีชื่อตามภาษาทางแพทย์ว่า Alprazolam เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 4 วิธี โดยทั่วไป ใช้สำหรับรักษาอาการวิตกกังวล สงบระงับ และช่วยให้นอนหลับ หากใช้ขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน จะสามารถทำให้ติดยาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งถ้าหยุดยาทันทีจะเกิดอาการขาดยาหรือถอนยา เช่น คลื่นไส้ นอนไม่หลับ มือสั่น หัวใจเต้นเร็ว ซึมเศร้า เป็นโรคจิต หรืออาจถึงกับชักได้
ห้ามใช้ร่วมกับเครื่องดื่มมึนเมาทุกชนิด เพราะจะเสริมฤทธิ์นานขึ้น รวมถึงมีชื่อทางการค้ามีหลายอย่าง แต่วัยรุ่นทางภาคเหนือ นิยมเรียกกันในกลุ่มว่า ‘แมว’ ซึ่งเป็นศัพท์ที่รู้กันในสถานบันเทิงต่าง ๆ
ยาชนิดนี้สามารถซื้อได้ที่ร้านขายยาใน ราคาเม็ดละ 20 บาท ซึ่งเคยเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มวัยรุ่นเพราะมีราคาถูก อีกทั้งไม่ต้องใช้ผสมควบคู่กับเหล้าหรือเบียร์ แต่ออกฤทธิ์ได้เป็นเวลานาน
คำเตือนหรือข้อควรระวังในการใช้ยาชนิดดังกล่าว
1. อาจทำให้ง่วงซึมไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือ ในที่สูง
2. ห้ามดื่มสุรา หรือสิ่งที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่
3. อาจเกิดผลตรงข้ามกับฤทธิ์ของยาที่ให้ (paradoxical reaction)
4. อาจทำให้เกิดความผิดปกติของเม็ดเลือด ตับ หรือไตได้
5. สตรีมีครรภ์ สตรีระยะให้นมบุตร โรคต้อหิน โรคไมแอส ตีเนียแกรวีส (myasthenia gravis) โรคพอร์ไฟเรีย (porphyria) หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ควรใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ
6. ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน นอกจากแพทย์สั่ง
7. หากใช้ร่วมกับยาอื่น เช่นยากดหรือกระตุ้นประสาท ยาคุมกำเนิด ยาต้านฮิสตามีน รวมทั้ง cimetidine ควรปรึกษาแพทย์
8. หากมีอาการนอนไม่หลับ ประสาทหลอน พฤติกรรมผิดปกติ กล้ามเนื้อเปลี้ย หรือมีไข้ ควรหยุดใช้ยาทันทีและรีบปรึกษาแพทย์
อย่างไรก็ตาม การกำกับดูแลตามกฎหมายระบุไว้ว่า
เดิมยานี้จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ จากการที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุออกฤทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 ซึ่งยกระดับการควบคุมอัลปราโซแลม (alprazolam) จากวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง กำหนดชื่อและปริมาณวัตถุออกฤทธิ์ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาทันตกรรม (ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม) หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ ชั้นหนึ่ง (ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง) มีไว้ ในครอบครองได้โดยไม่ต้องขออนุญาตพ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพทุกรายต้องขอรับใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ จึงจะมีไว้ในครอบครอง alprazolam ได้ โดยประกาศฯ ทั้งสองฉบับ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป
ขอบคุณข้อมูลจาก กองควบคุมวัตถุเสพติด