เปิดชื่อกิจการในการดูแลของ “เจ้าสัวเจริญ” เจริญ สิริวัฒนภักดี ชายผู้ได้ฉายาเจ้าพ่อน้ำเมา-ราชาเทกโอเวอร์เมืองไทย หลังปิดดีลสนั่นตลาดหุ้นคว้าบิ๊กซีมาครอบครองสำเร็จ
จากกรณีที่เกิดเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ อย่างกว้างขวางในวงการธุรกิจไทยตลอดทั้งวันของวันนี้ (8 ก.พ. 59) ภายหลัง นาย เจริญ สิริวัฒนภักดี หรือที่รู้จักกันในนาม “เจ้าสัวเจริญ” เจ้าของอาณาจักรทีซีซี คอร์ปอเรชั่น และไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้บรรลุข้อตกลง ทำสัญญาเทกโอเวอร์ห้างสรรพสินค้าดังอย่างบิ๊กซี จากบริษัทฝรั่งเศสภายใต้ชื่อ “คาสิโนกรุ๊ป” ด้วยมูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาทสำเร็จ ซึ่งจากดีลดังกล่าวก็ทำให้ฉายา “ราชาเทกโอเวอร์ของเมืองไทย” ชัดเจนเป็นตัวตนของ “เจ้าสัวเจริญ” มากยิ่งขึ้น
“เจ้าสัวเจริญ” มีชื่อ-นามสกุลว่า “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ชื่อจีน “โซวเคียกเม้ง” เกิดและเติบโตในย่านธุรกิจทรงวาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไชน่าทาวน์ โดยในช่วงวัยเด็ก “เจ้าสัวเจริญ” จะทำการค้าขายของเล็กๆ น้อยๆ ควบคู่ไปกับการเรียนด้วย เมื่อเขา 11 ปี ได้รับจ้างเข็นรถส่งสินค้า ย่านสำเพ็ง ทรงวาด จากนั้นก็ขยับเป็นพ่อค้าหาบของขาย
ปี 2504 ได้เป็นลูกจ้างของชาวจีนที่อพยพมาอยู่เมืองไทยคนหนึ่ง ในบริษัทย่งฮะเส็ง และห้างหุ้นส่วนจำกัด แพนอินเตอร์ ที่จัดส่งสินค้าให้โรงงานสุราบางยี่ขั้น และเพียงปีเดียวเขาได้เป็น ”ซัพพลายเออร์” ให้โรงงานสุราบางยี่ขันเอง นำมาสู่การรู้จักกับนายจุล กาญจนลักษณ์” ผู้เชี่ยวชาญการปรุงรสสุรา
โดยเฉพาะสูตร ”แม่โขง” และคุ้นเคยกับเจ้าสัว เถลิง เหล่าจินดา” ผู้มีอำนาจในการจัดซื้ออุปกรณ์ทุกอย่างของโรงงาน โซเคียกเม้ง” กลายเป็นขุนพลคู่ใจของเจ้าสัวเถลิงในเวลาไม่นาน เพราะความอ่อนน้อมถ่อมตน และมีสัมมาคารวะ กลยุทธ์ แลเคล็ดลับในการทำธุรกิจสุราจึงเป็นของเขาในที่สุด เมื่ออยู่ในวงการของเจ้าสัวแล้ว จึงได้มีโอกาสพบกับ “วรรณา แซ่จิว” หรือปัจจุบันคือ “คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” (ภรรยาของเจ้าสัวเจริญ) บุตรสาวของเจ้าสัวกึ้งจู แซ่จิว
ปี 2518 บริษัทธารน้ำทิพย์ ผู้ผลิต “ธาราวิสกี้” ของ “พงส์ สารสิน” และ “ประสิทธิ์ ณรงค์เดช” ประสบภาวะขาดทุนและประกาศขาย กลุ่มเจ้าสัวเถลิงและ “เจริญ” จึงเข้าซื้อกิจการ ซึ่งก็คือบริษัทแสงโสมในปัจจุบัน
ปี 2529 “เจริญ” ที่ได้กลายเป็น “เจ้าสัว” ไปแล้ว ได้เข้าสู่ธุรกิจธนาคาร และการเงิน ด้วยความช่วยเหลือของ “พ่อตา” เข้าไปซื้อหุ้นในธนาคารมหานคร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ ซื้อหุ้นในบริษัทอาคเนย์ประกันภัย และอีกหลายกิจการ
ปี 2537 ซื้อกิจการกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียล ที่มีโรงแรมในเครือจำนวนมากจากนายอากร ฮุนตระกูล และจากนั้น “เจ้าสัวเจริญ” ก็ขยายธุรกิจอย่างไม่เคยหยุดยั้ง จนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยมีทายาท 5 คน พร้อมสานต่อ คือ อาทินันท์ วัลลภา ฐาปน ฐาปนี และปณต ภายใต้ปรัชญาการดำเนินธุรกิจที่เป็นเลื่องลือของ “เจ้าสัวเจริญ” คือ การซุ่มซ่อนยาวนาน สะสมทุน รอคอยโอกาส ที่สำคัญ “คุณธรรมน้ำมิตร” ที่ว่า “บุญคุณต้องทดแทน” ทำให้เส้นทางของ “เจ้าสัวเจริญ” ยังมีโอกาสอีกยาวไกล
ทั้งนี้นอกจากการรวมกิจการต่างๆ ข้างต้นแล้ว “เจ้าสัวเจริญ” ก็ได้เทกโอเวอร์กิจการต่างๆ เรื่อยมาตลอดการทำธุรกิจ ซึ่งที่ฮือฮาและถูกพูดถึงมากที่สุดไม่แพ้ดีลบิ๊กซีที่ปิดไปวานนี้ (7 ก.พ. 59) นั้น ก็คือการเทกโอเวอร์ โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) ของ ตัน ภาสกรนที ปี 2549, หุ้นยูนิเวนเจอร์ (UV) ปี 2550, ตึกเนชั่น เมื่อปี 2551, และบริษัทเสริมสุข ปี 2553 เป็นต้น
ส่วนผลิตภัณฑ์ภายใต้กิจการของ “เจ้าสัวเจริญ” ที่พบเห็นกันบ่อยเป็นประจำประกอบด้วย โออิชิ (ทั้งร้านอาหาร และเครื่องดื่ม), เบียร์ช้าง , สุราแสงโสม, Blend285, แรงเยอร์, est, รวมถึงแลนด์มาร์คดังริมเจ้าพระยาอย่างเอเชียทีค ล้วนแล้วเป็นของชายที่ชื่อว่า “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ทั้งสิ้น
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก wikipedia
ติดตามข่าวสารอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ news.mthai.com
MThai News