ไฟป่ายังโหมหนักในจังหวัดแม่ฮ่องสอน สูงสุดของภาคเหนือ พบ 407 จุด ขณะที่ค่าควันพิษพุ่งทะยาน 245 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
วันที่ 31 มี.ค.62 ที่ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจากไฟป่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รายงานจุดความร้อน จากข้อมูลดาวเทียมระบบ VIIRS ตรวจพบจุดความร้อน Hotspot จำนวน 1,151 จุด 1. จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 407 จุด , 2. จ.เชียงใหม่ จำนวน 193 จุด , 3. จ.เชียงราย จำนวน 137 จุด , 4. จ.ลำปาง จำนวน 109 จุด , 5. จ.น่าน จำนวน 106 จุด , 6. จ.ตาก จำนวน 77 จุด , 7. จ.แพร่ จำนวน 50 จุด , 8. จ.พะเยา จำนวน 49 จุด และ 9. จ.ลำพูน จำนวน 23 จุด รวมทั้งหมด จำนวน 1,151 จุด
โดยจุดความร้อนของแม่ฮ่องสอน สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของภาคเหนือ . ข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) สะสมตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม ถึง 29 มีนาคม 2562 มีการตรวจพบ จุดความร้อน 772 จุด ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขณะที่ปี 2561 ในช่วงเวลาเดียวกันพบจุดความร้อน (hotspot) 554 จุด ซึ่งพบว่า ในปีนี้ จุดความร้อนได้เพิ่มสูงมากกว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งเป้าหมายการปฏิบัติงาน ว่าจะไม่ให้จุดความร้อนเกินกว่าปี 2561 และจะไม่มีการยกเลิกเที่ยวบิน
ทั้งนี้เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ ต.จองคำ อ.เมือง, แม่ฮ่องสอน พบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่า 245 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังพบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) มีค่า 284 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ยกเลิกเที่ยวบินที่ลงแม่ฮ่องสอนกว่า 80 เที่ยว
ด้านท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน รายงานสถานการณ์การยกเลิกเที่ยวบินของเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ว่า เครื่องบินของสายการบิน บางกอกแอร์เวย์ที่ให้บริการระหว่าง เชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน , สายการบินนกแอร์ ที่ให้บริการระหว่าง กรุงเทพ ฯ – แม่ฮ่องสอน และ สายการบินวิสดอมแอร์เวย์ ที่ให้บริการระหว่างเชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน ได้ทำการยกเลิกเที่ยวบินไปแล้วทั้งหมด 80 เที่ยวบิน โดยแยกเป็น สายการบินบางกอกแอร์เวย์ ยกเลิก 56 เที่ยวบิน , สายการบินนกแอร์ ยกเลิก 6 เที่ยวบิน และ สายการบิน RPS SYSTEM หรือ วิสดอมแอร์เวย์ ยกเลิก 18 เที่ยวบิน
ล่าสุดพบว่าได้มีบทความของผู้ใช้เฟซบุ้กที่ใช้ชื่อว่า Chidchanok Ruengorn มีข้อมูลที่ออกมาชี้ประเด็นเพิ่มเติมหลังจากมีการเอ่ยถึง “เห็ดถอบ” ว่าเป็นสาเหตุของปัญหาไฟป่าในครั้งนี้ โดยระบุว่า
อย่าโยนความผิดให้เห็ดถอบ วิชาระบาดวิทยากับปัญหาฝุ่นควัน
1. ปัญหาคืออะไร
- เกิดฝุ่นลอยรอบๆบริเวณภาคเหนือและพิสูจน์แล้วว่าขนาด PM 2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพ-เกิดเมื่อไหร่ ตอนไหน ที่ไหน pattern. เป็นอย่างไร เช่น สังเกตมาสามสัปดาห์ความรุนแรงจะมากที่สุดช่วงคืนวันศุกร์ ตลอดวันเสาร์ อาทิตย์ในระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน ที่รุนแรงขึ้นๆ
- ผลกระทบที่เกิดขึ้น ต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ที่เกิดทันที ระยะสั้นและในระยะยาว ที่ต้องพิสูจน์ว่าเกิดจากฝุ่น
- ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ ค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้น ในครัวเรือนค่าหน้ากาก เครื่องฟอกอากาศ ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล ค่าดับไฟป่าและอื่นๆ
2. สาเหตุคืออะไร
- เผาป่า ทำไมถึงเผา ไม่น่าใช่เอาเห็ดถอบอย่างเดียวหรอกมั๊ง นึกถึงเรื่อง waste จากการเกษตรของฤดูนี้เช่นจากอ้อย ข้าวโพด และอีกหลายอย่างที่มีนักวิชาการพูดถึงเกษตรพันธสัญญา และการเผาจากสาเหตุอื่น ลองมองในมุมเกษตรกรที่ต้องเลี้ยงปากท้อง ปัญหาจากนโยบายการจัดสรรกระจายรายได้ให้คนทั้งประเทศ ปัญหาซับซ้อนคงต้องใช้การเก็บข้อมูลแบบทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
- ไฟป่าตามธรรมชาติ
- ไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้าน
- ฝนไม่ตก อันนี้มาจากอะไรล่ะ โลกร้อนรึเปล่าโลกร้อนมาจากอะไรอันนี้คนพูดกันมาเยอะแล้ว
3. การแก้ปัญหาหรือ intervention
- อันนี้ทำรีวิวมาหน่อย จีน อินเดีย ประเทศที่เจริญแล้วที่ประสบปัญหาทำอย่างไร ถอดบทเรียนกันมา
- ถ้าพบสาเหตุจากการเผาไร่ กฎหมายคงต้องมา ในทุกมิติไม่น่าจะกับคนเผาอย่างเดียว ต้นเหตุเช่นนายทุนคงต้องมีกฎหมายกำกับไม่ใช่เอาแต่ข้าวโพดหรืออ้อยไปแล้วทิ้งปัญหาให้เกษตรจัดการต่อ
- ไฟป่าจากเพื่อนบ้าน อันนี้ต้องยกระดับเป็นปัญหาภูมิภาคอาเซียน ปีนี้เราเป็นประธานน่าจะใช้โอกาสนี้ยกปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นมาจัดการโดยเฉพาะเรื่องนี้
- วิชาการเรื่องเกษตร การทำพืชพันธุ์ให้เหลือ waste น้อยๆ
- สาเหตุจากเห็ดถอบคงมีส่วนบ้างแต่ถ้าใช้โมเดลเดิมๆจากอดีตจะเห็นว่าถ้าเผาเอาเห็ดถอบเราทนกันได้ในอดีตนะ ทีนี้จะทำยังไงลองคุยกันดูไม๊เพราะเห็ดถอบอาจจะเป็นมากกว่าเห็ดถอบในมิติอื่นทั้งวัฒนธรรมและสังคม
สรุปว่าแก้ให้ตรงเหตุให้รอบด้านปัญหาคงจะหมดไป ช้าหรือเร็ว
……………….
ขอบคุณ
- เฟซบุ้กChidchanok Ruengorn