ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยกรณี ม.44 ปิดเหมืองแร่ทองคำ ยังไม่จ่ายเงินค่าชดเชย ชี้จากข้อมูลนักวิชาการพบว่าบริษัทเหมืองแร่กระทำความผิดจริงชาวบ้านเดือดร้อน
วันนี้ (31 มี.ค.62) นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและประธานคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ชี้แจงว่า ตามที่มีประเด็นทางสื่อสังคมออนไลน์ที่ว่ามีการใช้ ม.44 ประกาศปิดเหมืองทองคำชาตรี เนื่องจากพบสารโลหะหนักปนเปื้อนสภาพแวดล้อมและชุมชน ซึ่งบริษัท คิงส์เกต พิสูจน์แล้วไม่จริง
รวมทั้งปรากฏเอกสารเผยแพร่ของบริษัท คิงส์เกต แจ้งว่ามีการบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการประนีประนอม โดยได้รับสินไหมทดแทนจากการประกันความเสี่ยงทางการเมืองและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
กรณีข้อพิพาทระหว่างไทยกับบริษัท คิงส์เกต นั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ขอเรียนว่า ประเด็นที่อ้างว่าบริษัท คิงส์เกต พิสูจน์แล้วไม่จริงนั้น ไม่เป็นความจริง ทั้งนี้การตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนโดยรอบพื้นที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุดรายงานผลการศึกษาโครงการ “การสำรวจตรวจสอบโอกาสการรั่วไหลของสารพิษจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) ของเหมืองทองคำ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จังหวัดพิจิตร” ซึ่งมี ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะ เป็นผู้ศึกษาโครงการ มีข้อบ่งชี้ว่า พบความผิดปกติทางความต้านทานไฟฟ้าแสดงถึงการรั่วไหลของน้ำเหมืองจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 และพบความผิดปกติของธรณีเคมีร่วมกับไอโซโทป โดยระบุว่ามีร่องรอยการไหลของน้ำเหมืองจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ไปถึงบ่อสังเกตการณ์ และบริเวณนาข้าวตามที่มีการร้องเรียนจากชาวบ้าน
ส่วนประเด็นการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันนั้น เป็นเรื่องของความตกลงระหว่างบริษัท คิงส์เกต กับบริษัทประกัน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องและไม่มีผลต่อแนวทางการต่อสู้และรูปคดีของฝ่ายไทยในชั้นอนุญาโตตุลาการ
สำหรับการดำเนินการระงับข้อพิพาทตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด นั้น ขอย้ำว่า ขณะนี้คณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด โดยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและที่ปรึกษากฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญในระดับสากล อยู่ระหว่างการต่อสู้และการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยยังไม่มีการตัดสินชี้ขาด
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า รัฐบาลมีความมั่นใจว่าการดำเนินการของรัฐบาลไทยเป็นการคุ้มครองประชาชนจากผลกระทบ เฉพาะหน้าด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนอย่างทันท่วงที เป็นไปตามมาตรฐานสากลสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมสู้คดีต่อไป และยังไม่มีการพิจารณาการจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด