ขณะที่หลายหน่วยงานกำลังระดมกำลังกันแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างเช่นการฉีดพ่นไล่ฝุ่น นักวิชาการเคมีมองว่าเป็นเจตนาดี แต่ยังแก้ไม่ตรงจุด ด้านผู้บริหารโรงเรียนการบินพร้อมสนับสนุนเครื่องบินเล็ก ขึ้นบินพ่นละอองน้ำลดวิกฤตฝุ่นละออง
รองศาสตราจารย์ วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความพยายามการแก้ไขปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว PM 2.5 ของกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่การใช้โดรนบินพ่นน้ำ ไม่ได้ช่วยให้ฝุ่นละอองขนาดจิ๋วลดลงมากนัก เพราะในชั้นบรรยากาศฝุ่นอยู่สูงกว่าขีดความสามารถที่โดรนจะบินขึ้นไปได้
การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่พอจะทำได้คือ การดูดฝุ่น PM 2.5 ลงแม่น้ำ เพราะเมื่อ PM 2.5 ละลายน้ำแล้วจะเปลี่ยนเป็นสารประกอบที่ปลอดภัย หรือการติดตั้งระบบ evaporative ริมถนน ซึ่งเครื่องดังกล่าวมีลักษณะตัวเครื่องเหมือนรังผึ้งที่มีน้ำไหลผ่าน และมีพัดลมดูดอากาศ ทำให้สามารถดักจับ PM 2.5 ได้
ขณะที่ในต่างประเทศ อย่างจีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ มีการติดตั้งเครื่องกรองอากาศขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้งบประมาณเครื่องละ 60 ล้านบาท ซึ่งรัศมีกว้างถึง 10 ตารางกิโลเมตร
อีกหนึ่งแนวทางที่กรุงเทพมหานครเตรียมดำเนินการร่วมกับโรงเรียนการบินกรุงเทพ คือการใช้เครื่องบินเล็ก 47 ลำ บินเป็นแถวครั้งละ 20 ลำ ครอบคลุมหน้ากระดาน 1 กิโลเมตร บรรจุน้ำได้เที่ยวละ 140 ลิตร ซึ่งสามารถสเปรย์เป็นละอองน้ำผ่านใต้ปีกเครื่องบินได้นาน 20 -30 นาที
โดยจะเริ่มปฏิบัติการในย่านพระราม2 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบกับปัญหาฝุ่นละอองค่อนข้างมากเป็นที่แรกในวันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ อย่างไรก็ตามหลังจากมีการบินกำจัดฝุ่นแล้ว ทาง กทม.ต้องเร่งทำความสะอาดพื้นถนนไม่ให้ฝุ่นกระจายตัวกลับมาอีก