ชวน หลีกภัย เผยเล่นการเมืองตลอด 70 ปี เพราะชื่นชมในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีใครชี้ให้ลงเล่น ยอมรับเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครมากเป็นประวัติศาสตร์
วันที่ 4 ก.พ. 2562 นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้สมัครบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ระหว่างที่เจ้าตัวนำผู้สมัคร ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ มาสมัครรับเลือกตั้ง หลังจากทาง กกต.เปิดรับสมัครในวันนี้เป็นวันแรก ว่า
วันนี้ ตนมาเป็นกำลังใจให้ว่าที่ผู้สมัคร ทั้ง 3 เขต พร้อมเป็นกำลังใจให้แก่นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ว่าที่ผู้สมัครบัญชีรายชื่อ เนื่องจากเขตลดไปจำนวน 1 เขต ตนคิดว่าเรามาทำงานการเมืองเพราะว่าเราชื่นชมระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
พรรคประชาธิปัตย์ก็ยึดแนวนี้มาตลอดระยะเวลา 70 กว่าปี ในฐานะนักการเมืองเราอาสาสมัครเป็นผู้แทน ตนก็ดีผู้สมัครทั้ง 3 เขตก็ดี มาด้วยความอาสาสมัครไม่ใช่ใครไปขอร้องให้มา เพราะฉะนั้นเมื่ออาสามาสมัครใจมาก็ตั้งใจทำงานเต็มที่เพื่อให้คนเลือก ไม่ใช่สมัยเดียวแต่ว่าทุกสมัยที่ลงเลือกตั้ง
เพราะฉะนั้นต้องยึดความซื่อสัตย์สุจริต ทำงาน ไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไรเราก็ทำหน้าที่ตลอดแม้กระทั่งในยุคที่ทหารยึดอำนาจมา เราก็ไม่ว่างเว้นที่จะดูแลชาวบ้านมีปัญหา อะไรที่ชาวบ้านร้องเรียนให้เขามาทำไม่ใช่ปล่อยปละละเลยว่าเมื่อไม่มีการเลือกตั้ง
เราก็ปล่อยไปไม่ใช่อย่างนั้นเพราะเรารู้ว่าในสภาถึงแม้ว่ามีสภามาจากแต่งตั้ง แต่สมาชิกสภาแต่งตั้งเขาก็หวังดีกับบ้านเมือง เขาไม่เข้าใจปัญหาชาวบ้าน แต่เขาไม่รู้ว่าชาวบ้านเป็นอย่างไรเพราะเขาฟังตัวเลขรัฐบาล แต่เรารู้ในฐานะที่เจ้าบ้านบอกเศรษฐกิจเติบโตเราก็รู้ว่าชาวบ้านจนลงกว่าเดิมมาก
นายชวน กล่าวว่า ตนเองได้ทำหนังสือไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึง 2 ครั้ง เพื่อให้รู้ว่าสถานการณ์ของเราเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่อยากให้ทราบว่าเมื่อเราชื่นชมเราพอใจระบบนี้เราต้องสนับสนุนโดยตลอด แต่ว่าการที่จะทำให้ไปรอดจริงๆ นั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญเป็นสาระสำคัญเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ผู้ปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นตอนที่เขาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เราจะเห็นได้ชัดว่าผู้ร่างเขาเชิญตน นายจุรินทร์ และนายราเมศ ไปและพูดให้เขาฟังว่าในความเห็นของพวกเรานั้นปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญตัวบทบัญญัติรัฐธรรมนูญไม่ใช่ตัวปัญหาแต่ว่าปัญหาเกิดที่ผู้ปฏิบัติ เหตุที่มีปัญหาเพราะผู้ปฏิบัติไม่ยึดหลักประชาธิปไตยที่แท้จริง
อย่างเช่นภาคใต้ไม่ยึดหลักถูกเป็นถูกผิดเป็นผิดไปใช้วิธีการนอกกฎหมาย ปัญหาต่างๆ จึงกลายเป็นประเด็นใหม่ขึ้นมา มีองค์กรใหม่เกิดมา ทำให้ภาคใต้เราไม่สงบ อย่าไปโทษประชาชนที่ชุมนุมเพราะถ้าไม่มีประชาชนที่ชุมนุมทรราชก็ครองเมืองตลอดไป
เพราะทรราชสามารถซื้อองค์กรต่างๆ ได้หมดแล้ว ไม่เว้นแม้กระทั่งสื่อก็ถูกซื้อเกือบหมดเพราะฉะนั้นคนที่ตรวจสอบดูแลความถูกต้องไม่มีใครกล้าพูดกล้าเถียง เพราะฉะนั้นประชาชนองค์กรสุดท้ายที่จะมาคุ้มครองประชาธิปไตย เราให้ความเคารพการคิดของประชาชนในเรื่องต่างๆ โดยเราต้องทำหน้าที่ตอบสนองและยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่มีผู้สมัครหมายพรรคและมีการแข่งขันสูง และหลังการเลือกตั้งจะมีปรากฏการณ์ทางการเมืองอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง
นายชวน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นผลมาจากตัวรัฐธรรมนูญที่เขียนใหม่ รัฐธรรมนูญปี 60 นั้นคำนวณให้ทุกคะแนนเสียงมีผลเพราะฉะนั้นทุกพรรคก็จะได้ผู้แทน สมมติได้จังหวัดนี้ 1,000 เสียงได้จังหวัดนู้น 2,000 เสียง รวมทั้ง 77 จังหวัดแล้วอย่างน้อยก็ต้องมีบัญชีรายชื่อ อาจจะไม่มีเขตเลือกตั้งเลยสักคนเดียว
แต่ว่าได้ระบบบัญชีรายชื่อมารวมแล้วก็จะมีผู้แทน 3 คน 4 คน 5 คน ก็จะมี ส.ส.ในสภาหลายพรรค แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีพรรคการเมืองถึง 104 กว่าพรรค แต่ว่าทราบว่าที่สามารถส่งได้จริงๆ คงไม่ถึง ประมาณไม่เกินครึ่งหนึ่งของพรรคการเมือง เพียงแต่ว่าจะมีมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่จำนวน เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญซึ่งต่างจากเดิมมาก
นายชวน กล่าวว่า ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น ต้องบอกประชาชนให้รู้ว่าเงื่อนไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร เขาต้องใช้ดุลยพินิจว่าต้องการให้การเมืองเป็นอย่างไร เช่น ต้องการให้มีพรรคการเมืองหลายพรรคไหม หรือต้องการให้พรรคการเมืองมีน้อยหรือให้สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หรือต้องการหลายพรรค เพื่อให้เกิดหลายความคิดความเห็นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของประชาชน แต่ผมเชื่อว่าในยุคสมัยนี้ไม่ง่ายนัก หากใครจะมาหลอกชาวบ้าน เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงประชาชนก็เก่งขึ้นฉลาดขึ้นรอบรู้มากขึ้น
“กระบวนการที่เราต่อต้านมาทุกครั้งเช่นระบบซื้อเสียง เจ้าหน้าที่จะได้ดูแลเชื่อว่ากกต.จะได้ดูแล ทั้งนี้ตนไม่ประเมินพรรคการเมืองอื่น แต่ตนคิดว่าประชาชนเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจ ซึ่งประชาชนก็ไม่ได้ยึดพรรคหนึ่งพรรคใดตลอดไปหรือตลอดชีวิต
ถ้าคนหนึ่งประพฤติไม่ได้ชาวบ้านเขาก็ใช้ดุลยพินิจดู เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นถ้านักการเมืองไม่ซื่อตรงต่อเขา ในเรื่องการประเมินยังประเมินได้ ในใจรอให้พรรคประกาศบัญชีรายชื่อและได้ประชุมร่วมกัน ขึ้นอยู่กับการบริหารพรรค และดูบรรยากาศการหาเสียงเป็นอย่างไร”