ผู้อำนวยการแอมนาสตี้ประเทศไทย กล่าวถึงกรณีภาพของนายฮาคีม อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรนถูกใส่โซ่ตรวน ถือเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ไทยที่ไม่เหมาะสม พร้อมทั้งเรียกร้องให้ส่งตัวฮาคีม กลับประเทศออสเตรเลีย แทนการส่งกลับประเทศบาห์เรน เพราะเกรงจะได้รับอันตราย
นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่ มีการแพร่ภาพนายฮาคีมอัลอาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรนถูกใส่ตรวน ขณะไปขึ้นศาลเพื่อขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ว่า จากภาพทำให้หลายหน่วยงานและองค์กร ตั้งคำถามถึงการใส่โซ่ตรวน ทำให้รู้สึกไม่สบายใจถึงภาพที่ออกมา ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ สามารถใช้ดุลยพินิจได้ว่าไม่จำเป็นต้องใช้โซตรวน
ทั้งนี้ ต้องมองในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ที่ควรจะได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่านี้ ซึ่งที่จริงแล้วนายฮาคีมไม่ควรโดนจับ เพราะเป็นผู้ลี้ภัยของประเทศออสเตรเลีย และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งกลับไปที่ประเทศบาห์เรน เพราะตามหลักสิทธิมนุษยชนไม่ควรส่งกลับไปยังพื้นที่ที่จะส่งผลอันตรายถึงชีวิต ส่วนกรณีที่การถูกจับกุมของนายฮาคีมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของไทยแล้ว
จากนี้จะต้องดูว่าทนายของนายฮาคีมจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ก็ต้องการให้ผู้ที่สนับสนุนและสนใจในประเด็นนี้ช่วยกันลงชื่อ และรณรงค์ เพื่อยื่นต่อทางการไทยให้ปล่อยตัวนายฮาคีม ตั้งเป้าไว้ที่หนึ่งแสนรายชื่อ
ขณะนี้ได้รายชื่อแล้วกว่า 5 หมื่นรายชื่อ อย่างน้อยถือเป็นการให้กำลังใจแก่นายฮาคีม และ หน่วยงานที่รณรงค์ในเรื่องนี้ ส่วนทางออกที่ดีที่สุดคือการให้นายฮาคีมกลับไปยังประเทศออสเตรเลีย เพื่อหาครอบครัวตามหลักสิทธิมนุษยชน และ เพื่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย
กรมราชทัณฑ์ ชี้แจง ‘ฮาคีม’ แค่ใส่กุญแจเท้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2562 พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีที่สื่อมวลชนเผยแพร่ภาพและข่าวให้เข้าใจว่า นายฮาคีม อัล – อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ถูกใส่ตรวนขณะไปขึ้นศาลเพื่อขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ว่า กรณีดังกล่าว เป็นกุญแจเท้าไม่ใช่ตรวนอย่างที่เข้าใจกัน
ซึ่งเป็นระเบียนขั้นตอนปกติที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์สามารถกระทำได้ตามพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 21 ข้อ (4) ความว่า “เมื่อผู้ต้องขังถูกคุมตัวไปนอกเรือนจำและเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่ควบคุมเห็นเป็นการสมควรที่จะต้องใช้เครื่องพันธนาการ”
ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่เรือนจำในการพิจารณาใส่เครื่องพันธนาการเป็นเรื่องที่ผู้ควบคุม เห็นแล้วว่าผู้ต้องขังรายนี้เป็นที่สนใจของสังคม และมีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่จึงพิจารณาเห็นสมควรใส่กุญแจข้อเท้า ซึ่งเป็นพันธนาการอย่างหนึ่งตามกฎหมาย
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า งานราชทัณฑ์เป็นงานสุ่มเสี่ยงที่จะถูกมองว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งใคร่ขอชี้แจงต่อสังคมว่า เรามีหน้าที่ควบคุมและเคลื่อนย้ายนักโทษ และผู้ต้องขังที่ถูกจำกัดอิสรภาพ หรือถูกคุมขังไว้ตามอำนาจศาล หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างราบรื่นเรียบร้อย มิให้มีการแหกหักหลบหนี จะปล่อยให้เดินลอยชายตามใจคงไม่สามารถทำได้
เนื่องจากหากผู้ต้องขังหลบหนีระหว่างการควบคุมก็จะเป็นภัยต่อสังคม และเจ้าหน้าที่ก็จะถูกตั้งกรรมการสอบ ข้อหาละเว้น หรือละเลย ดังนั้น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยพิจารณาจากกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้นอยู่แล้ว