ครม.เห็นชอบ มาตรการระยะเร่งด่วน ห้ามรถยนต์มลพิษสูงวิ่งในกทม.ชั้นกลาง-ชั้นนอก แก้ปัญหาฝุ่นละออง จ่อเพิ่มภาษีรถเก่า ลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า
รายงานข่าวแจ้งว่า วานนี้ (5 ก.พ. 2562) ที่ประชุมคระรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ตามที่กระทรวงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยให้แบ่งเป็น 3 ระยะได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว
ซึ่ง มาตรการระยะเร่งด่วน มีแนวทางการปฏิบัติ 3 ขั้นตอน คือ
1. เตรียมการ(ช่วงก่อนเกิดสถานการณ์ : ก.ย.-พ.ย.) ให้แก่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่กรุงเทพฯ และ 5 จังหวัดปริมณฑล จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมพร้อมเพื่อสั่งการ หากปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่มีปริมาณสูงขึ้น
2. ขั้นปฏิบัติการ (ช่วงเกิดสถานการณ์ : ธ.ค.-เม.ย.) เป็นการปฏิบัติการช่วงเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เกินมาตรฐาน ซึ่งได้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่างๆ โดยได้กำหนดระดับการยกระดับความเข้มข้นของมาตรการตามความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละอองเป็น 4 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละออง มีค่าไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้ส่วนราชการทุกหน่วยต้องดำเนินการตามภารกิจ เพื่อควบคุมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่จังหวัดต่างๆ ให้อยู่ในระดับปกติ
ระดับที่ 2 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีค่ามากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้ทุกส่วนราชการต้องดำเนินการเพิ่มและยกระดับมาตรการต่างๆ ให้เข้มงวดขึ้น
โดยผู้ว่าฯ กทม. และผวจ.ที่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพิ่มจุดตรวจจับควันดำเป็น 20 จุด เข้มงวดตรวจสอบตรวจจับรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพก่อนออกให้บริการ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่ให้มีรถควันดำวิ่งโดยเด็ดขาด ห้ามจอดในที่ห้าม ลากและปรับรถที่จอดผิดกฎหมาย
ปรับเปลี่ยนไปใช้น้ำมัน B20 ในรถโดยสารดีเซล การเฝ้าระวังและปฏิบัติการทำฝนเทียม ให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณาการทำงานที่บ้านและขอความร่วมมือจากบริษัทเอกชนให้ทำงานที่บ้านเช่นกัน
เข้มงวดตรวจโรงงานอุตสาหกรรมป้องกันและควบคุมการระบายฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมดูแลตรวจสอบอุปกรณ์และเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพตรวจสอบสภาพรถบรรทุกทั้งขาออกและขาเข้าโรงงานหยุดหรือลดกำลังการผลิต และห้ามรถยนต์ที่มีมลพิษสูงสัญจรในพื้นที่กรุงเทพชั้นกลางและชั้นนอก
ระดับที่ 3 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ยังไม่ลดลงและมีแนวโน้มสูงขึ้น หลังจากที่ได้มีการดำเนินการในระดับที่ 2 แล้ว ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีปัญหาฝุ่นละออง ใช้กฎหมายที่มีอยู่เข้าไปควบคุมพื้นที่หรือควบคุมแหล่งกำเนิดที่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญหรือมีผลกระทบต่อประชาชนเพื่อระงับยับยั้งสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
ระดับที่ 4 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ยังไม่ลดลง และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ และพิจารณากลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กโดยจะต้องนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาในการสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นแนวทางหรือมาตรการในการลดมลพิษ
มาตรการระยะกลาง (พ.ศ. 2562 – 2564) เป็นการลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิด โดยประกาศใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm พัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบ เร่งรัดแผนการเปลี่ยนรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯให้เป็นรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำ
พิจารณาปรับวิธีการและปรับลดอายุรถที่เข้ารับการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี พิจารณาการเพิ่มภาษีรถยนต์เก่า การลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า การซื้อ-ทดแทนรถราชการด้วยรถยนต์ไฟฟ้า และการจัดโซนนิ่งจำกัดจำนวนรถเข้าเมือง การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ เพิ่มพื้นที่สีเขียว พัฒนาศักยภาพท้องถิ่นในการดำเนินการติดตามการตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ และการควบคุมเป็นระบบ Single Command
มาตรการระยะยาว (พ.ศ. 2565 – 2567) เป็นการลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิด โดยปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน EURO 6
ห้ามนำเข้าเครื่องยนต์ใช้แล้วมาเปลี่ยนแทนเครื่องยนต์เก่าในรถยนต์ พัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบและครอบคลุมพื้นที่ กำหนดมาตรฐานระบายอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่า EU และ USA