ถูกสวมสิทธิ์ติดคุก เคราะห์ร้ายหรือช่องโหว่กฎหมาย หลังสาววัย 24 ถูกจับขังคุก เหตุเพราะบัตรประชาชนหาย
ข่าวสำคัญตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่สาววัย 24 ปี ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฉ้อโกงและถูกโยงว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำให้เธอต้องติดคุก ทั้งที่เธอถูกนำบัตรประชาชนที่ถูกขโมยไปเปิดบัญชี
ณิชา เกียรติธนะไพบูลย์ หรืออะตอม ต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฉ้อโกง เมื่อตำรวจพบว่าเธอ เปิดบัญชีและถูกโยงไปยังแก๊งต่างชาติ ที่หลอกเหยื่อให้ร่วมลงทุนซื้อที่ดิน โดยอ้างว่าให้ค่านายหน้า 30 ล้านบาท ก่อนจะมีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โทรมาหลอกว่าเป็นศุลกากรให้เหยื่อโอนเงินค่าธรรมเนียมภาษี เข้าบัญชีชื่อ นางสาวณิชา ผ่านธนาคาร 2 แห่ง รวมเป็นเงินกว่า 1,300,000 บาท ซึ่งเหยื่อก็หลงเชื่อก่อนจะรู้ตัวว่าถูกหลอกลวง จนกลายเป็น 1 ในหลักฐานที่ตำรวจนำมาดำเนินคดีกับเธอในครั้งนี้
แม้เธอจะยืนยันว่าหลักฐานบัตรประชาชน ที่ใช้เปิดบัญชีนี้ คือบัตรที่ถูกแก็งมิจฉาชีพขโมยไป ระหว่างนั่งรถโดยสารประจำทางเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผลเมื่อตำรวจไม่ปักใจ เธอจึงถูกออกหมายเรียกและหมายจับ นั่นจึงทำให้หญิงสาววัย 24 คนนี้ ต้องตกเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดตากถึง 3 วัน
ก่อนจะทำให้ทราบว่าบัตรประชาชนใบเดียวของเธอที่หาย ถูกนำไปเปิดบัญชี จากธนาคารทั้ง 7 แห่ง รวม 11 บัญชี ซึ่งเรื่องนี้เองจึงเป็นคำถามว่า เป็นความบกพร่องของธนาคารพาณิชย์ หรือเป็นเพราะกระบวนการกฎหมายที่ไม่รอบคอบ
ซึ่งจากเรื่องที่เกิดขึ้น สมาคมธนาคารไทย ชี้แจงถึงขั้นตอนการเปิดบัญชีแต่ละครั้ง ว่าประชาชนตัวจริงของลูกค้าจะถูกตรวจเช็คโดยเครื่องอ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเชื่อมกับระบบทะเบียนราษฎร์ เพื่อตรวจสอบข้อมูล รวมทั้งสังเกตภาพบนบัตรกับผู้ถือ ตั้งแต่รูปร่าง หน้าตาสีผิว แต่ก็ยอมรับว่า การเชื่อมระบบฐานข้อมูลและประวัติการอายัดบัตรแสดงตนแบบเรียลไทม์ ยังทำได้เฉพาะธนาคารของรัฐเท่านั้น
ขณะที่ด้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า หากธนาคารพาณิชย์ อยากทราบข้อมูลเชิงลึก ก็จะต้องมีโปรแกรมเชื่อมโยงกับกระทรวงฯ แต่จนถึงขณะนี้ ธนาคารที่ใช้ระบบการตรวจสอบมากที่สุดกลับเป็นธนาคารต่างชาติ
หากย้อนกลับไปดูคดีที่ เกิดขึ้นพบว่า ไมต่างจากพฤติกรรมของกลุ่มมิจฉาชีพที่หลอกให้ผู้เสียหายโอนเงิน
โดยกลลวงที่พบบ่อย คือกลุ่มมิจฉาชีพจะหลอกเหยื่อโอนเงินโดยอ้างว่าเหยื่อ ถูกอายัดบัญชีหรือเป็นหนี้บัตรเครดิต รวมถึงการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หลอกให้เหยื่อเชื่อว่าเป็นบัญชีตนเองผิดกฎหมาย ต้องโอนเงินมาให้ตรวจสอบ
จากข้อมูลของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ปี 2560 พบมี 267 บัญชี ที่ถูกล่อลวง โดยผู้ต้องหาส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ เช่นเดียวกับ ข้อมูลกรมการปกครองพบว่า แต่ละปีมีการแจ้งบัตรประชาชนหายกว่า 1 ล้านใบ และจำนวนนี้ แทบไม่ได้ถูกส่งคืน นั่นหมายถึง ความเสี่ยงสูงที่บัตรเหล่านี้ จะถูกนำไปใช้ทำธุรกรรมผิดกฎหมาย
แม้คดีของน้องณิชา จะยังไม่ได้ได้ข้อสรุป และตำรวจยืนยันว่าทำตามขั้นตอน แต่คงปฎิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์นี้ ถือเป็นความบกพร่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ที่ทำให้เธอต้องมาแบกรับกรรมจากความผิดพลาดของระบบฐานข้อมูลไทย ที่ยังไม่มีใครพร้อมจะเยียวยาเธอ
ทีมข่าว MONO 29 รายงาน