ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประกาศวันเลือกตั้ง ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นรอบ 5 เดือน หลังวันเลือกตั้งชัดเจน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมกราคม 2562 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคเห็นว่า การกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเสถียรภาพทางการเมืองของไทยในอนาคต สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ…

Home / NEWS / ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นรอบ 5 เดือน หลังวันเลือกตั้งชัดเจน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมกราคม 2562 พบว่า

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคเห็นว่า การกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเสถียรภาพทางการเมืองของไทยในอนาคต สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเริ่มคลี่คลายลงและการที่นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย หลังจากประเทศไทยได้ยกเลิกค่าธรรมเนียมวีซ่า ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อในปัจจุบันกลับฟื้นตัวขึ้น และความเชื่อมั่นต่างๆ ในอนาคตเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 67.7 75.8 และ 98.7 ตามลำดับ โดยปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนธันวาคม 2561 ที่อยู่ในระดับ 66.3 74.6 และ 97.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก

การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีทุกรายการดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index : CCI) ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 79.4 มาอยู่ที่ระดับ 80.7 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปัจจุบัน สถานการณ์ทางการเมืองของไทย ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะเรื่อง Brexit ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังมีความเสี่ยงและความผันผวนสูง ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการโดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม