กลายเป็นแฮชแท็กฮิตติดเทรนด์ทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ สำหรับคำว่า #ทรงพระสเลนเดอร์ เพราะก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวลือว่าพระนาม ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล จะเข้ามาอยู่ในบัญชีรายชื่อเสนอเป็นนายกฯ ของพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้ชาวเน็ตต่างฮือฮาแสดงความคิดเห็นต่างๆ นานาเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่าจะเป็นจริงหรือไม่
ล่าสุด เช้านี้ แฮชแท็ก #ทรงพระสเลนเดอร์ ก็กลับมาแรงในโลกโซเชียลอย่างฉุดไม่อยู่อีกครั้ง เมื่อข่าวลือดังกล่าวกลายเป็นเรื่องจริง พรรคไทยรักษาชาติ ได้แถลงการณ์ เสนอพระนาม ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพียงรายชื่อเดียวต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)
หลายคนคงคุ้นชินกับคำว่า “ทรงพระเจริญ” มากกว่า “ทรงพระสเลนเดอร์” และยังคงสงสัยว่าคำนี้มาจากไหน ทำไมถึงต้องใช้กับทูลกระหม่อมหญิงฯ แทนคำว่าทรงพระเจริญ คำนี้มีที่มายังไง เราไปไขข้อสงสัยนี้กัน แล้วอย่าลืมติดแฮชแท็กให้ถูก #ทรงพระสเลนเดอร์
ก่อนหน้านี้ พระองค์ทรงให้สัมภาษณ์ในรายการ ทูบี นัมเบอร์ วัน วาไรตี้ ถึงเหตุผลของการใช้ทรงพระสเลนเดอร์เอาไว้ว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีเหตุผลในการทำสิ่งนั้นๆ อธิบายอย่างคร่าวๆ คำว่าทรงพระเจริญมันฟังดูไม่เป็นกันเอง ฟังแล้วเกร็ง รู้สึกห่างเหิน มันคือการพูดแบบนักการทูต ไม่ได้พูดแบบเราๆ
อีกเหตุผลที่ฟังดูเป็นเหตุผลเล่นๆ ก็เพราะว่าคำว่าทรงพระเจริญ เจริญแปลว่า ‘อ้วน’ ก็เลยให้พูดว่าทรงพระสเลนเดอร์หรือไม่พูดเลย ถ้าใครอยากพูดก็พูดว่าทรงพระสเลนเดอร์แทน เป็นการให้พรด้วย
นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล ยังทรงตอบประชาชนผ่านอินสตาแกรมส่วนพระองค์ @nichax อยู่เป็นประจำว่า ถ้าจะเข้ามาอวยพรพระองค์หรือให้กำลังใจ ก็ขอให้ใช้ทรงพระสเลนเดอร์แทน เช่น
“ขอบคุณทุกคนที่มาให้กำลังใจ ไม่ว่าจะในช่องทางไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซเชียล อย่างไรก็ตาม ขอบอกทุกคนตรงนี้ด้วยว่า จะให้พรอะไรดิฉันก็ขอให้เลิกใช้คำว่า ‘ทรงพระเจริญ’ เพราะมันโบราณพ้นยุคสมัยแล้ว ขอบใจมากๆ ค่ะ ถ้าลุ้นอย่าพูดว่าทรงพระเจริญเพราะไม่อินเทรนด์ ถ้าจะให้พรก็บอกว่าทรงพระสเลนเดอร์”