เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ชัยภูมิ ประสบผลสำเร็จ เพาะพันธุ์เนื้อทราย-ไก่ฟ้าตามนโยบายกรมอุทยานฯ จนสามารถนำสัตว์ใกล้สูญพันธ์คืนสู่ธรรมชาติได้กว่าร้อยตัว
พื้นที่อุดมสมบูรณ์บริเวณทุ่งกะมังมีเหล่าสัตว์ป่าหลากหลายชนิด โดยเฉพาะเนื้อทราย ที่ออกมาเล็มหญ้ากลางทุ่ง ที่เห็นอยู่นี้ เป็นส่วนหนึ่งจากผลผลิตที่อยู่ในความดูแลของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นหนึ่งสถานีเพาะเลี้ยงของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าที่เดินหน้างานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าไม่ให้สูญพันธุ์
สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว ถือว่าประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะเนื้อทรายที่ในอดีตอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ แต่ปัจจุบันเหลือแค่สถานะสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งจากการสำรวจพบว่า มีเนื้อทรายกระจายอยู่ในพื้นที่ป่าภูเขียว และน้ำหนาวกว่า 200 ตัว ส่วนสัตว์ป่าตระกูลไก่ฟ้า ก็เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่มีการปล่อยเป็นประจำทุกปี
โดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อทราย คือ การหาพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ นำมาเลี้ยงตามหลักวิชาการ เพื่อให้เกิดการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ ส่วนสัตว์กลุ่มไก่ฟ้านั้นมีวิธีการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ ด้วยเทคนิคการเพิ่มปริมาณจำนวนสัตว์จากไข่ที่นำมาฟักในตู้ หรือใช้ไก่บ้านในการฟัก ซึ่งไก่ 1 ตัวสามารถฟักไข่ได้ 30-50 ฟอง
สำหรับการติดตามการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า เมื่อกลับคืนสู่ธรรมชาติ เจ้าหน้าที่จะติดตามผ่านเฮียแท๊ก และห่วงขาที่ตัวสัตว์ ซึ่งจากการดำเนินงานของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว ตั่งแต่ปี 2554 มีการปล่อยสัตว์ไปแล้ว 7 ชนิด จำนวน 2,900 ตัว
เช่น กวางป่า เนื้อทราย และสัตว์ตระกูลไก่ฟ้า โดยปล่อยในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ภูเขียว ผาผึ้งและภูหลวง ในขณะเดียวกันการสำรวจพบว่า ผืนป่าภูเขียวมีความอุดมสมบูรณ์ มีช้างกว่า 150 ตัว กระทิง 100 ตัว กวาง เก้ง และมีร่องรอยของเสือโคร่งและเสือดาว
Created by :
ชุตินาฏ พงษ์ทองวัฒนา MONO29