นักฟุตบอลชาวบาห์เรน ผู้ลี้ภัย ฮาคีม ฮาคีม อัล โอไรบี

ไทม์ไลน์ฉบับย่อ : วิบากกรรม “ฮาคีม” จากนักฟุตบอลทีมชาติสู่ผู้ลี้ภัย

เจาะประเด็นดราม่ากรณีการจับกุม ฮาคีม อัล โอไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรน ที่กำลังเป็นข่าวไปทั่วโลกขณะนี้ หลังจากกรณีที่ทางการไทยควบคุมตัวนายฮะคีม อะลาไรบี อายุ 25 ปี ชาวบาห์เรน ผู้ลี้ภัยและอดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน เมื่อวันที่ 27…

Home / NEWS / ไทม์ไลน์ฉบับย่อ : วิบากกรรม “ฮาคีม” จากนักฟุตบอลทีมชาติสู่ผู้ลี้ภัย

เจาะประเด็นดราม่ากรณีการจับกุม ฮาคีม อัล โอไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรน ที่กำลังเป็นข่าวไปทั่วโลกขณะนี้

หลังจากกรณีที่ทางการไทยควบคุมตัวนายฮะคีม อะลาไรบี อายุ 25 ปี ชาวบาห์เรน ผู้ลี้ภัยและอดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ตามหมายของตำรวจสากล หรือ อินเตอร์โพล ที่ออกตามคำร้องขอของทางการบาห์เรน ข้อหาทำลายทรัพย์สิน ของประเทศบาห์เรน

โดยผู้ต้องหาคนดังกล่าวมีสัญชาติบาห์เรน แต่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยของประเทศออสเตรเลีย ก่อนอัยการสำนักงานต่างประเทศได้ยื่นคำร้องศาลอาญาขอให้ขังไว้ก่อนเป็นเวลา 60 วัน ซึ่งศาลให้นำตัวนายฮาคิมไปควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอการยื่นคำร้องขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ตามคำร้องขอของรัฐบาลต่างประเทศ จนกลายเป็นประเด็นที่สังคมไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

  • ปี 2554

ภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงแอฟริกาเหนือ เกิดเหตุการณ์ “อาหรับสปริง” มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาล ปะทุขึ้นในหลายประเทศ โดยหนึ่งในนั้น คือ บาห์เรน ซึ่งมีประชาชนนับหมื่นออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาล กระทั่งเกิดเหตุเผาสถานีตำรวจ ต่อมา ทางการบาห์เรนได้จับกุม ฮาคีม อัล โอไรบี นักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน โดยกล่าวหาว่า เป็นหนึ่งในผู้ชุมนุม

  • ปี 2557

ฮาคีม ไม่เดินทางไปรายงานตัวต่อศาล และเดินทางออกนอกประเทศ โดยมุ่งหน้าไปประเทศออสเตรเลีย ทำให้ศาลบาห์เรน พิจารณาคดีลับหลัง โดยพิพากษาจำคุกฮาคีม 10 ปี

  • ปี 2560

ฮาคีม ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลออสเตรเลีย และได้เล่นฟุตบอลอาชีพกับสโมสรฟุตบอล พาสโคเวล เอฟซี เมืองเมลเบิร์น

ขณะเดียวกัน ทางการบาห์เรน แจ้งต่อองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ อินเตอร์โพล ว่า ฮาคีม เป็นบุคคลที่มีความผิดทางอาญาตามกฎหมายของบาห์เรน และรอการส่งตัวข้ามแดน หากมีการจับกุมตัวได้ ซึ่งถือว่าอยู่ในลิสต์ “หมายแดง”

ฮาคีมหลังถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่สนามบินสุวรรณภูมิ กักตัวไว้เนื่องจากมีหมายแดงของอินเตอร์โพล
  • 27 พฤศจิกายน 2561

ฮาคีม เดินทางมาฮันนีมูนกับภรรยาที่ประเทศไทย ก่อนถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่สนามบินสุวรรณภูมิ กักตัวไว้เนื่องจากมีหมายแดงของอินเตอร์โพล

  • ต้นเดือนธันวาคม 2561

อินเตอร์โพลได้เพิกถอนหมายแดง โดยให้เหตุผลว่า ขัดกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชน ขณะที่รัฐบาลบาห์เรน ส่งเอกสารขอให้รัฐบาลไทย จับกุมและคุมขังชั่วคราวฮาคีม ที่ถือหนังสือเดินทางบาห์เรน เพื่อดำเนินการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปรับโทษตามคำพิพากษา

  • 4 กุมภาพันธ์ 2562

ฮาคีมได้ขึ้นศาลอาญา ปฏิเสธไม่ขอกลับไปบาห์เรน ศาลจึงมีคำสั่งให้ฮาคีม ยื่นคำคัดค้านคำร้องอัยการต่อศาล ภายใน 10 วัน แต่ฝ่ายฮาคีม แถลงว่าไม่สามารถยื่นให้ทัน เนื่องจากคำร้องขอเอกสารในการสู้คดีมีหลายประเด็น ศาลจึงมีคำสั่งให้ฮาคีม ยื่นคำคัดค้านภายในวันที่ 5 เมษายน 2562 เเละนัดตรวจหลักฐานในวันที่ 22 เมษายน 2562

  • 5 กุมภาพันธ์ 2562

คนไทยผุด #saveThailand สู้ #BoycottThailand เรียกร้องความเป็นธรรมให้ประเทศ กรณีจับ ฮาคีม อัล โอไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรน

  • 6 กุมภาพันธ์ 2562 น.

อรรฆภิญญ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ พร้อมด้วย นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ รองเลขานุการอัยการสูงสุด และ นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงข่าวถึงกรณีดังกล่าว ในฐานะที่ อัยการสูงสุด เป็นผู้ประสานงานกลาง ได้มอบหมายให้พนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศ ยื่นคำฟ้องต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ขอให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งส่งตัว นายฮาคีม ให้กับราชอาณาจักรบาห์เรน เนื่องจากประเทศผู้ร้องขอแจ้งว่า นายฮาคีม เป็นจำเลยและถูกดำเนินคดีอาญาในราชอาณาจักรก่อนหลบหนีไป

ความคืบหน้าล่าสุด

(7 ก.พ. 2562 ) พลตำรวจโทสุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้ออกมาเปิดเผยกรณีของนายฮาคีม หลังการพบปะพูดคุยกับเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ว่าการพูดคุยเป็นไปในแนวทางที่ดี โดยเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยยอมรับกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ว่าเป็นผู้แจ้งหมายจับแดงของนายฮาคีม มาให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเป็นผู้ควบคุมตัวไว้เอง นี่จึงเป็นเหตุให้ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด จึงจำเป็นต้องกดดันให้รัฐบาลไทยส่งตัวนายฮาคีม กลับไปยังประเทศออสเตรเลียให้ได้ โดยหวังว่าทุกฝ่ายจะพิจารณาจากความจำเป็น และข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น

ทั้งยังเรียกร้องให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองใช้อำนาจบริหารเข้าสนับสนุนในการให้ข้อมูลแก่ศาล เพื่อประกอบการไต่สวน ซึ่งทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้แจ้งให้ทางเอกอัครราชทูตทราบว่า ในประเทศไทยอำนาจบริหารไม่อาจก้าวล่วงอำนาจศาลได้ สถานทูตจะต้องเป็นฝ่ายดำเนินการส่งข้อมูลความจำเป็นทั้งหมดในกระบวนการไต่สวน เพื่อประกอบการตัดสินใจของศาล