เปิด 3 ปัจจัยนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว เผย ‘ผู้ชาย’ ก่อปัญหามากสุด

เผย 3 ปัจจัยสาเหตุนำไปสู่ความรุนแรงภายในครอบครัว การทำร้ายร่างกาย มาเป็นอันดับ1  ด้านนักสังคมมอง ‘ผู้ชาย’ ก่อปัญหามากที่สุด ปฎิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ข่าวคราวเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัวมีให้เห็นแทบทุกวัน ซึ่งสอดคล้องกับ สถิติจากสำนักกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่สรุปจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่ปี 2551-2559…

Home / NEWS / เปิด 3 ปัจจัยนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว เผย ‘ผู้ชาย’ ก่อปัญหามากสุด
เผย 3 ปัจจัยสาเหตุนำไปสู่ความรุนแรงภายในครอบครัว การทำร้ายร่างกาย มาเป็นอันดับ1  ด้านนักสังคมมอง ‘ผู้ชาย’ ก่อปัญหามากที่สุด

ปฎิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ข่าวคราวเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัวมีให้เห็นแทบทุกวัน ซึ่งสอดคล้องกับ สถิติจากสำนักกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่สรุปจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่ปี 2551-2559 พบว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแต่ละปี แตะหลัก 1,000 ซึ่งการทำร้ายร่างกาย มาเป็นอันดับ1 รองลงมาคือ การดุด่า ดูถูก, หยาบคาย ตะคอก ประจาน ขู่ บังคับ, การละเลย ทอดทิ้ง, ข่มขืน, กักขัง, อนาจาร, ล่อลวง ตามลำดับ

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เปิดเผยกับทีมข่าว MONO29 ว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นสาเหตุหลักคือ “สมาชิกในครอบครัวไม่ให้เกียรติ” และมองว่า “ผู้ชาย” คือ ผู้ก่อปัญหามากที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่พยายามตั้งตัวเป็นใหญ่ในบ้าน ไม่เคารพและให้เกียรติภรรยาหรือลูก โดยมากพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงก็คือ การโต้เถียงประกอบกับการใช้ถ้อยคำที่ด่าทอ บั่นทอนจิตใจ การใช้อารมณ์ และพฤติกรรมการนอกใจ

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม

ส่วนปัจจัยที่เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง คือ พฤติกรรมลอกเลียนแบบบุคคลในบ้านที่คุ้นเคยหรือบุคคลที่อยู่ใกล้ชิด, การใช้ถ้อยคำ, การใช้สารเสพติด, การทำตัวเป็นผู้นำ และระบบแข่งขันภายในครอบครัว

แม้ว่า นักสังคมรายนี้จะมองว่า ปัญหาการเกิดความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่เกิดจากผู้ชาย แต่ในมุมมองด้านการแพทย์ กลับเห็นต่าง โดยนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข มองว่า ความรุนแรงในครอบครัวเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ

1. ตัวบุคคล ที่มาจากโรคทางกายและจิตใจ ที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ เช่น การป่วยทางสมอง รวมถึงการใช้สารเสพติด
2. ครอบครัว ที่เกิดจากความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นไปในทิศทางไม่ดี มีปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้สภาพจิตใจแย่ ก็ทำให้เกิดปัญหาการถกเถียงกันภายในครอบครัวและสุดท้ายเกิดการใช้ความรุนแรง
3. พฤติกรรมเลียนแบบ หมายถึง การอยู่ในสังคมของผู้ที่ใช้ความรุนแรง ก็อาจทำให้เกิดพฤติกรรมในลักษณะเดียวกันได้

สำหรับวิธีการลดความรุนแรงในครอบครัว สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม แนะนำ 3 ข้อปฎิบัติ คือ สมาชิกในครอบครัวต้องฝึกเคารพศักดิ์ศรีของแต่ละคน, สมาชิกในครอบครัวต้องทำตัวเป็นเสมือนหุ้นส่วน เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม และแสดงความคิดเห็น, หากมีปัญหาเกิดขึ้นควรหันหน้าคุยกัน โดยไม่ปล่อยให้ปัญหานั้นสะสมเป็นระยะเวลานาน

ทั้งนี้ นักสังคม ยืนยัน ความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้เกิดขึ้นจาก “การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นระยะเวลานาน แต่มันเกิดจากการไม่ให้เกียรติ”

created by ชุตินาฏ พงษ์ทองวัฒนา MONO29