108 อาชีพทำเงิน กลุ่มเกษตรกรทำสวน ชารางแดง นนทบุรี เกษตรสร้างรายได้ เกาะเกร็ด

‘ชารางแดง’ พืชสมุนไพรแปรรูป กลุ่มเกษตรกรทำสวนเกาะเกร็ด สร้างรายได้ดี

‘รางแดง’ เป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านชนิดหนึ่งของไทย ซึ่งที่เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เอง มีปลูกกันมานานแล้ว นิยมนำใบมาคั่วแล้วชงกับน้ำดื่มเหมือนชา มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง โดยปัจจุบัน ‘กลุ่มเกษตรกรทำสวนเกาะเกร็ด’ ได้นำใบรางแดงมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชารางแดงจำหน่าย ภายใต้แบรนด์ ‘ชารางแดงมงคล’ สร้างรายได้ดีให้กับสมาชิก…

Home / NEWS / ‘ชารางแดง’ พืชสมุนไพรแปรรูป กลุ่มเกษตรกรทำสวนเกาะเกร็ด สร้างรายได้ดี

‘รางแดง’ เป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านชนิดหนึ่งของไทย ซึ่งที่เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เอง มีปลูกกันมานานแล้ว นิยมนำใบมาคั่วแล้วชงกับน้ำดื่มเหมือนชา มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง โดยปัจจุบัน ‘กลุ่มเกษตรกรทำสวนเกาะเกร็ด’ ได้นำใบรางแดงมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชารางแดงจำหน่าย ภายใต้แบรนด์ ‘ชารางแดงมงคล’ สร้างรายได้ดีให้กับสมาชิก

ทีมข่าว MThai เดินทางข้ามเรือไปยังเกาะเกร็ด แล้วนั่งมอเตอร์ไซด์ลัดเลาะไปตามตรอกซอยแคบๆ บนเกาะ ไปจนถึงบ้านของ มงคลชัย หรั่งช้าง ผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดังกล่าว เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปของใบชารางแดง

น้ำท่วมใหญ่ ทุเรียนตาย ตาชารางแดงยังอยู่

ย้อนกลับไปก่อนที่จะหันมาจับชารางแดงเป็นพืชสร้างรายได้ มงคลชัยเล่าให้เราฟังว่า เขาเคยทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์มาก่อน อยู่โต๊ะข่าวอาชญากรรมมา 10 กว่าปี จนกระทั่งเมื่อทุเรียนที่ปลูกไว้เริ่มได้ผล พอดีกับมีโครงการเออร์ลี่ไรไทร์ ก็เลยลาออกมาทำสวนทุเรียนเต็มตัว

“ตอนนั้นผมขายอยู่ลูกละ 600-700 บาท หรูแล้ว มีอยู่ 90 กว่าต้น ผมตัดทุเรียนปีหนึ่งก็หลายแสนอยู่ ทุเรียนนนท์ดียังไง? มันแห้ง ยิ่งหมอนทอง จะแห้ง ไม่เละ และเมื่อสุกแล้วถ้ายังไม่แกะก็ยังไม่งอม”

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นตอนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 เมื่อทำทุกวิถีทางแล้วแต่ไม่อาจต้านทานน้ำซึ่งเอ่อล้นคันกั้นได้ ทำให้ต้นทุเรียนของมงคลชัยตายหมด ตอนนั้นเผอิญชารางแดงซึ่งเป็นไม้เถาเกาะอยู่กับต้นทองหลางไม่ตาย จึงนำไปสู่ความคิดที่จะนำมาแปรรูปจำหน่าย

“สมัยก่อนเราเป็นลูกศิษย์วัด หลวงตาแกก็จะให้เราไปเก็บใบชารางแดงนี้ แกก็เอามาคั่วๆ แล้วก็ต้มเป็นน้ำชากิน บอกเอาเถอะน่า เอ็งกินไปเถอะ มันดี มันแก้โอ้โน่นแก้ไอ้นี่ คนโบราณเขาว่าอย่างนั้น

“เมื่อก่อนนี้เราไม่ได้คิดที่จะทำขาย เพราะว่ามีคนทำอยู่แล้ว 2 เจ้า คนบ้านเรามักจะติดการเกรงใจ เมื่อพี่ทำแล้วฉันก็จะไม่ทำ งั้นเอ็งเก็บใบมาขายข้าสิ แล้วช่วงนั้นช่วงโอท็อปกำลังบูมมาก คนที่ขายก็ขายดี เราก็เก็บใบไปขายเขาอย่างเดียว ไม่ได้คิดอะไร พอไปอยู่กับกลุ่มเกษตรกรทำสวนเกาะเกร็ด ทางกรมส่งเสริมการเกษตรเขาให้เราต้องแปรรูปเอง เพื่อจะเข้ามาตรฐาน 5 ข้อของเขา ผมก็เลยลองทำชาตัวนี้ดู”

มงคลชัย กับภรรยาของเขา อุทัย ศรีรุ่งเรือง ลองผิดลองถูกอยู่นาน ทำชาออกมาไม่หอมบ้าง เป็นเชื้อราบ้าง ไม่ได้รสชาติบ้าง เรียกว่าตลอดปี 2556 ทำเสียหมด ขายไม่ได้เลย จนกระทั่งปี 2557 ถึงเริ่มขายได้

ส่งเสริมให้สมาชิกปลูก มีรายได้

จากนั้นมงคลชัยจึงได้รวบรวมสมาชิกก่อตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา ซึ่งเมื่อรวมกลุ่มกันก็จะทำให้ได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากทางภาครัฐในหลายๆ ด้าน เช่น จากกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร ได้มา 2 หมื่นบาท นำไปซื้อเสาปูนแจกบ้านละ 4 ต้น ต้นพันธุ์บ้านละ 2 ต้น ไปปักไปปลูกให้ หรือจากกรมพัฒนาชุมชนก็ได้พวกเครื่องจักรอย่างเครื่องตัดกับเครื่องอบมา

“ทั้งหมด 36 สมาชิก ทุกคนวันนี้แฮปปี้หมด ที่ผมชวนเขามาทำ เพราะทุกคนทำแล้วขายได้ ถ้าคุณนั่งรถเข้ามาทางสายในจะเห็นปลูกแทบทุกบ้าน เพราะผมส่งเสริมให้ปลูกหมด แล้วผมก็จะไปรับซื้อใบแก่ กิโลกรัมละ 70 บาท เป็นรายได้ที่ดีพอสมควรกับคนที่อยู่ที่บ้าน เปรียบเทียบกับการปลูกกล้วยหรือปลูกข้าวโพด ใบชารางแดงมีรายได้ดีกว่า เพราะปลูกครั้งเดียวจบเลย อันนั้นต้องปลูกอยู่ตลอด ถ้าเกิดคุณไม่เก็บ เรามีเจ้าหน้าที่ไปเก็บ โดยหักกิโลกรัมละ 20 บาท คุณก็ยังเหลือ 50 บาท นั่งกินกาแฟไปเลย ได้ 50 บาท

“พอถึงวันก็จะมารวมทำกัน หมายความว่า สมมุติอาทิตย์นี้ ผมซื้อบ้านนาย ก. นาย ข. นาย ค. มาคนละ 20 กิโลกรัม ทุกคนก็จะมาช่วยกันทำ ซื้อสวนใครสวนนั้นก็ต้องมาทำ เขาจะได้รู้ว่าใบเขาเป็นยังไง สกปรกมั้ย มีแมลงไปกวนมั้ย แต่ต้นนี้เป็นเหมือนต้นยา แมลงจะไม่มี ใบไม่เป็นหนอนเป็นอะไร แต่คุณได้ไปแล้วกิโลกรัมละ 70 บาท แต่ส่วนที่มาทำจนกระบวนการเสร็จออกมาเป็นถุง ก็จะคิดออกมา ที่ผมคิดทีแรก ผมให้วันละ 250 มันก็จะเหนื่อยวันแรก พอวันสองวันสาม อย่างเช่นใส่ถุงหรืออบ มันใช้คนน้อยแล้ว ถ้าเราใช้คนเหมือนวันแรก กลุ่มก็เสร็จ เพราะค่าใช้จ่ายไปอยู่ตรงนั้นหมด งบก็มาจากเงินหุ้นมาซื้อ ลงบัญชี ฝากแบงก์ ในนามกลุ่ม”

จากเมื่อก่อน กลุ่มมีทุนเรือนหุ้นไม่กี่พันบาท ปัจจุบันนี้มีแสนกว่าบาท

“คือผมก็ระดมหุ้นเข้ามา ปีที่แล้วเรากำไรสุทธิอยู่ที่ 16,000 บาท พอประชุมใหญ่ ผมก็จะปันผลหุ้นละ 5 เปอร์เซ็นต์ ก็จะปันผลทุกปี มีรายได้ทุกปี แต่ปีที่แล้วครึ่งปีหลังยอดตก จากขายได้เดือนละหลายหมื่น บางทีเหลือเดือนละหมื่นกว่าบาท เพราะเศรษฐกิจมันทรุด”

วิธีแปรรูป-จำหน่าย

มงคลชัยบอกว่าเวลาเก็บใบจะคัดเลือกใบแก่เขาเคยลองเก็บใบอ่อนมาทำเหมือนกันแต่ปรากฏว่าออกมาเละ

“ตอนที่หลวงตาให้เราไปเก็บเขาก็ให้เราไปเก็บใบแก่แสดงความคุณสมบัติใบอ่อนมันใช้ไม่ได้”

เก็บใบมาปุ๊ป ก็จะมาคัดเลือก เสร็จแล้วเอาไปล้าง ล้างเสร็จก็เข้าเครื่องตัด

“เมื่อก่อนเราตัดมือ ใช้กรรไกรตัด ใบออกมาก็จะไม่ค่อยสวยนัก พอดีได้งบประมาณมาเราก็ไปซื้อเครื่องตัดมา เข้าเครื่องตัด ตัดเสร็จก็มาตากแดดหนึ่ง แล้วกลับมานึ่ง เพื่อฆ่าเชื้อและให้มีกลิ่นหอม นึ่งแล้วกลับไปตากใหม่ เหมือนกับผึ่งให้แห้ง

“ใบชา พอทำไปมากๆ เราจะรู้ว่า ควรจะตากประมาณไหน มันถึงจะได้กลิ่นหอม ได้รสชาติ จริงๆ แล้วคนโบราณเขาจะให้เราตากแค่แดดเดียว เหมือนปลา เหมือนเนื้อ ซึ่งความร้อนที่ 40-50 องศา จะดีมาก ตู้พลังงานนี้ร้อนสุดอาจจะถึง 70 องศา พอร้อนได้ที่ปุ๊ป เราต้องเอาออกมาเลย ต้องพยายามเข้าไปเช็ค ผมกำลังจะติดเทอร์โมสตัท กำลังให้ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วย พอร้อนถึงอุณหภูมิหนึ่ง พัดลมจะเป่าอากาศออกเลย เขากำลังจะมาติดให้อยู่ ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจ

“พอตากเสร็จก็นำไปอบ อบเสร็จ ถ้าแบบใบ เราบรรจุเอง แต่แบบซองชง เราส่งไปบรรจุที่อุทัยประสิทธิ์ เป็นบริษัทยา อยู่ที่ปราจีนบุรี เราดีลงานกับเขาอยู่ จ้างเขาบรรจุซองละ 4.45 บาท ไปทีก็หมื่นกว่าซอง ส่งไปที 13-14 กิโลกรัม เดือนละครั้ง เพราะเครื่องบรรจุตัวนี้ราคาเกือบ 4 แสน ถ้าในระยะยาวจริงๆ แล้วซื้อคุ้ม แต่ถ้าสภาพตอนนี้จ้างบรรจุดีกว่า ไม่ต้องเอาเงินขนาดนั้นไปลงทุน ผมยังขาดเครื่องยิงระบุวันที่ผลิต วันหมดอายุ ราคาประมาณ 17,000 ก็เลยยังไม่โอเคเท่าที่ควร เพราะบางคนถามว่า มันผลิตเมื่อไหร่”

ชารางแดงมงคลแบบใบส่งอยู่ที่ห่อละ 25 บาทแบบซองชง (มี 20 ซองเล็ก) ส่งอยู่ที่ห่อละ 50 บาทมีตัวแทนจำหน่ายอยู่เกือบทั่วประเทศปัจจุบันเป็นแพ็คเกจจิ้งแบบใหม่ที่ได้นักศึกษาจากม.เกษตรบางเขนมาช่วยออกแบบให้นอกจากนี้ล่าสุดยังมีชารางแดงน้ำผึ้งมะนาวในรูปแบบเครื่องดื่มบรรจุขวดจำหน่ายในราคาขวดละ 15 บาทด้วย

โดยรายได้ของกลุ่ม ณ ปัจจุบัน ยังไม่หักค่าใช้จ่าย ตกประมาณเดือนละ 50,000 บาท ซึ่งแต่ก่อนขายได้เกือบๆ 2 แสนบาท ขณะที่ส่วนตัวของครอบครัวมงคลชัยเอง มอบหมายให้ลูกชายขายทางออนไลน์ ตกเดือนละประมาณ 30,000 บาท

ความเป็น ‘ชา’ และความเป็น ‘ยา’ ปัญหาและอุปสรรค

เส้นทางของการทำสินค้าสักตัวในนามของกลุ่มเกษตกร คงไม่ได้สวยหรูไปเสียทั้งหมด มงคลชัยเล่าให้เราฟังถึงปัญหาและอุปสรรคหลายอย่าง ที่ทำให้ชารางแดง แม้จะยังไปได้เรื่อยๆ สามารถจำหน่ายสร้างรายได้ให้กลับสมาชิกลุ่ม แต่หนทางของการเติบโตในเชิงธุรกิจนั้น ต้องเรียกว่าไปไม่สุด เพราะมีเพดานของมันอยู่

“เรามามีปัญหาที่กระทรวงสาธารณสุข เรื่องเลขจดแจ้ง เขาบอกว่าถ้าเราเป็นโอท็อป โอเค ไม่เป็นไร แต่ควรจะทำให้มันถูกต้องซะ ก็เลยมาวิ่งหามาตรฐานหาอะไรกัน สรุปแล้ว ใบชารางแดง คุณสมบัติคือเป็นยา โดนตีตกเลย คือจบ เราไม่สามารถที่จะมาทำเป็นใบชาได้ เพราะคุณสมบัติเขาเป็นยา เราต้องไปทำแคปซูล ต้องไปเข้าหมวดยา คือตัวนี้มันเป็นยาสามัญประจำบ้าน เขาก็เลยไม่ให้เรามาทำตรงนี้ เพราะเราจะทำเชิงเดี่ยวไม่ได้ มันต้องไปผสมกับตัวอื่น ผมก็วิ่งอยู่ 2 ปีกว่าๆ จนเลิก ไม่สามารถขอเลขจดแจ้งได้ ฉะนั้นตลาดเรา มันก็เลยเป็นตลาดล่างๆ เป็นตลาดโอท็อป เป็นตลาดขายตามทั่วไป ไม่สามารถจะไปวางในเซเว่นฯ หรือไปอยู่ในห้างได้ ปัจจุบันนี้ถามว่ามันไปได้มั้ย ไปได้ แต่เติบโตค่อนข้างยาก ยากมาก ทั้งๆ ที่คุณสมบัติมันดี แต่เราไม่มีมาตรฐานของสินค้า”

อย่างไรก็ตาม มงคลชัยยืนยันในเรื่องกระบวนการผลิตที่สะอาด ปลอดภัย มั่นใจได้

“ลูกค้าติดเพราะว่ากินแล้วได้ผล  คนที่กินเขาบอกความดันเบาหวานเขาลด ผมเคยถามตอนเอาไปวิเคราะห์ ว่ากินมากๆ มีสารตกค้างมีอะไรมั้ย ปรากฏว่าไม่มี ก็โชคดีไป”

มงคลชัยเล่าต่อว่า ทุกวันนี้ต้นทุนในการผลิตก็สูงขึ้นมากกว่าตอนเริ่มต้นด้วย บวกกับเศรษฐกิจที่ซบเซา ก็ทำให้รายได้ค่อนข้างลดลงในระยะหลัง

“ทุกวันนี้ถ้าจะลงทุนอะไรเกี่ยวกับตรงนี้ ค่อนข้างจะเสียดายตังค์ เพราะเราหามาตรฐานให้ตัวเราเองไม่ได้ อย. บอกว่า ตัวนี้ไม่ได้คุณก็ทำตัวอื่นสิ อย่างเช่น ชาตะไคร้ ก็ทำได้ครับ แต่มันไม่เป็นที่นิยม เตยเอารากมาทำชาก็ได้ แต่คนก็ไม่กิน อันนั้นขอเลขได้ หรือชามะลิ แต่พวกนั้นมันขายไม่ได้”

“ตอนนี้สำหรับผมก็เลยถือว่าชานี่ลดมาเป็นรายได้เสริม แต่การทำเกษตรกรรมเราไม่ได้ทำเชิงเดี่ยว ทุกวันนี้ก็พยายามกลับมาปลูกทุเรียน แต่ทุเรียนตอนนี้โลกมันเปลี่ยน อากาศเปลี่ยน ทุเรียนเป็นของปลูกยาก สวนไหนที่มีถือว่าโชคดี ทุเรียนนนท์ ตอนนี้ลูกหนึ่ง อย่างหมอนทอง ที่ว่าไม่ได้ๆ ก็ลูกละ 4,000 พัน ราคาจากสวน ผมมาโดนน้ำเค็มอีกรอบปี 57 ตอนนี้ไม่ใช้น้ำแม่น้ำเลย ใช้น้ำประปากับน้ำฝน เพราะโลกมันเปลี่ยนไป เสี่ยง คือบ้านเราไม่เอาจริงเอาจังกับเรื่องสภาพแวดล้อมเลย ตอนนี้ปลูกไว้ร้อยกว่าต้น ค่าใช้จ่ายต่อเดือนเกือบหมื่น ฮอร์โมนหนอน ฮอร์โมนทางใบ ปุ๋ย ดูแลอย่างกับลูก ถ้าไม่ดูแลอย่างกับลูกนี่จบ อาศัยว่าใจมันรัก อยู่ตรงนี้ก็ทำมันไป คิดว่าไม่เกินอีก 2 ปี ก็คงจะได้กิน” มงคลชัยกล่าวทิ้งท้าย

สนใจติดต่อ ชารางแดงมงคล โทร./Line: 091-721-2822, 091-873-2283, Facebook: ชารางแดงมงคล

ข้อมูลน่าสนใจของรางแดง

สมุนไพรรางแดงมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆเช่นก้องแกบก้องแกบเครือเถามวกเหล็กเถาวัลย์เหล็กกะเลียงแดงย่านอีเหล็กฯลฯ

ต้นรางแดง จัดเป็นไม้เถายืนต้นกึ่งพุ่ม มักเลื้อยตามต้นไม้และกิ่งไม้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการทาบเถา กิ่งชำ กิ่งตอน และใช้เมล็ด พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นตามป่าโปร่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางจังหวัดสระบุรี ส่วนในกรุงเทพฯ มีการปลูกกันบ้างตามบ้าน

ใบรางแดง แผ่นใบเป็นสีเขียว ใบคล้ายกับใบเล็บมือนางหรือกะดังงาไทย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ยาว รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นหยักตื้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร ส่วนก้านใบสั้น

หมอยาอีสานจะมีทั้งใช้เถานำมาต้มกิน หรือนำใบมาชงเป็นชา ซึ่งอาจใช้แบบเดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ เพื่อเป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยแก้เส้น แก้เอ็น อาการปวดหลัง ปวดเอง ปวดแข้ง ปวดขา ส่วนหมอยาไทยใหญ่ จะใช้ใบรางแดงนำมาปิ้งกับไฟชงกับน้ำร้อนกินแทนชา เป็นยารักษาอาการปวดเมื่อย ปวดหลังปวดเอว แก้อาการอ่อนเพลีย นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาล้างไต ด้วยการใช้ใบชงใส่น้ำร้อน หรือจะใช้รากหรือเถานำมาหั่นตากแห้ง แล้วต้มกินก็ได้ (ที่มา: medthai.com, disthai.com)