ไขปมซากเสือดำในหม้อต้มเสี่ย “เปรมชัย” ใช่ไม่ใช่ยาโด๊ป ?
จากกรณีที่พบนาย “เปรมชัย” ผู้บริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ลักลอบล่าเสือดำในเขตป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กาญจนบุรี และได้มีการชำแหละเสือดำเพื่อมาประกอบอาหาร ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานได้พบหม้อต้มใกล้เต็นท์ เปิดดูพบเป็นหางเสือดำต้ม ทีมข่าว MONO 29 ได้เสาะหาข้อสงสัยนี้ มาให้ทราบ
โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “ชนาณัติ แสงอรุณ” กรรมการวิชาชีพแพทย์ฯ – ผู้ทรงคุณวุฒิฯ ที่ กระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์ข้อความถึง “ซุปต้มยำหางเสือ” หรือที่เรียกกันว่า “ยาโป๊ว” ว่า “สมัยนี้เขาไม่ใช้เสือทำยากันแล้ว และยังมีเครื่องยาสมุนไพรอีกหลายชนิดที่มีสรรพคุณดีใช้แทนเสือได้…
เช่น “นกกระจอก” มีสรรพคุณยา บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงความกำหนัด และ “ต้นกำลังเสือโคร่ง” มีสรรพคุณ บำรุงธาตุ บำรุงเส้นเอ็น เจริญอาหาร บำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นต้น ยาจากสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ในตำราแพทย์แผนโบราณทางเภสัชกรรม สัตว์บกที่นำมาใช้ทำยานั้นไม่ใช่ “เสือดำ”แต่เป็น “เสือโคร่ง” มีสรรพคุณยา คือ (ตำราพระโอสถพระนารายณ์)
น้ำมันเสือ มีรสเผ็ด ใช้ต้มผสมกับเหล้า กินแก้คลื่นไส้อาเจียน แก้ผมหงอกก่อนวัย เขี้ยวเสือ มีรสเย็น มีสรรพคุณดับไข้พิษ ไข้กาฬ แก้พิษร้อน พิษอักเสบ พิษตานซาง กระดูกเสือ มีรสเผ็ดคาว เป็นยาบำรุงกระดูก บำรุงไขข้อและเนื้อหนัง แก้ปวดบวมตามข้อ แก้โรคปวดข้อ เป็นยาระงับประสาท แก้โรคลมบ้าหมู แก้ปวดตามข้อ เข่า กระดูก บำรุงกระเพาะอาหาร
หนังเสือ มีรสเย็นเบื่อ เผาไฟผสมยาแก้หืด แก้เสมหะ น้ำนมเสือ มีรสมันร้อน มีสรรพคุณบำรุงกำลัง แก้หืด ดับพิษร้อน ดีเสือ มีรสขม แก้ชัก แก้ช้ำใน เอ็น (อวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้) เสือ มีรสเผ็ด แก้โรคปวดตามข้อและกระดูก ตาเสือ มีรสเย็น ปรุงเป็นยาบำรุงสายตา ไตเสือ มีรสคาวมัน แก้อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เนื้อเสือ มีรสหวานอมเปรี้ยว เป็นยาบำรุงกระเพาะอาหาร ช่วยย่อยอาหาร บำรุงกำลัง แก้คลื่นไส้อาเจียน
ในอดีตแพทย์แผนโบราณได้นำส่วนต่างๆ ซากของเสือมาใช้เพื่อปรุงเป็นยารักษาโรคความเจ็บไข้ได้ป่วยในการช่วยเหลือมนุษย์ ซึ่งแตกต่างไปจากปัจจุบันที่นิยมล่า “ฆ่าเสือ” เพื่อความสนุกบันเทิงใจมากกว่า”