“เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ทีมกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นหนังสือถึง กกต.ให้พิจารณาไม่ประกาศรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคพลังประชารัฐ
วันที่ 11 ก.พ. 2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารB) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถ.แจ้งวัฒนะ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ และเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อหมายเลข 24 พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และในฐานะที่ตนเป็นผู้ที่ต้องใช้สิทธิ์เลือกตั้งด้วย ได้เดินทางมายื่นหนังสือจี้ต่อ กกต. เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ หลังจากมีการส่งชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ ทั้งยังมีอำนาจใช้มาตรา 44 เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ที่จะเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อ
ทั้งนี้ในส่วนของกรณีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาตินั้น เมื่อถูกถามว่าทางกรรมการบริหารพรรคควรจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร นายเรืองไกรได้ตอบว่า ทางพรรคได้มีการแถลงการออกมาแล้วว่า ทางพรรคขอน้อมรับพระราชโองการในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรและยังระบุว่า ทางพรรคเคารพการตัดสินใจประชาชน โดยกรรมการทั้งหมดสู้ต่อไป
ก่อนหน้านี้ นายเรืองไกรยังยกเหตุผลกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ยังอาจเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกฯ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) (12) และ (15) อีกด้วย เนื่องจากมาตรา 98 (3) ห้ามเป็นเจ้าของสื่อมวลชนใด ๆ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ถูกร้องว่า เป็นเจ้าของสื่อออนไลน์หลายชนิด และ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีฐานะเป็นหัวหน้า คสช. ที่มีอำนาจตามมาตรา 44 และได้รับเงินตอบแทนอีกเดือนละ 125,590 บาท จึงอาจเข้าลักษณะเป็นข้าราชการหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามความในมาตรา 98 (12) และ (15) จึง จำเป็นต้องไปร้องต่อ กกต. เพื่อให้พิจารณาไม่ประกาศรายชื่อ พล.อ.ระยุทธ์ ตามแบบ ส.ส. 4/31 เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐ โดยไม่เป็นไปตามข้อบังคับพรรค และเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) (12) และ (15) ซึ่งโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคสอง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมานาย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เคยเข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบการเปิดเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเข้าข่ายเป็นเจ้าของสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) อันทำให้ขาดคุณสมบัติของความเป็นนายกรัฐมนตรี หรือไม่ โดยในครั้งนั้นนายเรืองไกรอ้างอิงข้อมูลเปรียบเทียบคดีกับนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดไว้ว่า “ไม่ให้เป็นลูกจ้างสื่อมวลชนใดๆ” กับรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่บัญญัติว่า “ไม่ให้เป็นเจ้าของสื่อมวลชนใดๆ” จึงเชื่อได้ว่าในกรณีของนายกรัฐมนตรีนั้น เข้าข่ายขัดต่อกฎหมาย