Kick Off แผนแม่แจ่มโมเดลพลัส สู่การพัฒนายั่งยืน

Kick Off แผนแม่แจ่มโมเดลพลัส สู่การพัฒนายั่งยืน อดีตพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จำนวนกว่า 1.5 ล้านไร่ต้องเผชิญกับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ การลดลงของพื้นที่ป่าต้นน้ำ จนกลายเป็นเขาหัวโล้น รวมทั้งปัญหาหมอกควันไฟป่าที่ในอดีต เป็นพื้นที่ลำดับต้นๆ ที่เกิดค่าจุดความร้อนมากที่สุดและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนกว่า 5 หมื่น…

Home / NEWS / Kick Off แผนแม่แจ่มโมเดลพลัส สู่การพัฒนายั่งยืน
Kick Off แผนแม่แจ่มโมเดลพลัส สู่การพัฒนายั่งยืน

อดีตพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จำนวนกว่า 1.5 ล้านไร่ต้องเผชิญกับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ การลดลงของพื้นที่ป่าต้นน้ำ จนกลายเป็นเขาหัวโล้น รวมทั้งปัญหาหมอกควันไฟป่าที่ในอดีต เป็นพื้นที่ลำดับต้นๆ ที่เกิดค่าจุดความร้อนมากที่สุดและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนกว่า 5 หมื่น 9 พันคน แต่วันนี้ชาวบ้านบางกลุ่มหันมาปลูกพืชผสมผสาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

หลายปีที่ผ่านมา หลายภาคส่วนระดมความเห็นในการแก้ไขปัญหาพื้นที่อำเภอแม่แจ่มเพื่อให้หลุดพ้นจากปัญหาหมอกควันไฟป่า และการจัดการพื้นที่ป่า จึงมีการกำหนด ยุทธศาสตร์ “แม่แจ่มโมเดล” ที่เน้นการจัดการป่า ลักษณะการใช้ดิน จนทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่ที่เกิดจุดความร้อนน้อยที่สุดในช่วง 60 วันอันตรายของจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2559  ดังนั้นจึงพูดได้ว่า แม่แจ่มโมเดล ประสบความสำเร็จ และยกระดับเป็น ‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’

ในวันนี้จากแผนต่างๆ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายภาคส่วนออกเห็นตรงกันว่าควรนำไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง โดยกำหนด 6 ยุทธศาสตร์หลัก เช่น แก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิ ที่มีการออกนโยบายจัดทำแผนขอใช้ประโยชน์ตามมาตรา 19 หรือจะเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สิน

ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์จะปล่อยเงินกู้ให้เกษตรกรที่หันมาปลูกพืชแนวทางใหม่ สร้างป่า สร้างรายได้ และสามารถพักชำระหนี้สูงสุดนานถึง 7 ปี และที่ดินกว่า 1 พัน 7 ร้อยไร่ในตำบลบ้านทับ เป็นหนึ่งตัวอย่างความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน ในการเข้าร่วมแผนพัฒนาแม่แจ่มโมเดลพลัส ตามแนวคิด สร้างป่า สร้างรายได้

โดยชาวบ้านปรับเปลี่ยนระบบการผลิตของตนเอง เลิกการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะข้าวโพด หันมาปลูกพืชผสมผสาน อย่างไผ่ กาแฟ และพืชเศรษฐกิจ รวมทั้งมีการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสม ตามศาสตร์พระราชา เช่น พื้นที่ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง พื้นที่ทำแนวซับน้ำ เป็นต้น

ปัจจุบันมีชาวบ้านเข้าร่วมแผนพัฒนาดังกล่าว 22 ครัวเรือน ในพื้นที่ 65ไร่ จึงทำให้เนื้อที่และจำนวนเกษตรที่ปลูกข้าวโพดลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันจำนวนพื้นที่ป่าเพิ่มเป็น 5,410.2ไร่ จากเดิม 5,324.1 ไร่   แน่นอนว่าสาเหตุที่ชาวบ้านร่วมใจเข้าร่วมแผนแม่แจ่มโมเดลพลัส ก็เพราะต้องการหลุดพ้นจากหนี้สิน

โดยจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการมีหนี้สินมากถึงร้อยละ 47 ขณะที่รายรับมีเพียงร้อยละ 34  ดังนั้น การสร้างรายได้ที่นอกเหนือจากการทำการเกษตรจึงเป็นคำตอบที่ดี สร้างศูนย์เรียนรู้ไผ่ เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมาเรียนรู้การสร้างมูลค่าเพิ่มจากไผ่

เช่นการทำเฟอร์นิเจอร์ การทำข้าวของเครื่องใช้จากไผ่ รวมถึงการรักษาอายุไผ่ให้อยู่ได้นานถึง 20 ปี ด้วยเทคนิคการทรีด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ไผ่มีราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 3-5 เท่า ขณะเดียวกันศูนย์เรียนรู้แห่งนี้มีการติดต่อตลาดไว้รองรับให้แก่เกษตรกรด้วยเช่นกัน

แม้วันนี้ ความสำเร็จจากการต่อยอดแผนแม่แจ่มโมเดลพลัส ยังคงเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆแต่นี่ก็พอให้เราได้เห็นโอกาส ทางรอด และทางเลือกใหม่ของชุมชนที่จะทำให้ชุมชนกับป่าอยู่ด้วยกันได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

created by : ชุตินาฏ พงษ์ทองวัฒนา MONO รายงาน