จากกรณีที่ศาลปครองกลางได้อ่านคำพิพากษา “เพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ โดยวินิจฉัยจากหลักฐานใหม่ว่า การดำเนินโครงการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย สัญญาระหว่างรัฐและเอกชนไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีการร่วมกันวางแผนเอื้อประโยชน์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและบริษัทเอกชน จึงพิพากษาให้รัฐไม่ต้องจ่าย 9,000 ล้าน ให้บริษัทเอกชน”
ย้อนกลับไปในปี 2538 คณะครม. มีมติเห็นชอบการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ตามโครงการ จะมีการสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย 2 ระบบใหญ่ คือฝั่งตะวันตก ที่จะรับน้ำเสียจากพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ และฝั่งตะวันออก ที่จะรับน้ำเสียจากอำเภอเมือง อำเภอพระประแดง โดยจะนำมาบำบัดที่บริเวณบางปูใหม่
ทั้งสองแห่งจะใช้งบประมาณก่อสร้าง 13,612 ล้านบาท มาจากงบ แผ่นดิน 7,362 ล. กองทุนสิ่งแวดล้อม 2,500 ล. และเงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB 3,750 ล. โดยมีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทย์ฯ เป็นเจ้าของโครงการ
ปี 2540 กรมควบคุมมลพิษได้ปรับงบเพิ่มขึ้นเป็น 23,701 ล. โดยโครงการนี้เป็นแบบ ผู้รับเหมาทำหน้าที่ตั้งแต่การออกแบบ จนก่อสร้าง ทั้งโครงการเพียงรายเดียว มีผู้สนใจทั้งสิ้น 13 ราย และเมื่อถึงเวลายื่นซองเหลือผู้เข้าประมูลเพียง 2 ราย คือ กลุ่มบริษัท “เอ็นพีวีเอสเคจี”(NVPSKG) และกลุ่มบริษัทมารูเบนี
ต่อมากรมควบคุมมลพิษได้เสนอให้มีการเปลี่ยนแผนการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียโดยเสนอให้รวมบ่อทั้ง 2 แห่งเข้าด้วยกัน ใช้พื้นที่ฝั่งตะวันออกแห่งเดียว คือ คลองด่าน สิ่งที่น่าสนใจคือสเปกใหม่ของกรมควบคุมมลพิษนั้น คล้ายคลึงกับแนวทางของกลุ่มบริษัทเอ็นวีพีเอสเคจี ส่งผลให้ชนะอย่างไร้คู่แข่ง
เมื่อมองกลุ่มของบริษัทเอนวีพีเอสเคจี ประกอบด้วย
– บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เป็นของตระกูลชวนะนันท์
– บริษัท สี่แสงการโยธา จำกัด ผู้ก่อตั้งคือนายบรรหาร ศิลปอาชา
– บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัดเป็นบริษัทในเครือของวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง
– บริษัท ประยูรวิศการช่าง จำกัด ผู้ก่อตั้งคือนายวิศว์ ลิปตพัลลภ บิดาของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในเวลานั้น
ที่ดินที่กลุ่มบริษัทเอ็นวีพีเอสเคจี เสนอทำโครงการนี้ ห่างจากทำเลเดิมราว 20 กิโลเมตร ทำให้ต้องเพิ่มค่าก่อสร้างท่ออีก สูงถึง 14,000 ล. ในขณะที่ลงทุนกับระบบบำบัดน้ำเสียเพียง 3,000 ล้านบาท
จุดเริ่มต้นของการทุจริตเด่นชัดเมื่อการซื้อที่ดินในตำบลคลองด่าน โดย บริษัทคลองด่าน มารีน แอนด์ฟิชเชอรี จำกัด นำพื้นที่ทะเลโคลน ดินเลน ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะ มาขายให้กับกรมควบคุมมลพิษ 1,900 ไร่ มูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่า ที่สำนักงานที่ดินสมุทรปราการประเมิน
“เส้นทางทุจริตนี้ เริ่มต้นตั้งแต่นายวัฒนา อัศวเหม ในนามบริษัท เหมืองแร่ลานทอง จำกัด กว้านซื้อที่ดินแปลงพิพาทจากประชาชน ก่อนจะนำมาขายให้กับบริษัทปาล์มบีช ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ที่มีนายสมลักษณ์ อัศวเหม และนายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ ร่วมเป็นกรรมการ และนำมาขายต่อให้บริษัทคลองด่าน มารีน แอนด์ฟิชเชอรี จำกัด ในราคาไร่ละประมาณ 260,000 บาท และเมื่อถึงมือรัฐบาลราคาก็สูงเกือบ 4 เท่า”
ขณะที่กระบวนการก่อสร้างรุดหน้าไปเกือบเสร็จ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณไปแล้วถึง 90 เปอร์เซ็นต์
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยาฯ ได้ประกาศให้ระงับการก่อสร้าง และตั้งคณะกรรมการสอบสวน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 หลังดำเนินก่อสร้างไปแล้วกว่า 95% คิดเป็นมูลค่าถึง 2 หมื่นล้านบาท และการไต่สวนของ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนักการเมืองในฐานะเป็นผู้อนุมัติ 3 คน ได้แก่ นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ (เสียชีวิต), นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ, นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย
กระทั่งศาลฎีกาฯ มี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2551 ว่า นายวัฒนา มีความผิดตามฟ้องให้ลงโทษจำคุก 10 ปี แต่นายวัฒนาไม่ได้มาฟังคำพิพากษา และหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ จนถึงทุกวันนี้
ต่อมากลุ่มบริษัท “NVPSKG”ได้ทำการเรียกร้องให้จ่ายเงินที่เหลืออยู่ อนุญาตโตตุลาการจึงได้ตัดสินให้ กรมควบคุมมลพิษแพ้ ก่อนเรื่องสู่ศาลปกครอง แต่สุดท้ายคือยืนตามคำตัดสินอนุญาตโตตุลาการ ต้องจ่ายส่วนที่เหลือกว่า 9.6 พันล้านบาท ซึ่งการจ่ายเงินล่าสุดคือในปี 2558 สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
การทุจริตโครงการนี้นับเป็นการทุจริตที่สลับซับซ้อน โดยผ่านเครือข่ายในวงการนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ เนื่องจากในขยณะนั้นยังไม่มีกฎหมายห้ามกิจการของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ
ปัจจุบันโครงการแห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้าง ชาวบ้านในพื้นที่ต้องย้ายที่อยู่ ขณะที่บางครอบครัวทมี่ยังหลงเหลือต้องรับกรรมจาก ผลกระทบของการก่อสร้างสร้าง ขณะที่ธรรมชาติทางระบบนิเวศที่สำคัญกลับถูกทำลาย นับเป็นคดีทุจริตที่สร้างความเสียหายมากที่สุด จึงได้รับการขนามนามว่า “ค่าโง่คลองด่าน”