เริ่มแล้ววิวาห์ใต้สมุทร 2019 หนึ่งเดียวในโลก บ่าวสาว 19 คู่ ควงแขนในงานวิวาห์เริ่มแล้ววันแรก
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ที่โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา อ.เมือง จ.ตรัง บรรยากาศภายในงานวิวาห์ใต้สมุทร 2019 ครั้งที่ 23 ได้มีคู่บ่าวสาว ทั้ง 19 คู่ ชาวไทย 16 คู่และ ชาวต่างชาติ 3 คู่ คือ จีน มาเลเซีย และเนเธอร์แลนด์ โดยเจ้าบ่าวเจ้าสาวต่างสวมชุดเจ้าบ่าวเจ้าสาวแต่งหน้าอย่างสวยงาม ซึ่งบรรยากาศภายในงานเป็นอย่างอบอุ่นและหอมหวาน ซึ่งในเช้าวันนี้เริ่มต้นด้วยพิธีต้อนรับคู่บ่าวสาว นำโดยนายพิชัย มะนะสุทธิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง กล่าวอวยพรแก่คู่บ่าวสาวทั้ง 19 คู่ ท่ามกลางบรรดาแขกเหรื่อที่มาร่วมร่วมแสดงความยินดีเป็นจำนวนมากและบรรดาช่างภาพแห่ร่วมกันบันทึกภาพคู่บ่าวสาวเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่คู่บ่าวสาวภายในงานอีกด้วย
ทางด้านMr.Ding Qiang อายุ 32 ปีและ MS.Pan Zhijie อายุ 33 ปี คู่บ่าวสาวประเทศจีน กล่าวว่า ตนเองและภรรยาเป็นเจ้าของร้านอาหาร ได้ทราบข่าววิวาห์ใต้สมุทรทางอินเตอร์ และด้วยความที่ภรรยาชอบดำน้ำอยู่แล้วจึงได้ชวนกันมาร่วมงาน ซึ่งครั้งนี้เป็นแรกที่มาเที่ยวจ.ตรัง ซึ่งทั้งตนเองและภรรยารู้สึกมีความสุขที่ได้รับการตอบรับที่อบอุ่น หลังจากร่วมงานวิวาห์ก็จะนำไปบอกต่อเพื่อนให้มาร่วมในปีต่อไปอีกด้วย
น.ส.สายทอง ภาคาวัลย์ อายุ 48 ปี และMr.Hermanus Henricus Nicc อายุ 51 ปี เจ้าบ่าวประเทศเนเธอแลนด์ กล่าวว่า ตนเองและภรรยาทราบข่าวทางยูทูปว่ามีการจัดงานวิวาห์ใต้สมุทร จึงได้ตัดสินใจมาร่วมพิธีวิวาห์ใต้สมุทร เนื่องจากเจ้าบ่าวชอบประเพณีการแต่งงานแบบไทยๆจึงชวนกันมาร่วมงานดังกล่าว รู้สึกมีความสุขมากและมีการต้อนรับที่แสนอบอุ่น และในงานยังมีให้คู่บ่าวสาวได้กินข้าวเหนียวแกงไก่ซึ่งเป็นประเพณีการแต่งงานแบบไทย ตนเองก็ไม่เคยได้ชิมมาก่อนจึงอยากจะมาลองชิมอีกด้วย
หลังจากนั้นคู่บ่าวสาวได้เดินทางไปท่องเที่ยวสถานที่สำคัญในจังหวัดตรัง แบ่งเป็น 3 อำเภอ ได้แก่ อ.นาโยง อ.ห้วยยอด อ.กันตัง เพื่อประชาสัมพันธ์สถานที่สำคัญของจังหวัดตรัง และบันทึกภาพคู่บ่าวสาวสร้างความประทับใจ
สำหรับที่ชุดแรกคู่บ่าวสาวแต่งชุดเจ้าบ่าวเจ้าสาวจำนวน 5 คู่ เดินทางไปเยี่ยมชม ที่สวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง น้ำตกกะช่องโตนน้อย ต.ช่อง อ.นาโยง ซึ่งที่แห่งนี้มีโบราณสถานที่สำคัญ คือ ตำหนักโปร่งฤทัย (พลับพลารัชกาลที่ 5) เดิมเรียกว่า “พลับพลาช่อง”สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาเมื่อประมาณ พ.ศ.2452-2458 ระหว่างรัชกาลที่ 5-6 เพื่อใช้เป็นที่พักระหว่างทางไปสู่น้ำตกและใช้เป็นพลับพลาที่ประทับเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 คราวเสด็จมาทอดพระเนตรน้ำตกช่อง ในคราวเสด็จมณฑลมลายูใน พ.ศ.2471 ปัจจุบันที่ตั้งของพลับพลาเป็นพื้นที่ของศูนย์เพาะกล้าไม้ช่อง ตำบลช่อง ถนนสายตรัง-พัทลุง ตัวสถาปัตยกรรมเป็นศาลาโครงสร้างไม้ ทรงแปดเหลี่ยมมุงด้วยกระเบื้องว่าว
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดของเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา ตอนพิเศษ เล่ม 113 ตอนพิเศษ 50 ง วันที่ 18 ธันวาคม 2539 เนื้อที่ศาลาแปดเหลี่ยมประมาณ 56 ตารางวา และพลับพลาประมาณ 2 งาน 72.25 ตารางวา
ซึ่งคู่บ่าวสาวต่างประทับใจกับบรรยากาศเงาร่มไม้และได้สัมผัสน้ำตกที่ใสและเย็นสดชื่นอีกด้วย ส่วนในช่วงบ่ายคู่บ่าวสาวจะเข้าร่วมขบวนแห่ไปตามถนนพระรามหก เริ่มจากหน้าโรงแรมธรรมรินทร์ ไปถึงหอนาฬิกา ในขบวนจะประกอบไปด้วย ขบวนกลองยาว ขบวนขันหมาก ขบวนคู่บ่าวสาว และขบวนแขกผู้มีเกียรติ พร้อมทั้งวงดุริยางค์จากสถานศึกษาบรรเลงตามจุดต่างๆจากนั้นคู่บ่าวสาวก็จะเข้าสู่พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร และร่วมงานเลี้ยงต้อนรับและประเพณีกินเหนียว ณ โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา