อุทาหรณ์จากอุบัติเหตุคนดัง รู้จัก ‘Hydroplane’ อาการเหินน้ำ เมื่อขับรถลุยฝน

หลังจากเกิดข่าว กรณีน้องอิน ณัฐนิชา อดีตดาราเด็กชื่อดัง ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต เนื่องจากขับรถยนต์หรูฝ่าฝนตกหนักเสียหลักพุ่งชนต้นไม้ย่านบางปะอิน ทำให้โลกออนไลน์เกิดความตื่นตัวเรื่องอุบัติเหตุทางรถยนต์ เพราะเป็นช่วงที่มีฝนตกอยู่บ่อยครั้ง และเกิดอุบัติเหตุขึ้นให้เห็นอย่างต่อเนื่อง หลังจากเกิดกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.ณัฐนิชา เชิดชูบุพการี หรือ น้องอิน วัย 20…

Home / NEWS / อุทาหรณ์จากอุบัติเหตุคนดัง รู้จัก ‘Hydroplane’ อาการเหินน้ำ เมื่อขับรถลุยฝน

หลังจากเกิดข่าว กรณีน้องอิน ณัฐนิชา อดีตดาราเด็กชื่อดัง ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต เนื่องจากขับรถยนต์หรูฝ่าฝนตกหนักเสียหลักพุ่งชนต้นไม้ย่านบางปะอิน ทำให้โลกออนไลน์เกิดความตื่นตัวเรื่องอุบัติเหตุทางรถยนต์ เพราะเป็นช่วงที่มีฝนตกอยู่บ่อยครั้ง และเกิดอุบัติเหตุขึ้นให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

หลังจากเกิดกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.ณัฐนิชา เชิดชูบุพการี หรือ น้องอิน วัย 20 ปี อดีตดาราเด็ก ประสบอุบัติเหตุขณะขับรถยนต์ BMW ทะเบียน 5 กบ 5248 กรุงเทพมหานคร เสียหลักพลิกคว่ำชนต้นไม้ท่ามกลางฝนตกบน ถ.กาญจนาภิเษก ตะวันตก ฝั่งขาออก จากแยกทางหลวง 347 ก่อนถึงสะพานข้ามทางรถไฟเชียงรากเล็กน้อย เมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 เมษายน 2561 ที่ผ่านมาโดยโลกออนไลน์ได้มีความตื่นตัวประเด็นเรื่อง ‘อาการเหินน้ำ’ หรือที่เรียกว่า ‘Hydroplaning’ ที่อาจเป็นสาเหตุของเหตุการณ์ไม่คาดฝันดังกล่าว

ขณะที่ ‘อาการเหินน้ำ’ เป็นอันตรายที่เกิดขึ้นได้ในขณะขับรถในช่วงหน้าฝน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยอาการเหินน้ำหรือ Hydroplaning คืออาการที่เกิดขึ้นในช่วงที่ถนนเปียก ซึ่งหากยางรถยนต์ไม่สามารถรีดน้ำออกจากยางได้ทัน ก็จะทำให้ยางรถยนต์ไม่ได้สัมผัสกับพื้นถนน และยางรถยนต์นั้นจะหมุนอยู่บนฟิล์มน้ำบนถนนแทน เป็นเหตุให้รถเสียการควบคุม และเกิดอาการลื่นไถลได้ง่าย

นอกจากนี้อาการเหินน้ำยังเกิดได้จากปัจจัยอื่น ๆ เช่น มีน้ำขังบนถนนมากเกินกว่าประสิทธิภาพของดอกยาง น้ำหนักของรถยนต์ ดอกยางของรถยนต์ ล้อรถยนต์ และลักษณะของพื้นผิวถนนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการเหินน้ำได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้อาการเหินน้ำนี้จะเกิดขึ้นเพียงแค่เสี้ยววินาทีและทำให้รถสูญเสียการควบคุม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสิ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเมื่อเกิดอาการเหินน้ำนั้น เป็นเพราะผู้ขับขี่จับพวงมาลัยไม่แน่นพอ รวมถึงเหยียบเบรกกะทันหัน ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้รถเกิดหมุนคว้างอย่างรวดเร็ว และอันตรายมาก เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น รถหมุนไปชนกับสิ่งกีดขวางริมถนนอย่างในกรณีของน้องอิน ณัฐนิชา ที่รถไปพุ่งชนเข้ากับต้นไม้ข้างทาง นอกจากนี้ยังมีกรณีที่แย่ที่สุดคือ ถูกรถที่วิ่งตามมาด้านหลังชนในขณะที่รถกำลังเสียการควบคุมได้

อิน ณัฐนิชา

ข้อสังเกตุง่าย ๆ เมื่อรถเกิดอาการเหินน้ำ ในระหว่างที่กำลังขับขี่อยู่นั้น ผู้ขับขี่จะรู้สึกว่าพวงมาลัยมีน้ำหนักเบากว่าปกติ RPMs หรือหน่วยวัดอัตราการหมุนของเครื่องยนต์อาจเพิ่มขึ้นชั่วขณะ แล้วจู่ ๆ รถก็อาจจะเปลี่ยนทิศทางไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามได้

อย่างไรก็ตามมีวิธีรับมือเมื่อรถที่เกิดอาการเหินน้ำ โดยการขับรถให้ช้าลงเมื่อเห็นถนนเปียก หรือขณะที่ฝนกำลังตก และพยายามขับรถตามรถคันข้างหน้า เพราะจะสามารถรู้ได้ทันทีว่ามีแอ่งน้ำที่จะทำให้เกิดอาการเหินน้ำหรือไม่ โดยต้องไม่ลืมที่จะเว้นระยะห่างจากคันหน้าไว้ระยะหนึ่ง เผื่อว่ารถคันหน้าเสียการควบคุมจะได้แก้ไขสถานการณ์ได้ทัน และพยายามขับรถอยู่ในเลนกลาง เพราะแอ่งน้ำขังส่วนใหญ่มักจะอยู่เลนนอก รวมถึงอย่าลืมตรวจตราสภาพรถอยู่เสมอว่ามีดอกยางในสภาพดีหรือไม่ นอกจากนี้เมื่อเกิดอาการเหินน้ำควรจับพวงมาลัยรถให้แน่น และเบรกเบา ๆ ก็จะช่วยได้เช่นกัน

อิน ณัฐนิชา

แม้จะมีวิธีการมากมายที่ช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อรถเกิดอาการเหินน้ำ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ คือผู้ขับขี่ควรมีสติให้มากเมื่อเกิดปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งหากผู้ขับขี่สามารถควบคุมสติของตนเองได้ก็จะสามารถช่วยลด หรือหลีกเลี่ยง อุบัติเหตุไม่ให้เกิดขึ้นได้มากเลยทีเดียว.