การบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว อีกหนึ่งกระบวนการสำคัญ คือการฟื้นฟูสมรรถภาพทุกด้าน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติดังเดิม และโรงพยาบาลศรีธัญญาก็ได้เน้นกระบวนการฟื้นฟูผู้ป่วยด้วยการฝึกวิชาชีพและประสบความสำเร็จอย่างมากในปัจจุบัน
“โรงพยาบาลศรีธัญญา” ชื่อนี้หลายคนคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เพราะที่นี่เป็นโรงพยาบาลจิตเวชขนาดใหญ่ มีเนื้อที่กว้างถึง 415 ไร่ รองรับการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชขนาด 750 เตียง เปิดให้บริการมาแล้ว 77 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2484
ปัจจุบันโรงพยาบาลศรีธัญญาให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชทุกประเภท พร้อมกันนี้ยังเป็นเลิศในด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย และ 1 ในกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จอย่างมากคือการฝึกวิชาชีพให้กับผู้ป่วย โดยจะคัดเลือกผู้ป่วยที่สมัครใจและผ่านเกณฑ์การฝึกทักษะการดำรงชีวิตประจำวัน / ทักษะทางสังคมในการสื่อสาร / และทักษะการเรียนรู้ต่างๆ มาฝึกวิชาชีพในร้านเพื่อน ที่ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลศรีธัญญา ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยเตรียมความพร้อมก่อนกลับไปใช้ชีวิติอย่างมีคุณค่าในสังคมได้อีกครั้ง
การฝึกวิชาชีพในร้านเพื่อน มีให้เลือกทำหลายแผนก เช่น แผนกร้านกาแฟสด แผนกเบเกอรี่ แผนกล้างรถ แผนกสิ่งประดิษฐ์ และแผนกขาย แล้วแต่ความถนัดของตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งเปิดรับทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก โดยทุกคนจะได้รับค่าจ้างในการทำงาน จากกองทุนจ้างงานผู้ป่วยจิตเวช มูลนิธิโรงพยาบาลศรีธัญญา จนปัจจุบันผู้ป่วยหลายคนเริ่มมีเงินเก็บ สามารถนำไปใช้จ่ายส่วนตัวได้อย่างภาคภูมิใจ
อย่างเช่นผู้ป่วยจิตเวชรายนี้ที่มีความสามารถในด้านงานศิลปะ เข้ามาทำงานที่ร้านเพื่อนเป็นเวลานานหลายปี มีเงินเก็บมากพอที่จะเช่าบ้านอยู่เอง และในอนาคตก็มีแนวคิดที่จะนำเงินเก็บบางส่วนไปลงทุน ซื้อบ้าน และเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน
เช่นผู้ป่วยจิตเวชรายนี้ที่สามารถคุมร้านกาแฟ รับออเดอร์ ชงเครื่องดื่ม และจัดการบัญชีเองได้ โดยมีเป้าหมายว่าเงินทุกบาทจะเก็บไว้เลี้ยงดูแม่และครอบครัว
ผู้ป่วยจิตเวชที่ได้มาฝึกวิชาชีพที่ร้านเพื่อน บางคนได้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข หลายคนได้กลับไปเป็นหัวหน้าครอบครัว และกำลังสำคัญของประเทศ เหมือนสโลแกนของร้านเพื่อนที่ว่า
“สร้างโอกาส สร้างพลัง สร้างความหวัง สร้างคน”
กีรติ ศรีน้อย ถ่ายภาพ
ลลิตวดี ตั้งสิริตระกูล MONO 29 รายงาน