ดีแทค ปตท. เถ้าแก่น้อย เอ็มเค แตกไลน์ ไทย-เดนมาร์ค

รวมกรณีธุรกิจ ‘แตกไลน์’ สุดเซอร์ไพรส์

กรณีศึกษาเรื่องการแตกไลน์ธุรกิจเพื่อความอยู่รอดที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยครั้งในบ้านเราคงหนีไม่พ้น อาร์เอส ที่เปลี่ยนตัวเองจากการทำธุรกิจเพลง-สื่อ ไปสู่ธุรกิจสุขภาพและความงาม ซึ่ง ณ วันนี้ เรายังจะได้เห็นการแตกไลน์แบบเซอร์ไพรส์ๆ ไปทำอะไรอย่างอื่นของเหล่าธุรกิจใหญ่ๆ ต่างๆ มากขึ้น อันเป็นผลพวงของยุคที่คลื่นความเปลี่ยนแปลงถาโถม และไม่อนุญาตให้ใครยืนอยู่เฉยๆ ในคอมฟอร์ทโซนของตัวเองได้อีกต่อไป ทีมข่าว…

Home / NEWS / รวมกรณีธุรกิจ ‘แตกไลน์’ สุดเซอร์ไพรส์

กรณีศึกษาเรื่องการแตกไลน์ธุรกิจเพื่อความอยู่รอดที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยครั้งในบ้านเราคงหนีไม่พ้น อาร์เอส ที่เปลี่ยนตัวเองจากการทำธุรกิจเพลง-สื่อ ไปสู่ธุรกิจสุขภาพและความงาม ซึ่ง ณ วันนี้ เรายังจะได้เห็นการแตกไลน์แบบเซอร์ไพรส์ๆ ไปทำอะไรอย่างอื่นของเหล่าธุรกิจใหญ่ๆ ต่างๆ มากขึ้น อันเป็นผลพวงของยุคที่คลื่นความเปลี่ยนแปลงถาโถม และไม่อนุญาตให้ใครยืนอยู่เฉยๆ ในคอมฟอร์ทโซนของตัวเองได้อีกต่อไป

ทีมข่าว MThai รวบรวมกรณีศึกษาซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาไว้ ณ ที่นี้

ดีแทค กับ จักรยานยนต์ไฟฟ้า

ดีแทคได้ซีอีโอคนใหม่ อเล็กซานดรา ไรซ์ เข้ามาแก้ปัญหาที่รุมเร้าหลายอย่างเมื่อกลางปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีการเปิดตัวธุรกิจใหม่ซึ่งความประหลาดใจให้กับทุกคน นั่นคือ แพลตฟอร์มยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle Connectivity Platform) ซึ่งถือเป็นการมุ่งสู่การ ‘เป็นมากกว่าผู้ให้บริการมือถือ’ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากโครงข่ายที่ลงทุนไปและกลับมาเติบโตในธุรกิจอีกครั้ง

โดยดีแทคจะร่วมมือกับบริษัทพันธมิตร อย่าง บริษัท เอ็มวิชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงาน EV Expo เป็นตัวกลางในการประสานกับผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เจ้าของตู้บุญเติม ทำหน้าที่จุดให้บริการชาร์จมอเตอร์ไซด์อีวี

ขณะที่ดีแทคในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม EV Connectivity จะเป็นผู้ที่เชื่อมโยงพาร์ทเนอร์ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน เช่น บริษัทประกันบริษัทเช่าซื้อ สถาบันการเงินและสินเชื่อ บริการเปลี่ยนถ่ายแบตเตอรี่หลายจุดทั่วกรุงเทพฯ บริการการรับชำระเงินผ่านระบบบิลลิ่งของดีแทคและพันธมิตร รวมถึงบริการซ่อมบำรุงหลังการขาย

โดยบริการทั้งหมดถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกันผ่านแอพพลิเคชั่นเดียว ในเบื้องต้นเตรียมทำตลาดเต็มรูปแบบในเดือนมิถุนายน 2562 นี้

เอ็มเค กับ โลจิสติกส์

เดิม เอ็มเค นั้น มีระบบโลจิสติกส์ในการจัดส่งวัตถุดิบให้สาขาและร้านอาหารในเครือซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศอยู่แล้ว ครั้นเมื่อมองเห็นถึงกระแสการเติบโตอย่างมากของอีคอมเมิร์ซ บวกกับศักยภาพและประสบการณ์ด้านโลจิสติกส์ที่เอ็มเคมี นี่จึงเป็นโอกาสทองในการขยายธุรกิจ

เอ็มเค จึงจับมือกับ บริษัท เซนโค กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทด้านโลจิสติกส์รายใหญ่อันดับสองของญี่ปุ่น จัดตังบริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท โดยถือหุ้นฝ่ายละ 50% เพื่อดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจรในไทย สำหรับกลุ่มลูกค้าภาคธุรกิจ (B2B) เช่น ร้านอาหารที่เป็นเชนรายใหญ่ รายเล็ก ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ ธุรกิจค้าปลีกอย่างร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ท ให้บริการตั้งแต่ คลังสินค้า, การขนส่ง, บริการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และการซื้อขายสินค้า โดยเฟสแรกเน้นการขนส่งแบบเย็นหรือ cold chain ก่อนที่จะขยายไปสู่ระบบขนส่งที่เป็น dry chain ในอนาคต

โดยเอ็มเคตั้งเป้าหมายสัดส่วนบริการลูกค้านอกเครือ 75% และในเครือ 25% ในอนาคต และคาดว่าจะเปิดบริการเต็มรูปแบบประมาณเดือนสิงหาคมปี 2562

เถ้าแก่น้อย กับ ร้านอาหารญี่ปุ่น

การที่เถ้าแก่น้อยต้องพึ่งพาสาหร่ายเพียงอย่างเดียวกลายเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ ในภาวะที่การแข่งขันสูง แต่ตลาดโตน้อย ดังนั้น ต๊อบ หรือ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ซีอีโอ เถ้าแก่น้อย จึงมองไปที่ธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งจะเป็นการแตกไลน์ธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว

ต๊อบบอกว่า การแข่งขันในตลาดสาหร่ายแปรรูปในไทยค่อนข้างสูง แต่เติบโตน้อย ไม่มากเหมือนในอดีต แม้ว่าเถ้าแก่น้อยจะเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งมากกว่า 70% ส่วนอันดับที่ 2, 3 รวมกันกว่า 20% จากมูลค่าตลาดรวมกว่า 3,000 ล้านบาท เติบโต 8-9% ขณะที่ตลาดรวมสแน็กมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท โตแค่ 5-6% เท่านั้น จึงต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับการแข่งขันในตลาดเดิม และมองหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ

โดยเบื้องต้นจะเป็นการซื้อลิขสิทธิ์มาจากประเทศญี่ปุ่น มีทั้งรูปแบบอาหารคาวและของหวานเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะเป็นการทดลองตลาด ถ้าผลตอบรับดีก็จะขยายต่อเนื่อง

ไทย-เดนมาร์ค กับ เครื่องสำอาง

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ได้จับมือกับ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมไปถึง บริษัท อาร์แอนด์ ดี รีเสิร์ช แอนด์ ดีวีลอปเม้นท์ จำกัด และศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเครื่องสำอางจากน้ำนมโคสดแท้ 100% (Beauty Milk) จากวัตถุดิบน้ำนมดิบฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค

การศึกษาวิจัยเบื้องต้นพบว่า น้ำนมโคสด 100% สามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ความงามต่างๆ ที่หลากหลาย ใช้ได้จริง และมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น สบู่จากน้ำนมโค, ครีมบำรุงผิวจากน้ำนมโค หรือครีมอาบน้ำจากน้ำนมโค ซึ่งเมื่อการวิจัยเสร็จสมบูรณ์ อ.ส.ค. ก็จะแตกไลน์ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบรนด์ไทย-เดนมาร์ค จำหน่ายในตลาดต่อไป โดยจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก และมีแผนบุกอาเซียน นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาดให้กับเกษตรกรด้วย นับว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

ปตท. กับ ธุรกิจยา

ปตท. นั้น มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจนอนออยล์อยู่แล้ว จึงเตรียมขยายการลงทุนในหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ ร้านอาหาร สถาบันการเงิน ฟิตเนส ไปจนโรงแรมราคาประหยัดตามปั๊มน้ำมัน

ส่วนธุรกิจยานั้น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีแนวนโยบายที่ต้องการให้คนไทยเข้าถึงยาที่มีคุณภาพและราคาถูก ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ จึงได้เข้ามาดึง ปตท. ร่วมเป็นพันธมิตรในการวิจัยผลิตยาต้านมะเร็ง ซึ่ง ปตท. เองมองเห็นโอกาสในการลงทุนธุรกิจใหม่ อีกทั้งมีศักยภาพในการลงทุนโรงงานขนาดใหญ่ โดยมองไว้ในพื้นที่อีอีซี ขณะที่องค์การเภสัชฯ ก็มีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยยา ซึ่งตลาดยาในประเทศไทยปี 2559 นั้นมีมูลค่ากว่า 1.44 แสนล้านบาท แต่ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ