แนะคาถาป้องกัน 3 อย่า!!! ก่อนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ 1.อย่าไว้ใจร้านค้า-บุคคลที่ชักชวนให้ลงทุน 2.อย่าวู่วามเห็นแก่ของถูก และ 3.อย่าละเลยติดตามข้อมูลข่าวสารกลโกงคนร้าย
วันที่ 14 ก.พ. ที่ บก.ปอท. (กองบังคับการปราบปรามเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.3 บก.ปอท. ในฐานะ โฆษก บก.ปอท.เปิดเผยว่า ปัจุบันประชาชนผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าผ่านโลกออนไลน์จำนวนมาก
ซึ่งมีความสะดวกสบาย ประกอบกับการโอนเงินชำระค่าสินค้าผ่านระบบอีแบ๊งค์กิ้งก็ง่าย ทำให้การซื้อขายผ่านระบบออนไลน์เป็นเรื่องง่ายดายและสะดวก ทำให้มิจฉาชีพอาศัยเป็นช่องทางหลอกลวงประขาชน
ตลอดปี 2561 ทาง กก.2 บก.ปอท. ได้มีการรับแจ้งความคดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยมีระบบเป็นเครื่องมือ จำนวน 973 ราย ซึ่งแบ่งเป็น
คดีหลอกขายสินค้าจำนวน 573 ราย มูลค่าความเสียหาย 373,366,858 บาท
คดีหลอกโอนเงินผ่านอีเมล์จำนวน 71 ราย มูลค่าความเสียหาย 360,875,846 บาท
หลอกโอนเงินผ่านโทรศัพท์จำนวน 85 ราย มูลค่าความเสียหาย 5,732,560 บาท
ข่มขู่-แบล็กเมล์จำนวน 94 ราย มูลค่าความเสียหาย 641,029 บาท
หลอกเกี่ยวกับความรัก(Romance Scam)จำนวน 90 ราย มูลค่าความเสียหาย 66,449,046 บาท
ปลอมเป็นบุคคลอื่นเพื่อหลอกโอนเงิน จำนวน 60 ราย มูลค่าความเสียหาย 6,411,306 บาท
และหลอกลงทุน อันนี้ก็มีคดีสูงขึ้นแต่ยังไม่มีสถิติตัวเลข ปี 62 น่าจะมาแรง
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ฯ ฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการถูกหลอกผ่านโลกออนไลน์ เป็นคาถาป้องกันการโกงออนไลน์ 3 อย่า!!! คือ
1.อย่าไว้ใจร้านค้า , บุคคลที่ชักชวนให้ลงทุน โดยขอให้ทำการตรวจสอบข้อมูล ชื่อบุคคล,ชื่อร้านค้านั้นๆ หรือหมายเลขโทรศัพท์ร้านค้าฯลฯ ก่อนจากเว็บไซต์ เสิร์ช เอ็นจิ้น เช่น กูเกิ้ล ว่ามีประวัติในเรื่องโกงการซื้อ-ขาย การส่งสินค้าบ้างหรือไม่ ดูฟี้ดแบล็คของคนที่เข้าไปคอมเม้นต์ว่ามีการรับผิดชอบสินค้ามากน้อยแค่ไหน มีประวัติการหลอกลวงหรือไม่
2.อย่าวู่วามเห็นแก่ของถูกหรือผลประโยชน์ที่ร้านค้าเสนอ รีบโอนเงินไม่ว่าจะเป็นชำระค่าสินค้า ค่ามัดจำสินค้า โดยให้ทำการตรวจสอบบัญชีธนาคารทั้งชื่อบัญชีหรือ เลขบัญชีที่จะให้โอนเงินว่ามีข้อมูลเคยหลอกลวงใครบ้างหรือไม่
3.อย่าละเลยข่าวสาร ติดตามข้อมูลข่าวสารที่มีการจับกุมคนร้ายในคดีต่างๆ ว่าใช้วิธีการหลอกลวงเหยื่ออย่างไร จะได้ไม่หลงกลตกเป็นเหยื่อถูกฉ้อโกงทางโซเชียลโดยง่าย