เปิดภาพอุปกรณ์ช่วยชีวิต วางเต็มภายในถ้ำหลวงฯ ก่อนที่อุทยานฯ จะประกาศปิดถ้ำ เพื่อทำการขนย้ายและบูรณะ ขอความร่วมมือประชาชนงดเข้าเที่ยวชม
วันนี้ (15 ก.พ. 2562) เพจ PR.Chiangrai ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย ได้มีการเผยแพร่ภาพล่าสุดภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน สถานที่ซึ่งนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอคาเดมีเข้าไปติดอยู่ภายใน จนมาถึงภารกิจกู้ชีพของคนทั้งโลก โดยภาพได้เผยให้เห็นว่าภายในถ้ำยังเต็มไปด้วยอุปกรณ์ช่วยเหลือ ทั้งออกซิเจน และสายไฟ ที่หน่วยซีลกู้ชีพนำเข้าไปช่วยเหลือและติดตั้งในภารกิจ
ก่อนที่เพจดังกล่าวจะมีข้อความแจ้งประกาศว่า วันที่ 19 ก.พ. ที่จะถึงนี้ จะเป็นวันแรกที่จะปิดถ้ำ เพื่อลำเลียงอุปกรณ์ดังกล่าวออกมา จากนั้นจะเร่งบูรณะให้ภายในถ้ำกลับมาอยู่ในสภาพเดิม ก่อนจะเปิดให้เข้าชมเป็นลำดับต่อไป
19 กุมภา 62 ถ้ำหลวงปิด งดเที่ยว ให้หน่วยชีลเข้าขนอุปกรณ์ ยังไม่มีกำหนดเปิด..‼️
✅วันนี้ (15 ก.พ.) คณะทำงานบูรณะปรับปรุงฟื้นฟู อุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ได้ปิดปากถ้ำหลวงสถานที่ที่เคยมีปฏิบัติการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีจำนวน 13 คนเมื่อกลางปี 2561 ที่ผ่านมาและปัจจุบันยังคงมีอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ คงค้างอยู่ภายในถ้ำเป็นจำนวนมากนั้น
✅ล่าสุดทางอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงฯ ได้มีประกาศอุทยานฯ มีเนื้อหาว่าจะมีการปิดการท่องเที่ยวถ้ำหลวงตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ.นี้เป็นต้นไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่นำโดยหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือหรือหน่วยชีล กองทัพเรือ ได้เข้าไปขนย้ายอุปกรณ์ทั้งหมดดังกล่าวออกมาจากถ้ำและทำการบันทึกข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในทางราชการในอนาคต
ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานจึงได้ทำการปิดไปจนกว่าภารกิจดังกล่าวจะแล้วเสร็จ ในส่วนของพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ โดยเฉพาะขุนน้ำนางนอนหรือสระมรกตที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร ยังคงเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเที่ยวชมได้ตามปกติต่อไป
✅ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ทางเจ้าหน้าที่นำโดยกรมอุทยานแห่งชาติ หน่วยชีล หน่วยกู้ภัย เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มิสเตอร์เวิร์น อันสเวิร์ธ นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ ได้เข้าไปสำรวจภายในถ้ำหลวงครั้งแรกนับตั้งแต่ปิดปฏิบัติการช่วยเหลือเมื่อกลางปี 2561 มาแล้วโดยเดินลึกเข้าไปตั้งแต่ปากถ้ำซึ่งเป็นโถงที่ 1 และไปยังโถงที่ 2 และ 3 ตามลำดับลึกประมาณ 2 กิโลเมตรกว่า
ซึ่งได้พบว่าภายในถ้ำมีอุปกรณ์ประกอบด้วยสายไฟฟ้า ท่ออากาศ วิทยุสื่อสาร ถังอ๊อกซิเจนคงค้างอยู่กว่า 300 ถังโดยมีมากที่โถงที่ 3 ซึ่งใช้เป็นศูนย์ปฏิบัติการขณะเกิดเหตุและโถงที่ 2 ซึ่งเป็นโถงใหญ่อีกแห่งหนึ่ง เปลสนามและสายเชือกที่ใช้สำหรับเชื่อมโยงเส้นทางถึงกันไปตลอดรายทาง เครื่องสูบน้ำ กระดาษฟรอยด์ อาหารพาวเวอร์เจล ขยะ ฯลฯ
✅อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเดินหน้าจากโถงที่ 3 ผ่านสามแยกไปทางเนินนมสาวระยะทางอีกประมาณ 700 เมตร เพื่อสำรวจอุปกรณ์ต่อไปได้เนื่องจากน้ำยังคงท่วมและมีทรายอุดตัน ทำให้เจ้าหน้าที่ได้ถอนตัวออกจากถ้ำแต่ได้เก็บภาพและข้อมูลอุปกรณ์ต่างๆ เอาไว้กระทั่งมีการประกาศปิดการท่องเที่ยวครั้งใหม่เพื่อจะเข้าไปเก็บกู้ออกมาดังกล่าว ทำให้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าการเข้าไปเก็บกู้ครั้งนี้เจ้าหน้าที่จะเดินหน้าผ่านสามแยกไปยังเนินนมสาวได้หรือไม่
✅ขณะที่ภายในนอกปากถ้ำเจ้าหน้าที่ได้มีการกั้นรั้วและติดป้ายเอาไว้ตั้งแต่ปิดปฏิบัติการช่วยเหลือแล้ว แต่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนได้ทำให้มีประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมากพากันไปเยือนโดยเดินจากปากทางเข้าไประยะทางประมาณ 800 เมตร ภายในยังมีศาลาอนุสรณ์สถานและอนุสาวรีย์นาวาตรีสมาน กุนัน หรือจ่าแซม ผู้เสียชีวิตในปฏิบัติการช่วยเหลือดังกล่าวสร้างโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิติพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงรายที่ระดมศิลปินชาวเชียงรายร่วมกันสร้าง
✅ซึ่งจากประกาศดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่จะมีการปิดตั้งแต่ปากทางเข้าเพื่อใช้ลานหน้าถ้ำเป็นสถานที่นำอุปกรณ์ต่างๆ ที่เก็บกู้ออกมาไปวางรวบรวมและแยกประเภทเพื่อจะดำเนินการส่งคืนหน่วยงานเดิมหรือเก็บไว้เป็นที่ระลึกภายในพิพิธภัณฑ์ในอนาคตต่อไป.