ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน วัฒนา-อริสมันต์ คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร
จากกรณีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ หมายเลขดำ อม.42/2561 ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจ หรือจูงใจ เพื่อให้บุคคลใดมอบให้ หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น
และอีก 1 สำนวนในคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร หมายเลขดำ อม.102/2561 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย กับพวก ในฐานความผิดเป็นผู้สนับสนุนนายวัฒนา ซึ่งศาลได้พิจารณาครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2561 โดยให้ทั้ง 2 คดีรวมเป็นคดีเดียวกันเนื่องจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเป็นชุดเดียวกัน
ล่าสุดวันนี้ 15 ก.พ. 2562 นายวัฒนา และนายอริสมันต์ ได้เดินทางมาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังศาลได้มีการนัดตรวจพยานหลักฐานคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร ครั้งที่ 2 ซึ่งศาลได้กำหนดวันสืบพยานมาทั้งหมด 14 นัด โดยเป็นของโจทก์ 10 นัดเริ่มในเดือน มิ.ย.นี้ และเป็นของจำเลย 4 นัดเริ่มในเดือน ก.ย. ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 27 ก.ย. 2562
นายวัฒนา กล่าวว่า สำหรับประเด็นสำคัญของเรื่องคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร คือ 1. ป.ป.ช.กล่าวว่าไม่มีเจ้าหน้าที่กระทำความผิดในคดีนี้ 2. ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติโครงการทุกคนทำถูกต้องและไม่มีใครขาดคุณสมบัติ 3. ผู้ประกอบการที่ได้โครงการทำถูกต้องตามระเบียบ 4. คณะกรรมการมี 10 คนแต่แจ้งข้อหาเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นที่ประหลาดใจมาก
และ 5. ผู้ประกอบการที่อ้างว่ามีการจ่ายสินบน 11 ราย แต่นำมาฟ้องแค่ 3 ราย อีก 8 รายไม่ฟ้อง ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าเพราะอะไร อีกทั้งการเคหะรวมถึงราชการไม่มีใครได้รับความเสียหายซึ่งทุกอย่างประสบความสำเร็จ สรุปทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน
ทั้งนี้ตนมองว่าเรื่องดังกล่าว ป.ป.ช.ส่งสำนานมาศาลด้วยความพิสดารที่สุด ปกติสำนวน ป.ป.ช.จะมีการแถลงและอยู่ในเว็บไซต์ ซึ่งทางป.ป.ช.อ้างว่าถ้าให้ทราบก่อนแล้วมีการดำเนินการขอความเป็นธรรมจะส่งสำนวนไม่ได้ ซึ่งแปลว่า ป.ป.ช.กลัวการขอความเป็นธรรม
เพราะฉะนั้นคดีดังกล่าวจึงมีความน่าสนใจที่ว่าทำไมถึงใช้เวลานานถึง 12 ปี และสำนวนที่ส่งมาศาลได้เป็นเพราะ ป.ป.ช.ที่ตั้งมาโดยคณะรัฐประหาร เพราะฉะนั้นสำหรับคดีนี้ตนจึงมีความจำเป็นที่ตนเองต้องแถลงด้วยวาจาเพื่อทำความเข้าใจ อีกทั้งอย่างน้อยเมื่อมีประชาชนมารับฟังการพิจารณาจะได้เห็นภาพร่วมกัน