จาก ‘ยิงเป้า’ สู่ ‘ฉีดยาพิษ’ ปลิดชีพนักโทษประหาร

 จาก “ยิงเป้า” สู่ “ฉีดยาพิษ” ประหารชีวิตนักโทษ เผยบทลงโทษนี้ไทยใช้ปลิดชีพนักโทษประหาร แค่ 325 ราย บทลงโทษ “ประหารชีวิต” ที่หลายคนมองว่าถูก “พักใช้” จากสารบบ กระบวนการยุติธรรมไทย…

Home / NEWS / จาก ‘ยิงเป้า’ สู่ ‘ฉีดยาพิษ’ ปลิดชีพนักโทษประหาร
 จาก “ยิงเป้า” สู่ “ฉีดยาพิษ” ประหารชีวิตนักโทษ เผยบทลงโทษนี้ไทยใช้ปลิดชีพนักโทษประหาร แค่ 325 ราย

บทลงโทษ “ประหารชีวิต” ที่หลายคนมองว่าถูก “พักใช้” จากสารบบ กระบวนการยุติธรรมไทย อย่างสิ้นเชิงในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา กลับมาเป็นประเด็นใหญ่สะเทือนสังคมไทยอีกครั้ง หลังวันจันทร์ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ประหารชีวิต นักโทษชาย ธีรศักดิ์ หลงจิ ผู้ต้องขังคดีฆ่าชิงทรัพย์ ปี 2555 ด้วยการฉีดยาพิษ

ย้อนไปในปี 2478 จนถึงปัจจุบัน มีการบังคับโทษประหารชีวิตมาแล้ว 325 ราย แบ่งเป็น “ยิงเป้า” 319 ราย โดยรายแรกที่ถูกเพชฌฆาตลั่นไกปลิดชีวิตคือ สิบเอก สวัสดิ์ มะหะหมัด ผู้ต้องหาคดี “กบฏนายสิบ” ในวันที่ 11 กันยายน 2478 จนมาถึงรายสุดท้ายที่ถูกยิงเป้าคือ นักโทษชายสุดใจ ชนะ ผู้ต้องขังคดียาเสพติด ถูกประหารเมื่อ 11 ธันวาคม 2546

กระทั่งมีการเปลี่ยนวิธีบังคับโทษประหารชีวิต จากยิงเป้า มาเป็น “ฉีดสารพิษ” ครั้งแรกเมื่อ 12 ธันวาคม 2546 กับนักโทษเด็ดขาดคดียาเสพติด 3 ราย และคดีความผิดต่อชีวิต 1 ราย จากนั้น 24 สิงหาคม 2552 ได้มีการฉีดยาพิษปลิดชีพนักโทษคดียาเสพติด 2 ราย หลังจากนั้น ก็ไม่มีนักโทษเด็ดขาดถูกประหารชีวิต ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา

เนื่องจากทางการไทยได้ร่วมลงนามเป็นภาคี ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยหากใน 10 ปี ไม่มีการลงโทษประหารชีวิต ไทยต้องตัดโทษ “ประหารชีวิต” ออกจากโทษทางอาญา จนกระทั่งมีการฉีดยาพิษประหารนักโทษรายล่าสุด

และจากโทษประหารครั้งล่าสุดนี้ ทำให้สังคมเสียงแตก มีทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน ขณะที่สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้ชี้แจงถึง 7 พฤติกรรมการฆ่า ที่ต้องรับโทษหนักด้วยการประหารชีวิต เช่น การฆ่าพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ทวดที่สืบสายโลหิตโดยตรง การฆ่าโดยทรมานหรือทารุณโหดร้าย และการฆ่าโดยไตร่ตรอง หรือจ้างวานฆ่า

ประหารชีวิต

ไม่ว่าจากนี้ จะมีการประหารชีวิตอีกหรือไม่ แต่กรณีล่าสุดนี้ ได้ก่อให้เกิดคำถามมากมาย โดยเฉพาะกับคดีสะเทือนขวัญก่อนหน้านี้ ที่ผู้ต้องหาหลุดรอดโทษประหารหลายครั้งหลายครา หรือข้อสังเกตในการ “รื้อ” โทษประหารกลับมา เพื่อ “รีเซ็ท” ข้อตกลงสากล จนถึงข้อถกเถียงการคงโทษประหารไว้เพื่อป้องปรามสังคม หรือมีไว้เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่คิดจะก่ออาชญากรรมร้ายแรง ได้ยั้งคิด