พยากรณ์อากาศ ฤดูร้อน สภาพอากาศ

โบกมือลาฤดูหนาว 21 ก.พ. นี้ ไทยเข้าสู่ฤดูร้อน คาดร้อนกว่าปีที่แล้ว

นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ฤดูร้อนของประเทศไทยในปีนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. 2562 และจะสิ้นสุดลงประมาณกลางเดือน พ.ค. 2562 ร้อนมากกว่าปกติ 1-2…

Home / NEWS / โบกมือลาฤดูหนาว 21 ก.พ. นี้ ไทยเข้าสู่ฤดูร้อน คาดร้อนกว่าปีที่แล้ว

นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ฤดูร้อนของประเทศไทยในปีนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. 2562 และจะสิ้นสุดลงประมาณกลางเดือน พ.ค. 2562 ร้อนมากกว่าปกติ 1-2 องศาเซลเซียส และร้อนกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งกรุงเทพฯ จะมีอากาศร้อน อุณหภูมิสูงที่สุดประมาณ 39 องศาเซลเซียส สูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงกลางเดือน มี.ค.- ปลายเดือนเม.ย. และจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในบางช่วง

ทั้งนี้ หลายพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีอากาศร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุดในตอนกลางวัน 40 องศาเซลเซียส ขึ้นไป ในบางช่วงของเดือน มี.ค. และ เม.ย. อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิสูงสุด ในปีนี้จะไม่ทำลายสถิติอากาศร้อนที่สุดของประเทศไทย ซึ่งวัดอุณหภูมิได้ 44.6 องศาเซลเซียส ที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2559 โดยคาดว่าจะร้อนที่สุด 7 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก นครสวรรค์ และกาญจนบุรี

โดยบางช่วงของฤดูร้อนจะมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน แผ่ลงมาปะทะกับอากาศร้อนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดพายุฤดูร้อนขึ้นได้ ทำให้มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมักเกิดลูกเห็บตกด้วย ซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือน ป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ฝนจะตกน้อย ปริมาณฝนอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการในหลายพื้นที่ ดังนั้น ประชาชนจึงควรใช้น้ำอย่างประหยัด ในช่วงฤดูร้อนอากาศจะเอื้ออำนวยต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่า ประชาชนจึงควรระมัดระวังการเผาไหม้และใช้เชื้อเพลิงในการทำกิจกรรมต่างๆ ไว้ด้วย

สำหรับ ภาคใต้ จะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในบางช่วง อุณหภูมิสูงสุด 38-39 องศาเซลเซียส บริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา กระบี่ ตรัง และสตูล มีฝนตกได้ในบางวัน คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร และตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย.2562 จะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของภาค อาจมีการก่อตัวของพายุไซโคลน