สมรภูมิเลือกตั้ง 62 เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แต่ละพรรคการเมืองต่างเร่งสร้างความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกคะแนนนิยมกันอย่างคึกคัก แน่นอนว่า นโยบายเศรษฐกิจคือจุดขายที่สำคัญ เพราะประชาชนคนไทยอยากรู้ว่าพรรคต่างๆ จะมาแก้ไขปัญหาปากท้องของพวกเขาอย่างไร
กางนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละพรรคดู ล้วนสวยหรู ‘ชวนฝัน’ ถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ทำได้จริงมากน้อยแค่ไหนหรือไม่นั้นคงต้องรอติดตามกันต่อไป แต่อย่างน้อยๆ ณ ตอนนี้ นโยบายเศรษฐกิจเหล่านี้ก็เป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึง ‘วิสัยทัศน์’ ของพรรคการเมืองได้เป็นอย่างดี
ทีมข่าว MThai รวบรวมมานำเสนอ
พรรคประชาธิปัตย์
‘ประกันรายได้รายได้คนไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’
นโยบายเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ มี 6 ข้อ โดยเป็นการต่อยอดจาก 10 นโยบายการศึกษา ซึ่งจะเน้นการยกระดับชีวิตคนไทยและเน้นตอบโจทย์ประชาชน ทั้งเรื่องปัญหาเศรษฐกิจช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
1.โครงการโฉนดสีฟ้า จัดทำเป็นโฉนดชุมชนจัดการตัวเอง ออก พ.ร.บ.โฉนดชุมชน เพื่อให้สิทธิในการจัดการชุมชนอย่างแท้จริง และยกระดับ สปก.ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนของรัฐ โดยการกู้ผ่านธนาคาร และตกทอดถึงลูกหลานได้ พร้อมเดินหน้าธนาคารที่ดิน เพิ่มที่ดินทำกินให้คนไทย เร่งออกโฉนดทันใจ สะสางโฉนดที่ดินที่ค้างท่อมานานที่มีเอกสิทธิ์ สค.1 และ นส.3 เพื่อออกสิทธิตามกฎหมายให้แล้วเสร็จ
2.จัดตั้งกองทุนน้ำชุมชน ให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปี มีเงินทำแหล่งน้ำทุกหมู่บ้าน โดยรับการจัดสรรงบจากผู้เชี่ยวชาญ แนะนำชาวบ้านจัดการแหล่งน้ำด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นที่ของรัฐ หากเป็นที่ของประชาชน แต่เหมาะสมที่จะทำสระน้ำ ก็สามารถเข้ามาร่วมโครงการ ซึ่งจะต้องปลดล็อกกฎระเบียบของราชการ และใช้ยางพาราในการทำสระน้ำ
3.ประกันรายได้เกษตรกร ให้ครอบคลุมพืชทุกชนิด สร้างความมั่นคงรายได้ให้เกษตรกรไทยทุกคนได้มีหลักประกันรายได้ขั้นต่ำการทำอาชีพเกษตรกรรม ข้าวไม่ต่ำกว่า เกวียนละ 10,000บาท ยางพารา ไม่ต่ำกว่า 60 บาท ต่อกิโลกรัม ปาล์ม 10 บาท ต่อกิโลกรัม รวมถึง ทำประกันภัยพืชผลคุ้มครองต้นทุนการผลิต
4.ประกันรายได้แรงงาน ไม่ต่ำกว่า 120,000 บาท ต่อปี แต่ถ้ามีรายได้ต่อเดือน เมื่อคำนวณแล้วไม่ถึงที่กำหนด รัฐบาลก็จะจ่ายเงินส่วนต่างให้
5.เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาท ต่อเดือน และจะไปปรับปรุงโครงการเกี่ยวกับการออมเพื่อการชราภาพ
6.เบี้ยสวัสดิการผู้ยากไร้ 800 บาท ต่อเดือน โอนตรงสมุดบัญชีผู้มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท ต่อปี ซึ่งทุกคนจะต้องเข้าระบบรายงานสถานะทางการเงินของตัวเองทุกปี
พรรคอนาคตใหม่
‘ทลายเศรษฐกิจผูกขาด’
พรรคอนาคตใหม่เสนอ 4 นโยบายที่จะทำลายทุนผูกขาดในประเทศไทย โดยกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยพันธมิตรกลุ่มทุนผูกขาด ข้าราชการชั้นสูง นายทหาร และพรรคการเมืองบางพรรค
1. หยุดการผูกขาดที่เกิดจากสัมปทานต่างๆ ของรัฐ
การประมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทีวี วิทยุ ดิวตี้ฟรี สัญญาสัมปทาน บริการสาธารณะ จะต้องโปร่งใส เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการรายใหม่ให้เข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาด ยกตัวอย่างสัมปทานดิวตี้ฟรีในสนามบิน ซึ่งกำลังจะหมดสัญญาลงในเดือนกันยายน 2563 สิ่งที่จะทำคือ เบรกสัญญาที่ให้บริษัทบริษัทเดียว เป็นหลายๆ บล็อก แล้วเปิดโอกาสให้บริษัทขนาดกลาง บริษัทขนาดเล็กเข้ามามีส่วนร่วมในการประมูลด้วย
2. แก้กฎหมายที่เอื้อให้เกิดการผูกขาด
กลุ่มทุนบางกลุ่มไม่ได้ผูกขาดด้วยสัญญาสัมปทาน แต่ผูกขาดความมั่งคั่งด้วยการดำรงอยู่ของกฎหมายบางฉบับที่เอื้อให้เกิดการผูกขาด ที่กีดกันการแข่งขันทางการค้า
ยกตัวอย่างในอุตสาหกรรมเหล้าและเบียร์ กฎหมายระบุไว้ว่า จะผลิตเบียร์ขายในที่สาธารณะได้ กำลังการผลิตขั้นต่ำอยู่ที่ 10 ล้านลิตร / ปี ซึ่งปิดโอกาสผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือเหล้าขาว กฎหมายพวกนี้มีเจตจำนงที่แน่วแน่ แต่แก้ได้ทันที ไม่มีอะไรยาก
3. การเข้าถึงแหล่งทุนต้องถูกปลดปล่อย
คนจำนวนมากในสังคมไทยเข้าไม่ถึงแหล่งทุนที่ดี ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการผูกขาดในการเข้าถึงแหล่งทุนมากที่สุดในโลก ผ่านการชี้วัดด้วยจำนวนธนาคาร ประเทศไทยเรามีจำนวน 10 กว่าธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในระบบ ทุกธนาคารมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด อนาคตใหม่จะเปิดใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารเพิ่มขึ้นโดยมีเงื่อนไขว่า ธนาคารใหม่นี้จะต้องมีสำนักงานใหญ่อยู่ต่างจังหวัด
การเอาธนาคารไปต่างจังหวัดจะสอดรับกับการกระจายอำนาจ ท้องถิ่นจะมีทุนของตัวเองในการพัฒนาท้องถิ่น ท้องถิ่นจะเกิดการจ้างงานธนาคาร ซึ่งเป็นงานที่มีคุณภาพ และเปิดโอกาสให้นักธุรกิจท้องถิ่นเข้าถึงแหล่งทุนได้
4. บังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าให้จริงจัง
ประเทศไทยมีกฎหมายที่เขียนขึ้นมาเพื่อป้องกันการฮั้วราคา เพื่อป้องกันการใช้มาตรการทางการตลาดต่างๆ กีดกันคู่แข่งรายใหม่ แต่ไม่เคยถูกบังคับใช้จริงจังสักครั้งเดียว ตั้งแต่เขียนกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา คำตอบของง่ายๆ ก็คือ กลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่เป็นทุนผูกขาดมีอำนาจเหนือข้าราชการและการเมือง การบังคับใช้กฎหมายนี้จึงไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งพรรคพร้อมจะบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้
นอกจากนี้พรรคอนาคตใหม่ยังมีนโยบาย ‘ไทยเท่าเทียม สวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร’
- เพิ่มสิทธิลาคลอดเป็น 180 วัน
- เพิ่มเงินเลี้ยงดูบุตร 0-6 ปี เป็น 1,200 บาท
- เมื่อเข้าสู่วัยเรียน เด็กๆจะต้องได้เรียนฟรีและมีคุณภาพ โดยมีเงินอุดหนุนเยาวชนอายุ 18-22 ปี จำนวน 2,000 บาท
- เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ จะต้องมีหลักประกันในอนาคต ภายใน 5 ปี
- โดยจะขยายและปรับปรุงระบบประกันสังคม เพื่อให้คนที่เกษียณอายุ หลังจากทำงานมาอย่างหนัก มีเงินบำนาญที่สามารถดำรงชีพให้สอดคล้องกับหลักความเป็นจริง
- เพิ่มเงินยังชีพคนชราเป็น 3 เท่า คือ 1,800 บาท/เดือน
รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจรทั้งหมดนี้ใช้งบประมาณ 650,000 ล้านบาท โดยเงินจะนำมาจาก 1.จากของเดิมที่มีอยู่ 2. ลดงบกลาโหม 30% 3. กองทุนสวัสดิการแห่งรัฐ 4. ลดสิทธิประโยชน์ BOI 5. ลดสิทธิการลดหย่อนภาษีบางส่วน 6. ลดงบประจำและงบกลาง 7. ขึ้นภาษีที่ดิน 8. เอาหวยขึ้นมาไว้บนดิน
พรรคพลังประชารัฐ
‘นโยบายสร้างชาติ เพิ่มพลังเศรษฐกิจ’
พลังประชารัฐมีแนวทาง ‘นโยบาย 7-7-7’ ต่อยอดนโยบายรัฐบาล ‘ประยุทธ์’ ประกอบด้วย 3 พันธกิจ ได้แก่ 7 สวัสดิการประชารัฐ, 7 สังคมประชารัฐ และ 7 เศรษฐกิจประชารัฐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมเข็มแข็ง ปรับโครงเศรษฐกิจ สร้างโอกาสที่เท่าเทียมและสร้างความสามารถให้แข่งขันกับโลก
7 สวัสดิการประชารัฐ
1.บัตรประชารัฐ ต่อยอดมาจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สร้างหลักประกันทางสังคมให้กับผู้มีรายได้น้อย 2.สวัสดิการรายกลุ่ม ตามความต้องการหรือความจำเป็นพื้นฐานที่แตกต่างกัน ได้แก่ กลุ่มผู้สูงวัย กลุ่มผู้พิการ กลุ่มสตรี กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มอาชีพรับจ้าง 3.สวัสดิการคนเมือง เพราะคนเมืองผู้มีรายได้น้อยต้องเผชิญกับการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเล่าเรียนบุตร 4.หมดหนี้มีเงินออม ช่วยทุเลาภาระหนี้ให้กับ 6 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ ผู้ใช้แรงงาน ชาวนา ข้าราชการ SMEs ครู และนักศึกษา 5.โครงการบ้านล้านหลัง ให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตัวเอง 6.บ้านสุขใจวัยเกษียณ เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย 7.สิทธิที่ดินทำกินให้เกษตรกร
7 สังคมประชารัฐ
1.การศึกษา 4.0 พัฒนาคน เตรียมความพร้อมให้ทุกคนมีโอกาส ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงคนทำงาน 2.กระจายศูนย์กลางความเจริญสู่ภูมิภาค เช่น EEC และต่อยอดไปยังภูมิภาคอื่นๆ โดยให้แต่ละภูมิภาคเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ CLMV 3.สร้างเมืองน่าอยู่ ใกล้บ้าน มีงานทำ 4.ชุมชนประชารัฐ ร่วมพัฒนาบ้านเกิด โดยจะมี ‘กองทุนพัฒนาชุมชนประชารัฐ’ มีแหล่งน้ำชุมชน โครงการป่าไม้มีค่า และสร้างวิสาหกิจชุมชน 5.เมืองอัจฉริยะสีเขียวโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคน 6.สังคมประชารัฐสีขาว ปลอดภัย ปลอดโรค ปลอดยา 7.Bangkok 5.0 ผุด 9 ย่านนวัตกรรม พัฒนาย่านการค้า คืนคลองสวยน้ำใสให้คนกรุง สร้างเครือข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ ผ่านเทคโนโลยี 5G
7 เศรษฐกิจประชารัฐ
1.ยกระดับความสามารถผู้ผลิต 5 ล้าน Smart SMEs 1 ล้าน, Smart Farmers 1 ล้าน, Startups 1 ล้าน, Makers และ 1 ล้านค้าปลีกชุมชน 2.ก้าวสู่เกษตรประชารัฐ 4.0 ปรับโครงสร้างภาคเกษตร ด้วยนโยบาย ‘3 เพิ่ม 3 ลด’ นั่นคือ เพิ่มรายได้ เพิ่มนวัตกรรม เพิ่มทางเลือก และ ลดภาระหนี้ ลดความเสี่ยง ลดต้นทุน 3.กระจายรายได้ กระจายโอกาส ด้วยการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ 4.ชูเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจแบ่งปัน 5.สร้างเศรษฐกิจชีวภาพ อุตสาหกรรมหมุนเวียน นวัตกรรมสีเขียว 6.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต เน้นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล โดยเฉพาะ 5G 7.ลดอุปสรรค เพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจ เน้นการปฎิรูประบบราชการ ทำให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง
พรรคภูมิใจไทย
‘ลดอำนาจรัฐ เพื่อปากท้องประชาชน’
พรรคภูมิใจไทยมาพร้อมสโลกแกน “ลดอำนาจรัฐ เพื่อปากท้องประชาชน: แก้กฎหมาย ทลายทุกข้อจำกัด ที่ขัดขวางการสร้างรายได้ของประชาชน ” และชูนโยบายในเชิงเศรษฐกิจแยกย่อยออกไปหลายอย่างที่ถือว่าหวือหวาพอสมควร อาทิ
กัญชาเสรี: แก้พรบ.ยาเสพติด พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สร้างความร่ำรวยให้คนไทย
กัญชาเป็นพืชสมนไพร เป็นการแพทย์ทางเลือก โดยพรรคภูมิใจไทย นำเสนอรูปแบบการปลูกกัญชา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยให้ผู้ที่จะปลูกกัญชา ต้องมีการลงทะเบียน และอนุญาตให้ปลูกได้ โดยต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมต่อต้น เชื่อว่ากัญชา จะสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร เนื่องจากในต่างประเทศมีการซื้อขายกันสูงถึงกิโลกรัมละ 70,000 โดยที่มีการคาดการณ์ มูลค่าการตลาดของพืชกัญชา ในอนาคต สูงถึง 4.6 ล้านล้านบาท
บุรีรัมย์โมเดล
นำความคิดสร้างสรรค์ หาจุดเด่นในการพัฒนาเมือง อย่างเช่นจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อทำให้เป็นเมืองกีฬาและการท่องเที่ยวที่โด่งดัง เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับประชาชน และเป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องพี่น้องประชาชน ซึ่งพรรคมีบุคลากร ที่เคยทำงานจนทุกคนเห็นแล้วว่าเกิดความประสบความสำเร็จมาแล้ว และจะนำแนวคิดการพัฒนาเมืองแบบนี้ไปเผยแพร่ในจังหวัด อื่นๆ ทั่วประเทศ
ทวงคืนกำไรให้ชาวนา
เสนอกฎหมายตั้งกองทุนข้าว ระบบกำไรแบ่งปัน เพิ่มรายได้ให้ชาวนา ยุติความไม่เป็นธรรม ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยนำตัวอย่างจาก อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล มาเป็นต้นแบบ ตั้ง “กองทุนข้าว”ขึ้นมา ทำหน้าที่บริหาร กำหนดโควตาการส่งออก จัดทำประกันภัยความเสี่ยง และบริหารแบ่งปันกำไร โดยกรรมการ3ฝ่าย คือ ชาวนา โรงสี พ่อค้า และฝ่ายราชการ ตกลงราคารับซื้อเบื้องต้น ก่อนฤดูกาลเพาะปลูก จากนั้นจะมีการคำนวณต้นทุน และ กำไร ของการผลิตทั้งระบบ แล้วนำผลกำไรมาแบ่งปันอย่างเป็นธรรมซึ่งการผลิตข้าวในระบบมี ชาวนา โรงสี ผู้ค้าข้าว ทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นชาวนาจะได้รายได้เพิ่มขึ้นจากระบบ “กำไรแบ่งปัน”เพิ่มขึ้นมา ทวงคืนกำไรให้ชาวนา หมดยุค “ชาวนาจน พ่อค้าข้าวรวย” ด้วยกำไรแบ่งปัน โดยที่พรรคภูมิใจไทย จะนำระบบนี้ไปใช้กับพืชชนิดอื่นๆ ด้วย ยาง มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มทะลาย
ทวงคืนกำไรให้ชาวสวนปาล์ม
เปลี่ยนสวนปาล์มเป็นบ่อน้ำมัน สร้างโรงไฟฟ้าน้ำมันปาล์ม ปาล์มทะลาย ก.ก.ละ 5 บาท โดยการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการนำพืชที่สามารถผลิตเป็นพลังงานน้ำมันนำมาใช้ในประเทศ เพื่อเพิ่มตลาดและเพิ่มมูลค่าให้กับพืชเศรษฐกิจเหล่านั้น ลดปัญหาการเงินตราไหลออกไปยังต่างประเทศ ลดปัญหามลภาวะ อาทิ ปาล์มน้ำมัน สามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดปัญหาการเงินตราไหลออกไปยังต่างประเทศ ลดปัญหามลภาวะ สร้างงาน สร้างอาชีพ ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
พัฒนาเขตเศรษฐกิจ จังหวัดชายแดนใต้
เปลี่ยนเสียงระเบิด เป็นเสียงเครื่องจักร เปลี่ยนงบลับ เป็นงบลงทุน สร้างงาน สร้างรายได้ โดยนำพรบ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไปใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้หลักคิดว่า เมื่อแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้วจะช่วยบรรเทาปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ลงไป
ทำงานที่ออฟฟิศ สัปดาห์ละ 4 วัน
ส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชน จัดให้ข้าราชการหรือพนักงานบริษัทเอกชนในตำแหน่งที่เหมาะสม ทำงานที่บ้านสัปดาห์ละ 1 วัน โดยมีมาตรการจูงใจทางด้านภาษี สำหรับภาคเอกชน ในการลดปริมาณการจราจรบนท้องถนนของกทม.และปริมณฑล อย่างน้อย ๆ สัปดาห์ละ 1 วัน สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป
พรรคชาติพัฒนา
‘รวมพลังชาติพัฒนา ไทยไร้ปัญหา’
นโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคชาติพัฒนาแบ่งเป็นสองส่วน เศรษฐกิจภาพรวมทั้งประเทศและเศรษฐกิจรากหญ้า โดยชูนโยบายเศรษฐกิจรากหญ้า ดังนี้
จัดตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อเกษตรกร
เพื่อช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นสวัสดิการในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่พืชผลมีราคาต่ำ โดยการช่วยเหลือจะคำนึงถึงประมาณการผลผลิตและราคาพืชผลตามราคาตลาดเพื่อเป็นทุนแก่เกษตรกรก่อนเริ่มฤดูการผลิตโดยมีกองทุนเริ่มต้นในการดำเนินงาน 20,000 ล้านบาท
เกษตรกรทันสมัย (Smart Farmer)
พัฒนาเกษตรกรไทยให้เป็นเกษตรกรที่ทันสมัย สามารถใช้เทคโนโลยีช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต สามารถเข้าถึงความรู้และข้อมูลการเกษตร รวมถึงการใช้นวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนสินค้าเกษตรให้กลายเป็นสินค้านวัตกรรมได้
จัดตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อการพัฒนาสมาร์ท เอสเอ็มอี (Smart SMEs)
จัดตั้งกองทุนกู้ยืมในวงเงินงบประมาณ 10,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งรวมถึงวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการกู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย เพื่อเป็นทุนพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เก่งและเชี่ยวชาญ
สร้างตลาดทุนขนาดย่อม (Low Cap) สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs)
เพื่อรองรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก และสร้างความสร้างความแข็งแรงมั่นคงให้กับผู้ประกอบกิจการเพื่อยกระดับสู่การเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ต่อไป ด้วยการสร้างกลไกและพัฒนา ตลาดทุนขนาดย่อม เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กสามารถยกระดับตัวเอง เข้าสู่แหล่งเงินทุน และสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจได้ รวมทั้งปรับลดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติการยื่นคำขอนำหุ้นสามัญเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และสร้างความโปร่งใส ด้วยการใช้เทคโนโลยี เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสกัดกั้นและตรวจสอบการกระทำความผิด
ปรับปรุงกลไกตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้า
ยกระดับสินค้าที่มีความผันผวนในด้านราคา เช่น ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ให้มีประสิทธิภาพ ลดการแทรกแซงและสร้างเสถียรภาพของราคาสินค้า ประกันความเสี่ยงด้านราคาในกระบวนการซื้อขาย และพัฒนากลไกด้านการตลาดที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้ไทยเป็นตลาดซื้อขายผลิตผลการเกษตรล่วงหน้าของอาเซียน
สร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
จัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวประจำตำบล (One Tambon – One Tourist Attraction Fund หรือ OOF) เพื่อเป็นทุนสนับสนุนให้แก่ทุกตำบล ตำบลละ 2 ล้านบาท เพื่อปลุกเศรษฐกิจรากหญ้าให้ฟื้นคืนภายใต้นโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างรายได้ เผยแพร่วัฒนธรรมและประเพณีไปทั่วโลก
พรรคเพื่อไทย
‘แก้วิกฤตเศรษฐกิจไทย เพื่อรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลก’
พรรคเพื่อไทยเสนอ 10 มาตรการ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เร่งสร้างรายได้ พร้อมรับมือวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะมาถึง
1. ปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมรับมือวิกฤติ ปรับโครงสร้างหนี้ให้กับประชาชนคนเล็กคนน้อย และธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็ก เพื่อให้คนไทยลุกขึ้นยืนได้ ตั้งตัวได้ พร้อมรับมือวิกฤติ
2. เติมเงินทุน ด้วยสถาบันพัฒนารายได้ ขยายการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนด้วยสถาบันพัฒนารายได้ทุกจังหวัด วันนี้ คนรวยกู้เงินพันล้านไม่ยาก แต่คนจนจะกู้หนึ่งแสนกลับไม่มีที่ไป พรรคเพื่อไทยจะทำให้ประชาชน และธุรกิจของคนตัวเล็กไม่ว่าจะเป็น SME โอท็อป หรือร้านแผงลอย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเข้าถึงโอกาสในการทำมาหากินได้อีกครั้ง
3. เพิ่มที่ขาย นำสินค้าไทยบุกตลาดโลก สินค้าไทยต้องมีที่ขาย คนไทยต้องมีที่ขาย เราจะนำสินค้าไทยไปบุกตลาดโลก ให้ทั้งโลกเป็นตลาดของสินค้าไทยให้สำเร็จ สร้างลูกค้าใหม่ ด้วยมืออาชีพด้านเศรษฐกิจและด้านการต่างประเทศ
4. กิโยตินกฎหมาย ขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการทำมาหากินของประชาชน ขจัดอุปสรรคที่ขวางกั้นโอกาสในการทำมาหากินของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย กฎระเบียบ กระบวนการขอใบอนุญาตต่างๆ ที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน และล้าหลัง พรรคเพื่อไทยจะนำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนราชการ เพิ่มความโปร่งใส ให้ประชาชนเป็นเจ้าของธุรกิจได้โดยง่าย ลดต้นทุนแฝง ค้าขายคล่องตัว
5. ลดภาษีอย่างชาญฉลาด เพิ่มรายได้รัฐบาลโดยไม่ขูดรีดประชาชน วันนี้ รัฐบาลต้องหารายได้เป็น ไม่ใช่ขึ้นภาษีอย่างเดียว เราจะลดภาษีอย่างชาญฉลาดโดยไม่ทำให้รายได้ของประเทศหายไป เราจะขยายฐานภาษีโดยไม่เบียดเบียนคนตัวเล็กที่กำลังยากลำบาก เพื่อทำให้คนตัวเล็กแข็งแรงให้ได้
6. กองทุนปรับเปลี่ยนหน้าดิน ปรับโครงสร้างรายได้เกษตรกร พักชำระหนี้เพื่อให้เกษตรกรตั้งตัวได้ ประเทศไทยจะต้องเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารปลอดภัยป้อนคนทั้งโลก ต่อไปเกษตรกรไทยจะขายสินค้าอาหารปลอดภัยราคาสูง ด้วยเงินทุนจากกองทุนปรับเปลี่ยนหน้าดิน พอกันที กับชีวิตเกษตรกรที่ไม่เคยกำหนดราคาสินค้าได้เอง
7. เพิ่มนักท่องเที่ยวให้ถึง 50 ล้านคนต่อปี ฟื้นฟูความเชื่อมั่น เพิ่มความปลอดภัย ดึงนักท่องกำลังซื้อสูง สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ สร้างประสบการณ์ใหม่ ยกระดับฟู้ดสตรีทเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ยกเลิกวีซ่าระหว่างไทย-จีน เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติให้ถึง 3 ล้านล้านบาทต่อปี แล้วกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่ทุกจังหวัด
8. ศูนย์สร้างเถ้าแก่ใหม่ กองทุนคนเปลี่ยนงาน ศูนย์สร้างเถ้าแก่ใหม่ ให้คนรุ่นใหม่ และพนักงานบริษัท สามารถมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ลดงบกลาโหม 10% ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เพื่อนำเงิน 2 หมื่นล้านบาท และเด็กรุ่นใหม่ของชาติมาสร้างธุรกิจ พร้อมตั้งกองทุนคนเปลี่ยนงาน พัฒนาทักษะใหม่ สร้างงาน สร้างธุรกิจให้พนักงานบริษัทที่ถูกเลิกจ้างจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
9. สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับธุรกิจของคนไทย จากปัจจุบันที่ให้สิทธิพิเศษทางภาษีเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC พรรคเพื่อไทยต้องการให้ธุรกิจของคนไทย ธุรกิจของคนตัวเล็กทั่วประเทศได้มีโอกาสได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีเช่นเดียวกันด้วยบัตรทอง StartUp
10. สามสิบบาทยุคใหม่ สร้างสุขภาพดีถ้วนหน้า ยาดี รักษาดี ไม่ต้องรอคิว คนไทยต้องแข็งแรงก่อนแก่ ต้องได้ตรวจสุขภาพก่อนป่วย ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับคนไทยทุกคน